1 มิ.ย. 2019 เวลา 03:26
วิกฤตโลจิสติกส์ไทย ต่างชาติครองสัดส่วนตลาด 90% ฮุบขนส่งทางน้ำ-อากาศ
นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย เผย วิกฤตโลจิสติกส์ไทย ต่างชาติครองสัดส่วนตลาด 90% ฮุบขนส่งทางน้ำ-อากาศ ด้าน B2C ไทยโตน้อยกว่า 10 เท่า หลังต่างชาติกดราคาต่ำกว่า 3 เท่า อานิสงส์ ตกที่ผู้บริโภค
นายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และภาคขนส่งในประเทศไทยปัจจุบันน่าเป็นห่วงอย่างมากต่ออนาคตผู้ประกอบการไทย เนื่องจากพบว่าสัดส่วนการตลาดของอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย ตกอยู่ในมือบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ถึง 80-90% โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำและการขนส่งทางอากาศ ศักยภาพของเอกชนไทยสู้ต่างชาติรายใหญ่ไม่ได้ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุน ส่งผลให้เป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ขนาดกลางซึ่งมีโอกาสที่จะล้มเหลวทางธุรกิจได้ง่ายกว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการรายเล็กซึ่งสามาถเลือกเป็น Sub-contact กับต่างชาติได้ สำหรับสาเหตุของปัญหาดังกล่าว อยู่ที่เรื่องการผ่อนคลายข้อกฎหมายเรื่องการถือหุ้นในบริษัทเอกชนโดยคนต่างชาติ ที่เปิดช่องให้ถือหุ้นได้มากกว่า 51% ดังนั้นเอกชนจึงกล้าที่จะทุ่มเงินลงทุนหลายพันล้านบาท นอกจากนี้บริษัทต่างชาติยังมาพร้อมกับ เครือข่ายธุรกิจเกี่ยวเนื่องเช่น สินค้าออนไลน์และอี-คอทเมิร์ซในรูปแบบต่างๆอีกด้วย
นายชุมพลกล่าวต่อว่าขณะที่การขนส่งทางบกนั้นพบว่าผู้ประกอบการไทยยังคงครองสัดส่วนตลาดได้กว่า 80% ของโลจิสติกส์ในรูปแบบ B2B ขณะที่โลจิสติกส์รูปแบบ B2C ซึ่งแข่งขันกันอย่างดุเดือด นั้นผู้ประกอบการไทยอย่าง ไปรษณีย์ ยังเป็นผู้ครองสัดส่วนตลาด 50-60% แต่การเติบโตลดลงเรื่อยๆและอัตราเติบโตของรายได้น้อยกว่าเอกชนเกือบ 10 เท่า ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยโตปีละ 10% แต่ Kerry โตปีละ 100% ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์สอง อย่างไรก็ตามน่ากลัวตรงที่เอกชนทำธุรกิจแบบกล้าได้กล้าเสีย ยอมขาดทุนในช่วงแรกเพื่อดึงลูกค้า ดังนั้นจึงเสนอราคาที่ต่ำมาก ต่ำกว่าไปรษณีย์ 2-3 เท่า อาทิ ราคาขนส่งสินค้ากล่องเล็ก Flash คิดราคา 19 บาท Kerry คิดราคา 25 บาท แต่ไปรษณีย์คิดราคา 45-60 บาท แท้จริงแล้วต้นทุนคือ 45 บาท จะพอมองเห็นรูปแบบการทำตลาดที่ยอมขาดทุนช่วงแรกแต่พอเริ่มคืนทุนแล้ว มีผลประกอบการเติบโต 100% สามปีติดต่อกัน เมื่อดูรายได้ย้อนหลังของ Kerry ในปี 2559 รายได้ 3,000 ล้านบาท ในปี 2560 มีรายได้ 6,000 ล้านบาทและในปี 2561 มีรายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท ผลกำไรเติบโตขึ้นในอัตราส่วนเดียวกัน ปัจจุบันกำไรมากกว่าปีละ1,000 ล้านบาท
นายชุมพลกล่าวอีกว่าสิ่งที่น่าสนใจคือเป็นยุคที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากที่สุด ในสภาพตลาดการแข่งขันที่รุนแรงเช่นนี้ ทั้งราคาค่าบริการที่ถูกมาก และตัวเลือกประเภทบริการหลากหลาย ตอบโจทย์ได้มากกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ในทางเดียวกันประเทศไทยไม่มีพื้นที่เหลือให้เอกชนสัญชาติไทย แต่กลับเป็นสมรภูมิการค้าของกลุ่มทุนโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ทุกทวีปทั่วโลก แต่คนไทยกำลังจะทยอยหายไปจากวงการนี้ เช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า "ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกจะเหลืออะไร"
ด้านนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เตรียมจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ณ ซีดีซี คริสตัล แกรนด์ บอลรูม โดยจะมีการประชุมร่วมกับสมาชิกของสหพันธ์จำนวน 10 สมาคม รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับปัญหาจากการแข่งขันรุนแรงดังกล่าว รวมถึง หารือและนำปัญหาต่างๆซึ่งผู้ประกอบการขนส่งของไทย จะต้องมีการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องของเวลา ที่จะต้องส่งสินค้าไปยังผู้รับภายใน 24-30 ชั่วโมง
โฆษณา