7 มิ.ย. 2019 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
ขนมจีนซาวน้ำ ชื่อและรสที่ยังหาคำตอบไม่ได้
คำว่า “ขนมจีน” ในภาษาไทยกลางเป็นคที่มาจากคำมอญ “คนอมจิน” หมายถึงแป้งก้อนที่ทำให้สุก ส่วนคนภาคกลางก็ใช้เรียกเส้นแป้งข้าวเจ้าที่โม่ตำจนเป็นก้อนเหนียว ทำสุกโดยการกดแป้งดิบโรยเป็นสายจากกระบอกซึ่งเจาะรูที่ก้นลงในหม้อน้ำเดือด ช้อนเอาขึ้นมาล้างน้ำเย็น จับเรียงให้เป็น “จับ” กินกับน้ำยา น้ำพริก แกงกะทิ เป็นต้น
1
แต่การเรียกด้วยคำมอญไม่ได้แปลว่าขนมจีนมีต้นกำเนิดจากดินแดนมอญ เพราะไม่ใช่แต่เฉพาะดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่กินเส้นแบบนี้ แต่ชุมชนไทลื้อแถบจีนตอนใต้เองก็มี “ข้าวนมบีบ” กิน มิหนำซ้ำยังมีรูปร่างและขนาดเส้นหลากหลาย
มีขนมจีนสำรับหนึ่งที่มักพูดกันว่าเป็นสูตรโบราณเฉพาะของครัวไทยภาคกลาง เหมาะจะทำกินในช่วงหน้าร้อน ปรุงด้วยวัตถุดิบง่ายๆ รสชาติสดชื่น นั่นก็คือ “ขนมจีนซาวน้ำ”
เครื่องซาวน้ำหลักๆ ที่ระบุไว้ค่อนข้างตรงกัน ประกอบด้วยกุ้งแห้งป่น น้ำปลาดองพริกขี้หนู สับปะรดสับ กระเทียมสดซอย ขิงอ่อนซอย ราดด้วยหัวกะทิสดตั้งไฟคนไม่ให้จับเป็นลูก ผสมหางกะทิพอให้ไม่ข้นจนเลี่ยน
1
ทั้งหมดนี้ให้ราดบนเส้นขนมจีน คลุกเคล้าให้เข้ากัน หากสับปะรดไม่เปรี้ยว อาจบีบมะนาวเพิ่มรสเปรี้ยวแหลมได้อีก
เดาว่า ที่มาของชืาอ “ขนมจีนซาวน้ำ” น่าจะมาจากอิทธิพลการเรียกวัตถุดิบควบคู่ไปกับการกิน
ส่วนคำว่า “ซาว” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ในมุมมองของภาคกลางเป็นหลัก คือ “ก. เอาข้าวสารล้างนํ้าด้วยวิธีใช้มือคนให้ทั่วเพื่อให้สะอาดก่อนหุงต้ม เรียกว่า ซาวข้าว” แต่ในภาษาอีสาน หมายความรวมถึงการคลุกเคล้าส่วนผสมอาหารให้เข้ากันในภาชนะด้วย
ส่วนเหตุที่ต้องมีการ “ซาวน้ำ”
หลักฐานเก่าสุดที่ค้นได้ ปรากฏในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีตำรับ “เข้าซาวน้ำ” ใช้เครื่องปรุงหลักคือขิงและสับปะรดสับละเอียด กระเทียมดิบซอย กุ้งแห้งป่น ของเปรี้ยวอื่นๆ (ถ้ามี) ก็ใส่ด้วยได้ อาทิ มะม่วง มะดัน ส้มโอ ระกำ วิธีปรุงคือเคล้าของเหล่านี้กับข้าวสวย ราดน้ำเคยดี น้ำตาลทราย บีบมะนาว และ “เมื่อคลุกทั่วกันดีแล้ว” จึงตักลงจานยกไปตั้งให้รับประทาน
เครื่องของ “เข้าซาวน้ำ” นี้ เหมือนขนมจีนซาวน้ำแต่ว่าไม่ราดกะทิเท่านั้นซึ่งเหมือนกับ “ซาวน้ำคุณชาย” ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนเล่าไว้ในหนังสือคึกฤทธิ์พ่อครัวหัวป่าก์
โฆษณา