27 พ.ค. 2019 เวลา 07:35 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรำลึก 28 ปี แห่งการสูญเสีย Lauda Air
Lauda Air Flight 004 ความสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศไทย..ณ จังหวัดสุพรรณบุรี
หากนึกย้อนถึงเหตุการณ์นี้ คงน้อยคนที่จะไม่รู้จัก โดยเฉพาะคนไทย ทั้งยังเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงของโลก เพราะเป็นเคสแรกที่มีสาเหตุการณ์ตกเช่นนี้ จนต้องเป็นที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล..
จวบจนวันนี้ซึ่งเป็นวันครบรอบการจากไปของทุกคนบนเที่ยวบินทั้ง 223 ท่าน
กาลเวลาผ่านไปจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ นิกิ เลาด้าร์ ผู้เป็นเจ้าของสายการบิน เลาด้า แอร์ และแชมป์โลก ตำนานนักแข่งรถชื่อดัง ก็ได้เสียชีวิตลงอย่าสงบในวัย 70 ปี
เลาด้า แอร์ จึงได้ปิดตำนานลง หลงเหลือไว้แต่เพียงสุสานแห่งความทรงจำ ให้หวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ไม่อาจจะย้อนคืน และทำได้แค่เพียงเรียนรู้และป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย..
ขณะที่กำลังค้นคว้าและอ่านข้อมูลเพื่อมาสรุป ก็รู้สึกถึงความเศร้า และความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้เลย กับชีวิตของคน ที่ต้องสูญไปจนสิ้น ไม่มีแม้แต่จะมีผู้รอดชีวิตสักคนเดียว..
1
ด้วยความที่เคสนี้ มีสาเหตุหลักของอุบัติเหตุที่มาจากเครื่องยนต์ที่มีความซับซ้อน แต่แอร์ป้าจะขออธิบาย แบบให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายที่สุด โดยที่ต้องมารู้จักกับศัพท์บางตัวก่อน ดังนี้..
●Engine =เครื่องยนต์ของเครื่องบิน
ตำแหน่งของเครื่องยนต์จะอยู่บริเวณใต้ปีกของเครื่องบิน และสำหรับเครื่องบินลำนี้ มีเครื่องยนต์ทั้งหมด 2 ตัว โดยแบ่งออกเป็นข้างละตัว จะอยู่บริเวณใต้ปีกข้างซ้าย 1 ตัว และใต้ปีกขวาข้างขวา 1ตัว
การเรียก ซ้ายและขวา ของเครื่องบินนั้น เราจะนับจากทิศทางที่มองไปทางหัวเครื่องบิน กล่าวคือ หากท่านนั่งอยู่ในเครื่องบิน มองตรงไปด้านหน้าหรือหัวของเครื่องบิน ซ้ายมือของท่านคือ ปีกซ้าย และขวามือของท่าน ก็คือ ปีกขวา โดยที่สำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ ซ้าย =1 และขวา =2
ภาพตำแหน่งเครื่องยนต์ที่1 ตัวซ้าย ที่เกิดปัญหา
ดังนั้นหากกล่าวถึง เครื่องยนต์ ตัวที่1 นั่นหมายถึง เครื่องยนต์ที่อยู่ด้านซ้ายมือ นั่นเอง
การทำงานของ Engine
จะผลิตไอพ่นออกไปทางด้านหลัง เพื่อให้เกิดแรงดันเคลื่อนตัวไปด้านหน้า ดังนั้นเครื่องบินจึงบินไปข้างหน้าได้
หากนึกไม่ออกลองนึกภาพ จรวดที่พุ่งทยานขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยที่มีควันพวยพุ่งออกจากด้านหลัง คือหลักการเดียวกันที่ แรงดันจะเป็นสิ่งที่ทำให้เครื่องบินเคลื่อนที่ได้
●Thrust reverser= เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ ช่วยในการชะลอความเร็ว
มีหน้าที่ในการช่วยลดความเร็วของเครื่องบิน เมื่อล้อหลักแตะพื้นดินเพื่อต้องการลงจอด(Touch down) นักบินจะเป็นผู้ดึงอุปกรณ์ตัวนี้ออกมาด้วยตัวเอง และอุปกรณ์ตัวนี้จะใช้เฉพาะขณะอยู่บนพื้นดินเท่านั้น
