15 มิ.ย. 2019 เวลา 11:36 • ประวัติศาสตร์
เบื้องหลังคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของ The Beatles
วงร็อคแอนด์โรลที่ก่อตั้งขึ้นปี 1960 และในห้วงเวลาเพียงแค่ 10 ปี สี่เต่าทองจากเมืองลิเวอร์พูล, อังกฤษ ก็สามารถสยบโลกใบนี้ให้อยู่ข้างกายและเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของวงการดนตรี
Paul McCartney (ร้องนำ,เบส), John Lennon (ร้องนำ,กีตาร์) George Harrison (กีตาร์ลีด) และ Ringo Starr (กลอง)
แสงไฟสปอตไลต์จากสื่อทุกสำนัก, กองทัพแฟนคลับที่แห่กันไปดูทุกงานแสดงของ The Beatles จังหวะดนตรีที่ผสม Jazz, British Beat, Rock n' Roll เข้าไว้ด้วยกัน และความน่ารักออดอ้อนของสมาชิกวงแต่ละคน ทำให้ทุกอย่างที่ The Beatles สัมผัสกลายเป็นทองคำ
The Beatles ถือเป็นวงที่มีประสบการณ์ในการแสดงสด (Live Performance) สูงมากวงหนึ่ง เพราะเริ่มออกทัวร์ตั้งแต่ยังเด็ก พวกเขาเล่นมาแล้วทุกเลเวล ตั้งแต่บาร์เล็กๆไปจนถึงสนามกีฬาจุคนดูหลายหมื่น ตั๋วคอนเสิร์ตขายหมดเกลี้ยงไร้กังวลทุกครั้ง
แต่ใครจะรู้ครับ ว่าคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของ The Beatles จะกลายเป็นการเล่นบนดาดฟ้าต่อหน้าคนดูเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น ประหนึ่งสูงสุดคืนสู่สามัญ
มาย่อยประวัติการแสดงครั้งนี้ของ The Beatles ในปี 1969 ไปพร้อมๆกันครับ
ปี 1969; The Beatles ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ของการฟอร์มวง พวกเขาไม่ใช่เด็กหนุ่มหน้าใส ไร้เดียงสาอีกต่อไปแล้ว หากแต่เติบโตขึ้นเป็นวงร็อครุ่นใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน
วงดนตรีกับดราม่าเป็นของคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ที่ทั้ง John Lennon และ Paul McCartney ต่างก็น้อตหลุดให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์หลายครั้ง, การเข้ามาของ Yoko Ono แฟนใหม่ของ Lennon และความสูญเสียครั้งใหญ่ ผู้จัดการวง Brian Epstein ลาโลกไปด้วยวัยเพียง 32 ปี เพราะเสพยาเกินขนาด
ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้บรรยากาศภายในวงไม่ค่อยสู้ดีนัก อีกประการหนึ่งเห็นจะเป็นการร้างเวทีคอนเสิร์ตมาเป็นเวลานานของวง เพราะตั้งแต่ช่วงกลางปี 1966 ถึงสิ้นปี 1968 เกือบสองปีครึ่งที่ The Beatles เก็บตัวอยู่ใน Studio ไม่ออกงานอีเวนท์ ไม่เล่นคอนเสิร์ตที่ไหนเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เหตุผลที่วงหยุดพักจากการทัวร์คอนเสิร์ตก็เพราะว่าตั้งแต่ The Beatles ถือกำเนิดมา พวกเขาวิ่งรอกเล่นคอนเสิร์ตรอบโลกแทบทุกวัน ถ้านับรวมกันก็ได้มากถึง 1,400 ครั้ง! คงจะดีกว่าหากเรากลับบ้านไปพักใจ และชาร์จไฟผลิตอัลบั้มใหม่ๆกัน
ทำให้ในช่วงเกือบสามปีที่พักการทัวร์ไป The Beatles ผลิตอัลบั้มใหม่ได้ถึง 5 อัลบั้ม ตั้งแต่ Sgt.Pepper's Lonely Hearts Club Band, Magical Mystery Tour, The Beatles, Yellow Submarine และ Abbey Road มีเพลงมากถึง 82 เพลง
ในจำนวนนี้มีเพลงดังที่พวกเราคุ้นหูกันดีทั้ง Come Together, All you need is love, Yellow Submarine รวมอยู่ด้วยครับ
