Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
2 มิ.ย. 2019 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
ที่มาของสำนวน “นกสองหัว”
1
สำนวน “นกสองหัว” หมายถึงคนที่ไม่จริงใจ ฝักใฝ่อยู่กับทั้งสองฝ่าย เป็นผู้ที่ไม่น่าคบ
แต่สำนวนนี้มีที่มาอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ได้เคยเล่าไว้ว่า สำนวน “นกสองหัว” น่าจะมีที่มาจากตรานกอินทรีสองหัวซึ่งเป็นตราแผ่นดินของรัสเซียที่ใช้มาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิ
คำๆ นี้น่าจะเป็นคำใหม่เพราะไม่ค่อยเห็นในเอกสารเก่าๆ และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ไม่ได้อธิบายอะไรไว้ จึงเป็นไปได้ว่าสำนวนนี้เพิ่งจะมีมาเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 5 พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 สมัยที่ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นมกุฏราชกุมารได้เสด็จเยือนไทย (หรือสยามตามนามสมัยนั้น)
อาจารย์ล้อมเชื่อว่า การประดับประดาถนนในสมัยนั้นน่าจะต้องตกแต่งด้วยผืนธงที่มีตราแผ่นดินของรัสเซียประกอบ ทำให้ตรา “นกสองหัว” ถูกพบเห็นโดยประชาชนชาวไทยอย่างแพร่หลาย และอาจถูกใช้เป็นสำนวนในเวลาต่อมา
แต่พอถึงปี 2555 อาจารย์ล้อมได้เล่าอีกว่า ท่านได้ไปพบสำนวนนี้เข้าในเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งมาก่อนที่พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 จะเสด็จเยือน ดังนั้นการสันนิษฐานของท่านว่า สำนวน “นกสองหัว” มาจากการที่คนไทยได้เห็นตราแผ่นดินของรัสเซียนั้น น่าจะไม่ถูกต้อง คนไทยน่าจะได้เห็นตรานี้มานานตั้งแต่สมัยอยุธยาโดยเฉพาะในสมัยของพระนารายณ์ที่มีบาทหลวงเข้ามาเมืองไทยเป็นจำนวนมาก และตรานกสองหัวก็อาจถูกใช้ในบรรดาชาวคริสต์เพื่อบ่งบอกว่าเป็นคนเข้ารีตเหมือนกัน
ล้อม เพ็งแก้ว
แต่ข้อสันนิษฐานของอาจารย์ล้อมก็ยังคงมีข้อน่าสงสัยอยู่ เนื่องจากว่าสัญลักษณ์นกสองหัวนั้น แม้จะเป็นที่แพร่หลายในยุโรปและเอเชียกลางอยู่มาก แต่ในทางตะวันตกสัญลักษณ์นี้มักใช้ในฝ่ายอาณาจักรมากกว่าที่จะเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายศาสนจักร ต่างจากฝ่ายออร์โธดอกซ์ที่มักใช้สัญลักษณ์นี้ในทางศาสนาด้วย จึงไม่น่าใช่ที่บรรดาบาทหลวงที่มาจากโลกตะวันตกอย่างฝรั่งเศสจะเอาสัญลักษณ์นกสองหัวมาให้คนที่เข้ารีตใช้เป็นสัญลักษณ์
แต่ความเป็นไปได้ที่สัญลักษณ์นกสองหัวจะเข้ามาในยุคพระนารายณ์ก็มีอยู่ เพียงแต่ไม่ได้มาพร้อมกับบาทหลวงคาทอลิก แต่เป็น “ออกญาวิไชเยนทร์” หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน จะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะชื่อตระกูลของท่านก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “นกอินทรี” และท่านยังเป็นชาวกรีก ไม่ว่าท่านจะนับถือออร์โธดอกซ์หรือไม่ ก็ย่อมคุ้นเคยกับสัญลักษณ์นี้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ที่แพร่หลายในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางมานาน
ดังนั้น หากออกญาวิไชเยนทร์จะหาสัญลักษณ์ประจำตัวสักอันจึงน่าจะมองหา “นกอินทรี” ซึ่งสื่อถึงรากตระกูลของท่านได้ดี และสัญลักษณ์นกอินทรีสองหัวแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็อยู่ในข่ายที่เป็นไปได้ หากท่านออกญาจะถูกเรียกว่าเป็นพวก “นกสองหัว” ด้วยเหตุนี้ และคำๆ นี้จะถูกใช้สื่อความหมายเชิงลบในสมัยต่อๆ มา
แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานใดที่จะยืนยัน
References:
https://www.silpa-mag.com/culture/article_4995
https://books.google.co.th/books?id=9QZgDwAAQBAJ&pg=PT101&lpg=PT101&dq=%E0%B8%AA%E0%B9%8D%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4&source=bl&ots=Qaux9ObSAz&sig=ACfU3U3x7e9GnS1lT9MqIbBtAoqZlstXHA&hl=th&sa=X&ved=2ahUKEwj6p7LrvMriAhWQfn0KHaGXDbg4ChDoATAHegQIChAB#v=onepage&q=%E0%B8%AA%E0%B9%8D%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%20%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4&f=false
4 บันทึก
84
4
3
4
84
4
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย