31 พ.ค. 2019 เวลา 09:56 • บันเทิง
ความเชื่อของคน-ความซวยของสัตว์
สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ชิดกับคนเรามากแค่ไหน หลายครั้งพฤติกรรมหรือรูปลักษณ์ส่งผลให้พวกมันมีความหมายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ และศาสนา ซึ่งหลายครั้งอีกเช่นกันที่ความเชื่อเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลกับมนุษย์ แต่ไปกระทบถึงชีวิตของพวกมันด้วย
แมวดำ
ในนิทานพื้นบ้านของฝั่งยุโรป แมวดำมักเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ สิ่งที่ไม่ดี และความตาย ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำยังคงตกค้างมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งหากจะว่ากันถึงรากของความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำที่เกี่ยวข้องกับความตาย คงต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ที่มีการเล่าขานตำนานกำเนิดเฮอร์คิวลีส (Hercules)
เฮอคิวลิสเป็นลูกชายของเจ้าหญิงอัลค์เมนี (Alcmene) และเทพเจ้าซูส (Zeus) ซึ่งเป็นที่รู้กันเรื่องความเจ้าขู้ และชายาขี้หึงอย่าง เฮรา (Hera) ในตอนที่เจ้าหญิงอัลค์เมนีกำลังท้องนั้น เฮร่าที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังได้ปฏิญาณตนว่าจะขัดขวางไม่ให้เธอคลอดลูกได้ แต่ผู้รับใช้คนหนึ่งของอัลค์เมนีรู้ทันแผนของเฮร่าและขัดขวาง ด้วยความโกรธ เฮร่าจึงสาปให้ผู้รับใช้คนนั้นกลายเป็นแมววดำ และส่งให้ไปรับใช้เทพธิดาแห่งเวทย์มนตร์และความตาย เฮคาเต (Hecate) แทน
แม้โดยเรื่องราวแล้วผู้รับใช้คนนั้นจะเป็นคนดีและเฮร่าเป็นฝ่ายร้าย แต่ในฐานะที่เขาต้องไปรับใช้ผูกพัน และรับคำสั่งจากเทพธิดาแห่งความตาย ภาพลักษณ์ของแมวดำจึงกลายเป็นอย่างนั้นไปด้วย
ขณะที่ในยุคกลาง สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 11 (Gregory XI) ได้เผยแพร่เอกสาร Vox in Rama เอกสารนี้เผยแพร่ในปีค.ศ. 1233 และเกี่ยวข้องกับหัวข้อการบูชาปีศาจ ในนั้นพระสันตะปาปาอ้างว่าแมวดำเป็นอีกตัวตนของซาตาน และนี่เองเป็นเหตุสำคัญให้ผู้คนเริ่มฆ่าแมวดำ ประกอบกับขณะนั้นคริสตจักรพยายามยุติลัทธินอกศาสนาหรือพวก ‘เพแกน’ (Paganism) สถานการณ์ของแมวดำก็ยิ่งเลวร้าย
ด้วยความที่เพแกนบูชาพระจันทร์และมักจะประกอบพิธีกรรมในตอนกลางคืน พวกเขาถูกทำให้ดูเหมือนเป็นพวกแม่มด และแมว ที่เป็นสัตว์กลางคืน ก็ถูกนำไปเหมารวมกันด้วย สามสิ่งนี้จึงกลายเป็นถูกไล่ล่าโดยเหล่าคริสเตียนผู้เคร่งครัด
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ขยับขยายไปสู่เรื่องโชคลาง เช่นในศตวรรษที่ 16 ชาวอิตาเลียนเชื่อว่าถ้ามีคนป่วย แล้วแมวดำขึ้นไปนอนบนเตียงของใคร คนนั้นจะตายในเร็ววัน หรือที่ยังหลงเหลือมาจนวันนี้ก็คือใครก็ตามที่เห็นแมวดำข้ามเส้นทางของคุณอาจจะเป็นผลให้เจอกับเรื่องโชคร้าย
ปัจจุบันหลายความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำกลายเป็นตำนานสนุก หากเป็นฮัลโลวีน แมวดำจะเป็นอีกหนึ่งตัวละครฮิตที่ถูกนำมาตกแต่ง การฆ่าแมวดำด้วยความเชื่อมันนำโชคร้ายมาให้ ดูจะเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว แต่อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้แมวดำที่ถูกฆ่าตายนั้นกลับไม่ได้น้อยลง เมื่อปี 2007 สมาคมคุ้มครองสัตว์และสิ่งแวดล้อมของอิตาลีเปิดเผยว่ามีการสังหารแมวดำจำนวนมากถึงปีละ 60,000 ตัว นั่นทำให้ทางสมาคมพยายามยุติความเชื่อลักษณะนี้ และตั้งให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแมวดำของอิตาลี ส่วนที่อังกฤษก็มีวันแมวดำเช่นกัน แต่เป็น 27 ตุลาคมของทุกปี
งู
งู (Serpent) เป็นสัตว์อีกชนิดที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อและเรื่องลี้ลับมาอย่างยาวนาน ทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก เช่นกัน—ในยุคกรีกโบราณ งูใหญ่เป็นสัตว์ที่เฮร่าส่งไปกำจัดเฮอร์คิวลีสตอนที่เขายังเป็นทารก (แม้ว่าท้ายที่สุดงูตัวนั้นจะโดนเฮอร์คิวลีสน้อยฆ่าตายอย่างง่ายดายก็ตาม) ในทางคริสตศาสนา งูก็เป็นสัตว์ที่ยุยงให้อดัมกับอีฟกินแอปเปิ้ลจากสวนต้องห้ามในพระคัมภีร์