Once a musician, Always a musician โดยเฉพาะนักดนตรีชั้นเซียนอย่าง The Beatles ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตกินนอนอยู่บนรถทัวร์ ตะลอนไปเล่นคอนเสิร์ตทั่วโลก แน่นอนว่าพวกเขาย่อมเกิดอาการคิดถึงเวที คิดถึงคนดู เพราะมันคือลมหายใจของศิลปิน แถมมีเพลงใหม่รอเล่นให้ฟังอีกเกือบร้อยเพลง Lennon จึงเริ่มเปรยเกี่ยวกับคอนเสิร์ตใหญ่และการหวนคืนเวทีของวงกับสื่อหนังสือพิมพ์
ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป แฟนๆที่แทบจะรอไม่ไหวก็ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปิดขายบัตร แฟนตัวยงบางรายถึงกับยอมเสนอเงินก้อนโตเพื่อซื้อบัตรก่อนใคร ถึงแม้จะร้างหายไปทำเพลงอยู่นาน แต่ความนิยมของ The Beatles ไม่เคยตกลงไปเลย
เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้เพราะ Lennon หลุดปากให้สัมภาษณ์ออกไป ทางวงจึงต้องวางแผนจัด Comeback Concert นี้กันจริงๆเสียที
แผนการเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 1968 ในเดือนมิถุนายน The Beatles ตัดสินใจซื้อตึกหลังหนึ่งในย่าน Savile Row ที่เป็นศูนย์กลางแฟชั่นและออฟฟิศของอังกฤษ เพื่อใช้เป็นออฟฟิศของค่ายเพลง Apple Records ที่ทางวงเพิ่งตั้งขึ้นมาบริหารกิจการของ The Beatles และศิลปินคนอื่นๆ
หลังจากนั้นในเดือน พฤศจิกายนปี 1968 จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่แวะมาเยี่ยมออฟฟิศ Apple Records, Paul McCartney ก็เผลอบอกกับนักข่าวของ Melody Maker ว่า The Beatles จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ถึง 3 รอบในช่วงก่อนคริสต์มาสเดือนธันวาคม ที่ต้องจัด 3 รอบเพราะว่าเพลงที่ผลิตออกมาในอัลบั้ม White Album นั้นมีถึง 30 เพลง ทางวงต้องการเล่นเพลงเหล่านี้ให้หมดในคอนเสิร์ต และอาจมีเพลงจากอัลบั้มอื่นเสริมๆเข้าไปด้วย
พอ Melody Maker เอาข่าวนี้ไปตีพิมพ์เท่านั้นแหละ แฟนเพลงนับพันพากันมาชุมนุมหน้าออฟฟิศของ Apple Records เพื่อรอซื้อตั๋วล่วงหน้าอย่างที่กล่าวไปข้างต้น บางคนเอาเตนท์มากางนอนกันเลยก็มี คือถ้าเปิดขายเมื่อไหร่ได้ซื้อคนแรกแน่ๆ
รอแล้วรอเล่า ย่างเข้าเดือนธันวาคมข่าวคอนเสิร์ตของ The Beatles ก็ยังเงียบกริบ ไม่มีการโปรโมท ไม่มีการให้สัมภาษณ์ใดๆอีก แฟนเพลงเริ่มตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับ The Beatles ข้างหลังเวทีกันแน่?
ในช่วงกลางเดือนธันวาคมในขณะที่ The Beatles กำลังสับสนกับชีวิตว่าจะเดินไปทางไหนกันดีจากปัญหาส่วนตัวของสมาชิกวงแต่ละคน Michael Lindsay Hogg อดีตผู้กำกับที่เคยถ่าย MV เพลง Hey Jude ให้ The Beatles ก็เข้าไปเยี่ยมสี่หนุ่มใจว้าวุ่นที่ออฟฟิศ Apple Records
1
Hogg ถามวงว่าจะเอาอย่างไรต่อไป คอนเสิร์ตจะจัดหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่เขาได้รับคงจะน่าหงุดหงิดใจพอสมควรจน Hogg เองต้องยื่นข้อเสนอเรื่องสถานที่จัดคอนเสิร์ตให้วง และพ่วงออพชั่นว่า ถ้าจะให้เขาช่วยจัดให้รอบนี้ The Beatles ต้องยอมให้ Hogg ถ่ายหนังสั้นในช่วงซ้อมก่อนขึ้นคอนเสิร์ตเก็บไว้ด้วย
George Harrison ดูจะไม่ค่อยพอใจกับข้อเสนอการถ่ายหนังสั้นนี้เท่าไหร่ แต่เขาก็ต้องยอมรับมติของวงเพื่อให้คอนเสิร์ตเกิดขึ้น ถ้าไม่มีคนช่วย วงก็คงจัดเองไม่ได้ เพราะการบริหารจัดการวง The Beatles ในช่วงหลังอ่อนแอเหลือเกินตั้งแต่ผู้จัดการคนเก่าตายจากไป ทำให้ทางเลือกมีไม่มากนัก