ภาพการทำงาน เวลาที่กาง Thrust reverser ออกมา(ภาพตัวอย่างจากเครื่องบินรุ่นอื่น)
ดังนั้นแปลว่า หากสิ่งนี้ได้กางในอากาศ หรือขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่ หายนะจะต้องเกิด เพราะเมื่อความเร็วไม่สัมพันธ์กันอีกต่อไป ความเร็วได้ลดลง Lift หรือแรงยกที่ทำให้เครื่องลอยก็จะหายไปด้วย....แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เดี๋ยวมาดูกัน
การทำงานของ Thrust reverser
จะทำงานโดยจะแบ่งไอพ่นของเครื่องยนต์ส่วนหนึ่ง ไปทางด้านหน้า เพื่อลดการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า (จากที่ปกติไอพ่นของเครื่องยนต์จะออกไปทางด้านหลังเพียงอย่างเดียว)
ภาพจากเครื่องบิน A321 ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางของไอพ่นชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อสัมผัสกับน้ำ จนกลายเป็นละอองน้ำ
ย้อนเวลากลับไป เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 1991(พ.ศ.2534) สายการบิน เลาด้าแอร์ ไฟล์ท 004 ด้วยเครื่องบินแบบ โบอิ้ง 767-300ER ได้ทำการเดินทางมาจาก ฮ่องกง และลงจอดเพื่อรับผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมือง เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางที่ กรุงเวียนนา ประเทศ ออสเตรีย พร้อมด้วยผู้โดยสารทั้งหมด 213 คน และ ลูกเรือ 10 คน
กัปตันชาวอเมริกา Thomas J. Welch (อายุ 48 ปี ในขณะนั้น) นักบินที่2 ชาวออสเตรียน Josef Thurner (อายุ 41 ปี ในขณะนั้น)
เครื่องได้บินมาจากฮ่องกงก่อนแล้ว ซึ่งทุกอย่างปกติดี ผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องจากเมืองไทย ก็เป็นไปอย่างราบรื่น
ผู้โดยสารส่วนมากในเที่ยวบินนี้ กำลังออกเดินทางอย่างมีความสุข เพื่อไปชมการแสดงโอเปร่า ที่กรุงเวียนนา จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ จะมีคนมีชื่อเสียงในสังคม และคนมีฐานะ ร่วมเดินทางอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย..
1
สภาพอากาศดี ไม่มีสิ่งใดๆรบกวน แม้แต่เครื่องบินที่ถือว่าอยู่ในสภาพดี ก็ไม่ได้รับการรายงานว่ามีความผิดปกติใดๆ
จนกระทั่ง....
เวลา 23:08 หลังจากเครื่องบินขึ้นได้ไม่นาน ความผิดปกติได้เกิดขึ้น ไฟแจ้งเตือนติดขึ้นมา บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ Thrust reverser ของเครื่องยนต์ตัวที่ 1 จะกางในอากาศได้ (คือบริเวณด้านซ้ายของเครื่องบิน)
นักบินได้ปรึกษากัน และพยายามเปิดคู่มือโดยที่ไม่รู้สึกติดขัดอะไรมากนัก เนื่องจาก ไฟที่ติดขึ้น เป็นแค่สัญญาณแจ้งเตือนเท่านั้น....พวกเค้าจึงปล่อยมันไป โดยที่ตัดสินใจไม่ทำอะไรกับมันเลย
ผ่านไปเกือบ 10 นาที ที่เวลา 23:17
ในขณะที่เครื่องบิน ได้บินอยู่เหนือ ภูเขา บริเวณเขตรอยต่อ สุพรรณบุรี และอุทัยธานี เสียงสุดท้ายของนักบินที่จับได้จากกล่องดำภายหลัง คือทุกอย่างได้สายเกินแก้ไปเสียแล้ว..
นักบินได้ร้องออกมาด้วยความตกใจและสิ้นหวัง
"Oh, reverser deployed"!! ซึ่งหมายถึง ตอนนี้ Thurust reverser ได้กางออกมาในเวลาที่ไม่ควรจะเป็น..
แปลว่าอะไร...?