ขณะที่ในโลกตะวันออก เราน่าจะคุ้นเคยกับตำนาน ‘งูขาว’ ของฝั่งจีนหรือญี่ปุ่น ใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อยก็ความเชื่อที่อิงมาจากทางอินเดีย อย่าง นาค หรือ นาคา (Naga) แม้ว่าในปีปีหนึ่งจะมีชาวอินเดียโดนงูกัดตายเป็นจำนวนมาก แต่ชาวอินเดียนั้นยังคงนับถืองูเป็นพระเจ้าด้วยมาจากมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ทุกวันนี้ยังคงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับงูที่จัดขึ้นทุกปี เช่น เช่นพิธี Naga Panchami ที่จัดขึ้นในประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาฮินดู เช่นอินเดียและเนปาล ที่จะบูชาพญานาคด้วยขนมนมเนย ดอกไม้ และเครื่องหอมต่างๆ
ขณะที่ในด้านร้ายๆ นั้น ชาวอินเดีย (รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชีย) เชื่อว่างูเต็มไปด้วยความแค้น งูจะไล่ล่าคนที่ทำร้ายหรือฆ่าลูกหลานของมัน โดยงูจะจัดเก็บภาพของบุคคลที่อยู่ในใจเพื่อแก้แค้นให้สำเร็จ หรือความเชื่อที่ว่างูสามารถสะกดจิตได้เพราะมีแก้วมณีในหัว นั่นรวมถึงเรื่องที่พิสูจน์ได้เช่นพิษของมัน จึงทำให้งูถูกฆ่าอยู่บ่อยครั้งเมื่อมันเลื้อยเข้าบ้านมนุษย์
อาย-อาย
อาย-อาย (Aye- Aye) เป็นสัตว์ท้องถิ่นของมาดากัสการ์ ด้วยลักษณะที่แตกต่าง ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นอันตราย นิ้วกลางที่ยาวผิดปกติซึ่งได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อช่วยในการเก็บเกี่ยวตัวอ่อนแมลงอาหารตามธรรมชาติของมัน แต่มันกลับมีชื่อเสียงที่ไม่ดีจากนิ้วดังกล่าว
มีความเชื่อว่ามันใช้นิ้วนี้เจาะหัวใจของผู้คน บางคนก็ว่าการที่ อาย-อาย ชี้นิ้วไปหาคนนั้นหมายความว่าคนคนนั้นจะตาย ด้วยความเชื่อโชคลางดังกล่าว ทำให้การใช้ชีวิตของมันตกอยู่ภายใต้การคุกคาม ในปัจจุบันสายพันธุ์นี้ไม่เพียงแต่ถูกคุกคามด้วยความเชื่อโชคลางเหล่านี้ และยังถูกรุกพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้จำนวนของอาย-อายลดลงจนสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ( International Union for Conservation of Nature :IUCN) ประกาศให้อายอายเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมันก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย
นกฮูก
การเป็นสัตว์หากินกลางคืนและรูปลักษณ์ประหลาดตาของมันส่งผลกับนกฮูกโดยตรง เช่นในเรื่องราวของชนพื้นเมืองทั้งในทวีปอเมริกาและแอฟริกา ที่มักจะเชื่อมโยงนกฮูกกับการทำนายทายทัก
ชนเผ่าชาวนาวีในแอฟริกาถือว่านกฮูกพื้นดิน (Burrowing Owl) เป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความตาย เช่น และมีการทำรูปบูชานกฮูก ในหลายประเทศแถบแอฟริกา นกเค้าแมวมีความเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ บ้านของหมอผีประจำเผ่าก็มักจะมีรูปหรือรูปปั้นนกฮูกประดับอยู่ โดยมีความเชื่อว่านกฮูกเป็นผู้ส่งข้อความไปมาระหว่างหมอผีกับโลกแห่งวิญญาณ
นกฮูกยังเป็นที่รู้จักในฐานะลางสังหรณ์เกี่ยวกับข่าวร้าย และได้ปรากฏตัวในฐานะสัญลักษณ์แห่งความตายและการทำลายล้างในบทประพันธ์และบทกวียอดนิยม
ในไทยเองก็มีความเชื่อนี้เช่นกัน กับความเชื่อว่าหากนกแสก (barn owl) บินผ่านบ้านใคร บ้านหลังนั้นจะมีคนตาย
ขณะที่ในอินเดีย ในช่วงปี ค.ศ. 1972 ประชากรนกฮูกตกอยู่ในอันตราย แม้มันจะได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ป่าของอินเดีย แต่หลายคนก็ยังคงล่ามันเพื่อเอาชิ้นส่วนร่างกาย ทั้ง กระดูก ขน และเลือดเพื่อใช้ในพิธีกรรมและยาแผนโบราณ การล่านกฮูกเพราะความเชื่อเหล่านี้ส่งผลกับพวกมันอย่างยิ่งจนมีความพยายามอนุรักษ์และให้ความเข้าใจอย่างจริงจัง เพื่อรักษาจำนวนประชากรนกฮูกในอินเดียเอาไว้
ทั้ง 4 ชนิดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากความเชื่อของมนุษย์ ที่ไปเชื่อมโยงและตัดสินพวกมันเอาเอง จากพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ และอย่างที่เห็นว่าแม้ในปัจจุบันที่โลกก้าวหน้าไปมากแล้ว แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ เราคงได้แต่หวังว่าความเข้าใจที่ถูกต้องพอจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในเร็ววัน
ภาพ: อินเตอร์เน็ต
โฆษณา