พอคุยเรื่องข้อตกลงกันเสร็จก็มาถึงเรื่องสำคัญ คือการเลือกสถานที่จัดคอนเสิร์ตและสถานที่ซ้อมก่อนขึ้นแสดง โดยสถานที่ซ้อมจะต้องสามารถรองรับทีมงานถ่ายหนังกว่า 20 คนที่จะคอยเดินพล่านถ่ายวิดีโอตลอดเวลา ซึ่งทาง The Beatles ก็ใช้เวลาไม่นานในการตัดสินใจเลือก Twickenham Studios เป็นห้องซ้อม เพราะพวกเขาเคยไปทำงานที่สตูดิโอนี้อยู่หลายครั้ง
สิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือวันเวลาและสถานที่จัดคอนเสิร์ต ในวันที่ 2 มกราคม 1969 The Beatles เข้าไปเริ่มซ้อมวันแรก ในช่วงบ่าย Hogg ก็เข้ามาที่ห้องซ้อมและบอกกับวงว่า "พวกนายมีเวลา 1 เดือนในการซ้อม เราจะจัดคอนเสิร์ตช่วงปลายเดือนนี้ และตัวคอนเสิร์ตจะถูกใช้เป็นตอนจบของหนังที่เรากำลังถ่ายกันอยู่ด้วย"
ทุกอย่างดูเหมือนจะพร้อมหมดแล้วทั้งวง ทั้งทีมงาน แต่จนแล้วจนรอด พวกเขาก็ยังตกลงกันไม่ได้สักที ว่าจะจัดคอนเสิร์ตที่ไหน
ทั้งวงและ Hogg ต่างก็เสนอไอเดียการจัดไม่ว่าจะเป็นจัดในผับเล็กๆชื่อ The Cavern, McCartney เสนอให้จัดเป็นแบบเฉพาะแฟนคลับในสตูดิโอ ที่เพี้ยนที่สุดเห็นจะเป็นของ Lennon ที่เสนอให้จัดในพิพิธภัณฑ์ศิลปะและมีผู้ชมเป็นสุนัขเท่านั้น?
ส่วน Hogg เสนอไอเดียให้วง The Beatles ลงเรือสำราญจากอังกฤษเพื่อเดินทางไปจัดคอนเสิร์ตกลางทะเลทรายซาฮาร่า ที่ประเทศลิเบีย!
แพลนว่าจะให้ The Beatles ขึ้นเล่นในโรงละครโบราณกลางแจ้งอายุนับพันปีกลางทะเลทราย มีคนดูประมาณ 5,000 คน แน่นอนไม่มีสมาชิกวงคนไหนเห็นด้วยกับ Hogg และแสดงความไม่พอใจอย่างออกนอกหน้าจนไอเดียนี้ต้องตกไปในวันที่ 8 มกราคม
อย่างไรก็ตาม สมาชิกวงทุกคนยังคงฝึกซ้อมอย่างขันแข็งแตกต่างจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา George Harrison นำนักร้อง/เปียโนเข้ามาเพิ่มสีสันในวงอีกคนหนึ่งชื่อ Billy Preston เขาคือเด็กในสังกัด Apple Records และมีส่วนช่วยให้บรรยากาศแย่ๆระหว่างสมาชิกวงดีขึ้น
Yoko Ono แฟนใหม่ของ John Lennon ดูจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนคนอื่นเท่าไหร่ เพราะเธอจะคอยนั่งข้าง Lennon ไม่ห่างไม่ว่าวงจะทำอะไร บวกกับที่มีทีมงานคอยตามถ่ายตลอดเวลา น่าจะสร้างความอึดอัดให้กับวงมากทีเดียว
ในที่สุด George Harrison ก็หมดความอดทนกับบรรยากาศการซ้อมที่ Twickenham Studio และประกาศลาออกจากวงท่ามกลางอาการตกตะลึงของทั้งเพื่อนๆและทีมงานในวันที่ 10 มกราคม 1969 ก่อนที่จะกลับเข้ามาใหม่ในวันที่ 15 มกราคม โดยมีข้อแม้ว่า "ถ้าอยากให้ฉันกลับไปเล่นให้วงอีกครั้ง พวกเราต้องย้ายออกจาก Twickenham Studio เพราะฉันทนไม่ไหว ไม่เอาแล้ว"
โอเคได้ Harrison กลับมา ถึงแม้จะต้องย้ายที่ซ้อมก็ไม่เป็นไร The Beatles กลับไปตั้งหลักกันที่ตึกออฟฟิศ Apple Records และเริ่มเปลี่ยนชั้นใต้ดินให้เป็นห้องซ้อมในวันที่ 21 มกราคม บรรยากาศในวงดีขึ้นมาก ทุกคนยิ้มและเริ่มมีความสุขกับการเล่นดนตรี
จนวันที่ 28 มกราคม 1969 ในช่วงพักเบรคการซ้อมก็มีคนในวงพูดขึ้นมาว่า "เมื่อกี้ฉันขึ้นไปสูดอากาศที่ดาดฟ้ามา จริงๆเราจัดที่นี่ก็ได้นะ"
ทุกคนในห้องทั้งนักดนตรีและทีมงานมองตากันแต่ไม่มีใครพูดอะไรสักคำ เป็นโมเมนท์แห่งความเงียบจนกระทั่ง Hogg พูดขึ้นมาว่า
"Let's fucking do it!"
แต่ก็เหมือนกับละครตลกซิตคอม ทุกคนที่ดูจะเห็นไปในทางเดียวกันว่าจัดบนดาดฟ้านี้แหละ แต่ไม่มีใครขยับตัวทำงานสักคน ทั้งระบบเสียง สถานที่ก็ยังไม่มีใครจัด จนกระทั่งตอนเช้าของวันที่ 30 มกราคมก่อนการแสดงนั่นแหละ
ระบบเสียงถูกเซตโดยซาวด์เอนจิเนียร์ชื่อดังในยุคนั้น Alan Parsons ที่เซตออกมาได้เพอเฟคมาก ถึงแม้จะเป็นวันที่อากาศเย็นและลมแรงก็ตาม ในที่สุดก็ถึงเวลาแสดง
The Beatles ที่ร้างเวทีไปเกือบสามปี อยู่ดีๆก็เดินขึ้นมาบนดาดฟ้าแบบไม่มีการประกาศล่วงหน้าใดๆทั้งสิ้น นี่คืองานร้อน งานเซอไพรส์ของจริง แต่ทันทีที่เสียงกีตาร์แผดออกไป ผู้คนในย่านนั้นก็มารวมตัวกันหน้าตึกและบนดาดฟ้า
มันคือการเล่นดนตรีที่เต็มไปด้วยพลัง และความรู้สึกที่อัดอั้นมานานหลายปี ดราม่าทั้งหลายแหล่ของวงรอควงนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นเสียงดนตรีในวันที่สายฝนโปรยปราย และอากาศเย็นเพียง 8 องศาเซลเซียส
ทุกอย่างของโชว์ที่ถูกเซตอัพขึ้นมาอย่างลวกๆเพียงครึ่งวันออกมาสมบูรณ์แบบ มีหลายครั้งที่ Lennon กับ McCartney สบตากันเหมือนที่ทั้งคู่เคยทำตอนเป็นเด็ก
เสียงดนตรีดูจะดังเกินไปหน่อยทำให้ตำรวจขึ้นมาบนดาดฟ้าเพื่อจะปรามและขอให้หยุดแสดงแต่ The Beatles ก็หาได้ใส่ใจ เล่นต่อไปจนจบตามแพลนคือ 9 เพลง และปิดโชว์ด้วยเพลง Get Back อันโด่งดัง
และนี่คือก็คอนเสิร์ตสุดท้ายก่อนที่วง The Beatles จะยุบไปในปี 1970 ครับ.
การแสดงบนดาดฟ้าครั้งนั้นกลายเป็นตำนานเล่าขานมาจนทุกวันนี้ มันเป็นโชว์ที่ทำให้สมาชิกทุกคนมีความสุขเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะแยกย้ายกันไปตามทางของตน
สุดท้ายสมาชิกวงก็ตระหนักได้ว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุด ก็คือเพื่อนที่ยืนข้างๆกัน เล่นดนตรี มีความสุขด้วยกัน หาใช่ชื่อเสียงเงินทอง สิ่งของนอกกาย
อย่างน้อย The Beatles ก็หาความหมายของการเล่นดนตรีจนเจอ.
เกร็ดเล็ก: ไมโครโฟนของทุกตัวในคอนเสิร์ตถูกห่อหุ้มด้วยกางเกงในผู้หญิงที่ซาวด์เอนจิเนียร์ไปซื้อมาตอนเช้าเพื่อป้องกันเสียงลม
เกร็ดน้อย: John Lennon กับ Ringo Starr หยิบเสื้อโค้ตของแฟนสาวตัวเองมาใส่กันหนาว เพราะความไม่เตรียมพร้อมของฝ่าย Costume
- Xyclopz
โฆษณา