แปลว่าตอนนี้หลังจากที่ Thrust reverser ของเครื่องยนต์ 1 ได้กางออกมากลางอากาศ จึงทำให้เกิด Thrust หรือแรงผลักที่ไม่เท่ากัน..Lift หรือแรงยกที่เกิดขึ้นใต้ปีกก็ไม่เท่ากันตามไปด้วย
ยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ หากคุณเคยเล่นกีฬาสี วิ่ง 3 ขา ลองแทนตัวเองเป็น เครื่องยนต์ด้านซ้าย และเพื่อนที่ขาผูกติดกับเรา เป็นเครื่องยนต์ด้านขวา
ตอนนี้เราทั้งคู่ วิ่งมาด้วยความเร็วเท่ากัน สามัคคีกันดี จู่ๆ เราก็ขาแพลง ตะคริวกิน ทำให้วิ่งได้ช้าลง ความเร็วจึงไม่เท่ากับเพื่อนแล้วตอนนี้
คงนึกภาพตามได้ไม่ยาก ในขณะที่เพื่อนยังคงรักษาความเร็วเท่าเดิม เพราะกลัวจะแพ้เข้าเส้นชัยไม่ทัน ก็ต้องลากเราไปด้วย แต่สุดท้ายเราก็ล้มลง และดึงเพื่อนจนเสียการทรงตัวล้มขมำลงมาด้วยกัน...
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตอนนี้เครื่องบินได้เอียงซ้าย และด่ำดิ่งลงพื้น ด้วยความเร็ว Mach.99 คือ .99 ความเร็วเสียง
นั่นคือ ความเร็วขนาดนี้ อาจจะเร็วกว่าความเร็วของเสียงเสียอีก....
เครื่องบินลำนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อบินด้วยความเร็วเช่นนั้น จึงทำให้เครื่องบินได้แตกกระจายเป็นเสี่ยงๆกลางอากาศ ที่ความสูง 4,000 ฟุต หรือ 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล..
เศษชิ้นส่วนของเครื่องบิน ได้กระจายไปไกล และที่ประมาณ 2,000 ฟุต หรือ 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
นั่นคือ...อุทยานแห่งชาติพุเตย, ห้วยขมิ้น, อำเภอด่านช้างจังหวัด สุพรรณบุรี
นิกิ เลาด้าร์ กับซากเครื่องบินของเขา
ด้วยเวลาแค่ไม่กี่นาที เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ขึ้นภายในชั่วพริบตา..ศพ ถูกพบกระจัดกระจายไปทั่วทั้งภูเขา แม้แต่กัปตันเอง ยังถูกพบในสภาพติดอยู่กับที่นั่ง..
เจ้าของสายการบิน นิกิ เลาด้าร์ นักแขางรถ F1 ชื่อดังของโลก
จำนวนผู้เสียชีวิต
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ จึงเป็นทั้งครูและบทเรียนครั้งสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่เกิดจาก Thrust reverser deployed in flight หรือการที่ Thrust reverser กางเองกลางอากาศ
สุสาน เลาด้า แอร์ ที่ยังคงอยู่จวบจนปัจจุบัน
ภาพความสูญเสีย จากหนึ่งในขั้นตอนการชันสูตรศพ
สิ่งนี้จึงทำให้นักบินทุกคนต้องมีการฝึกใน Simulator ทุกครั้ง เพื่อรับมือให้ได้กับสถาณการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้..
เพราะคำว่าอุบัติเหตุ คือสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทเรียนเตือนใจให้เครื่องบินมีความก้าวหน้าและพัฒนาจากข้อบกพร่องที่ผ่านมา..
เขียนและเรียบเรียงโดย แอร์ป้าห้าดาว
ขอไว้อาลัยแก่ผู้ประสบภัยภัยอีกครั้ง
Have a safe flight ✈
#แอร์ป้าห้าดาว
หากชื่นชอบและบทความนี้เป็นประโยชน์ กด Like และ share และกดติดตาม เพื่อไม่ให้พลาด บทความที่สาระไม่มาก แต่มีทั้งรอบตัวไปยันรอบโลก😁
Fly with me to see the world ด้วยกันนะคะ 😊✈
Reference & Credit

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา