16 มิ.ย. 2019 เวลา 02:21 • ธุรกิจ
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจและเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เท่าที่ได้เจอทั้งลูกค้า คู่กรณี และคนรอบตัว ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ถึงสิทธิในเรื่องนี้ หรือรู้แต่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง เลยลองไปหาข้อมูลดูว่าใน website ต่างๆ แล้วก็พบว่าข้อมูลที่หาได้นั้น มีข้อมูลไม่เพียงพอและ/หรือชี้นำไปในความหมายหรือความคาดหวังที่ไม่ถูกต้องให้กับผู้รับสาร ซึ่งดูแล้วผมเองก็ไม่สบายใจ เพราะนอกจากคนที่ไปอ่านจะได้ข้อมูลไม่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันอีกด้วย ในโพสต์นี้จะอธิบายว่าค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถคืออะไร ใครมีสิทธิที่จะเรียกร้อง เรียกจากใคร เรียกได้เท่าไหร่ ขั้นตอนเป็นอย่างไร พร้อมทั้งยกตัวอย่างข้อมูลที่ผิดประกอบไปด้วย
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถคืออะไร?
ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คือ เงินชดเชยที่เราสามารถเรียกร้องได้จาก ‘ผู้ละเมิด’(คู่กรณี) ในทรัพย์(รถยนต์)ของเรา(ซึ่งหมายความว่าเราต้องเป็นฝ่ายถูกในอุบัติเหตุนั้น) ทำให้ทรัพย์นั้นเสียหายและเราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นการ ‘บรรเทา’ ความเดือดร้อนให้กับผู้ถูกละเมิดในทรัพย์นั้น คนทำเคลมจะเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ค่าขาดฯ’
ผมใช้คำว่า ‘ผู้ละเมิด’ นะครับ ไม่ใช่บริษัทประกันภัย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง 3 เรื่อง คือ
1. ถ้าคู่กรณีไม่มีประกันภาคสมัครใจ เราก็สามารถเรียกค่าขาดฯ ได้จากคู่กรณีที่เป็น ‘ผู้ละเมิด’ โดยตรง
2. ค่าขาดฯ ไม่ใช่ความคุ้มครองในกรมธรรม์รถยนต์ภาคสมัครที่เราซื้อเพื่อคุ้มครองรถตัวเอง เป็นการเรียกร้องจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ถึงรถเราจะไม่มีประกันก็สามารถเรียกค่าขาดฯ ได้ การที่ข้อมูลจากบางแห่งบอกว่า “ซื้อประกันสมัครใจทั้งที ต้องใช้ให้คุ้ม” เป็นการให้ข้อมูลที่ผิด เพราะเราไม่ได้ใช้สิทธิในความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่เราถืออยู่
3. ถ้าคู่กรณีมีประกันภาคสมัครใจ(ประเภทใดก็ได้) คู่กรณีจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ที่ถืออยู่ โดยบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้แทนคู่กรณีที่เป็น ‘ผู้ละเมิด’ จากความคุ้มครองในส่วนที่เป็นความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ในทางกลับกัน เมื่อเราเป็นผิด เราก็จะได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้เช่นกัน
ทำไมตอนซื้อประกันบริษัทถึงไม่แจ้งสิทธินี้กับเรา?
ข้อมูลจากหลายแห่งบอกว่า บริษัทชอบไม่แจ้งเรื่องนี้ให้กับ ‘ลูกค้า’ ใช่ครับ ถูกแล้ว เพราะมันไม่มีความคุ้มครองในข้อนี้อยู่ในกรมธรรม์ที่เราซื้อ บริษัทจึงไม่ต้องแจ้ง หน้าที่ที่จะต้องแจ้งนั้นเป็นของบริษัทคู่กรณีที่จะต้องแจ้งเรา ว่าเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินชดเชยในส่วนนี้ ไม่ใช่บริษัทของเราครับ
ทำไมเราต้องดำเนินการเองทุกอย่าง บริษัทของเราไม่บริการลูกค้าหน่อยหรือ?
ข้อมูลจากบางแห่งบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของบริษัท หรือบางแห่งก็กระทบกระเทียบว่า ลูกค้าก็ไม่ใช่พระเจ้าเสมอไป ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นเลยครับ สาเหตุที่เราต้องดำเนินการเองเป็นเพราะว่า ‘ตามกฎหมายแล้วบริษัทไม่มีสิทธิดำเนินการแทนเรา’ ตามหลักการ ‘สวมสิทธิเรียกร้อง’
การสวมสิทธิคืออะไร?
เป็นขั้นตอนของกระบวนการ Recovery & Subrogation ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายๆ เช่น เราเกิดอุบัติเหตุโดนชนท้าย รถเราเป็นฝ่ายถูก ในกรณีที่เราไม่มีประกันภาคสมัครใจ เราก็มี ‘สิทธิ’ ตามกฎหมายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจาก ‘ผู้ละเมิด’(คู่กรณี) ด้วยตนเอง แต่ในกรณีที่เรามีประกันภาคสมัครใจ(ยกเว้นประเภท 2 และ 3 ที่ไม่คุ้มครองรถเรา) บริษัทก็จะจ่ายค่าซ่อมให้เรา ‘แทน’ คู่กรณี ทำให้บริษัทมีสิทธิที่จะไปเรียกร้องค่าเสียหายแทนเราได้ ซึ่งตรงนี้ในทางกฎหมายจะเรียกว่า ‘การสวมสิทธิเรียกร้อง’ หรือก็คือ การใช้สิทธิแทนเรานั่นเอง เนื่องจากกรมธรรม์มีความคุ้มครองในส่วนของค่าซ่อม เมื่อบริษัทจ่ายค่าซ่อมแทนคู่กรณีไปแล้ว บริษัทก็สามารถไปเรียกร้องคืนได้ แต่ในกรณีของค่าขาดฯ กรมธรรม์ไม่มีความคุ้มครองในส่วนนี้ บริษัทจึงไม่สามารถจ่ายเงินในส่วนนี้แทนคู่กรณี ‘สิทธิ’ ในการเรียกร้องจึงยังอยู่ที่เรา ทำให้บริษัทไม่สามารถ ‘สวมสิทธิเรียกร้อง’ ได้ ไม่ใช่บริษัทไม่อยากบริการลูกค้านะครับ ทะลึ่งไปทำแทนนี่ถึงขั้นผิดอาญาเลยครับ
ใครมีสิทธิเรียกค่าขาดฯ ?
คนที่มีสิทธิเรียกค่าขาดก็คือ ‘ผู้ถูกละเมิด’ ในทรัพน์นั้น การจะถูกละเมิดได้ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้น เป็น ‘ผู้ครอบครอง’ ทรัพย์สินนั้น หรือก็คือ เจ้าของรถ ที่มีชื่อระบุอยู่ในทะเบียนรถว่าเป็นผู้ครอบครองรถเท่านั้น ไม่ใช่เราขับรถของพ่อไปโดนชนท้ายแล้วเราจะไปเรียกค่าขาดฯ เองได้
เราจะสามารถเรียกร้องค่าขาดฯ ได้เท่าไหร่?
ตามหลักเกณฑ์ใหม่ของคปภ.(ออกเป็นคำสั่งนายทะเบียน) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ในปีนี้(2562) แบ่งเกณฑ์ออกเป็น 3 ประเภท
1. รถยนต์ส่วนบุคคล ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง ไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
2. รถยนต์รับจ้างสาธารณะ ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง ไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
3. รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง ไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
(การออกเป็นคำสั่งนายทะเบียนนั้น หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามอาจเข้าข่ายความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะมีโทษปรับในอัตราที่สูง)
ส่วนตัวผมมองว่าหลักเกณฑ์ใหม่นี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์เสียทีเดียว เนื่องจากคำว่า ‘ไม่น้อยกว่า’ มันก็ยังเปิดช่องให้มีการเจรจาอยู่ดี ในช่วงก่อนที่จะมีประกาศตัวนี้ออกมา ทุกบริษัทก็จะใช้หลักเกณฑ์ใกล้เคียงกัน คือ รถยนต์ส่วนบุคคล จะเจรจาอยู่ที่ประมาณ 300-500 บาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการใช้แท็กซี่ ไป-กลับ บ้าน-ที่ทำงาน เนื่องจากค่าขาดฯ ถ้าเราทำความเข้าใจ wording ในเงื่อนไขดีๆ มันเป็นเรื่องของการ ‘บรรเทา’ มากกว่าที่จะเป็นการ ‘ชดใช้’ ซึ่งความหมายต่างกัน การบรรเทาหรือการช่วยเหลือ ไม่มีกำหนดจำนวนเงินแน่นอน แต่การชดใช้สามารถกำหนดจำนวนเงินได้แน่นอน ดังนั้นถ้าจะให้ดีที่สุด ควรจะกำหนดตัวเลขที่แน่นอนไปเลย จะได้ไม่ต้องมีการเจรจา บริษัทก็ทำงานได้เร็ว ผู้เรียกร้องก็ได้รับเงินเร็ว คปภ.ก็รับเรื่องร้องเรียนน้อยลงจากเคลมที่เจรจาไม่จบ แต่ผลกระทบในเรื่องของค่าสินไหมฯ ว่าจะทำให้เบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย
แล้วเราต้องเตรียมอะไรบ้างเพื่อไปติดต่อบริษัทประกัน?
1. หนังสือเรียกร้องค่าขาดฯ (search หาใน Google หรือขอกับบริษัทก็ได้)
2. ใบรับรองความเสียหายต่อทรัพย์สิน(ใบเคลมที่คู่กรณีออกให้เรา กรณีเราเป็นฝ่ายถูก)
3. สำเนาทะเบียนรถ
4. สำเนาใบขับขี่(ของคนขับตอนเกิดเหตุ)
5. ใบเสนอราคาความเสียหายที่มีการระบุวันเข้าซ่อมชัดเจน(เก็บสำเนาไว้เองด้วย)
6. ใบรับรถหรือหนังสือส่งมอบรถที่มีการระบุวันรับรถชัดเจน(เก็บสำเนาไว้เองด้วย)
7. สำเนาหน้าสมุดเงินฝาก(สำหรับให้บริษัทโอนเงิน)
8. สำเนาตารางกรมธรรม์รถยนต์(ถ้ามี)
9. รูปถ่ายขณะซ่อม(ถ้ามี ขอจากอู่ได้)
10. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน+ทะเบียนบ้าน ทั้งของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ(ถ้าให้ผู้อื่นไปติดต่อแทน)
แนะนำให้ติดต่อกับบริษัทคู่กรณีให้เรียบร้อยก่อน เพื่อเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน พร้อมทั้งเจรจาค่าขาดฯ ให้จบก่อน แล้วค่อยนำเอกสารเข้าไปติดต่อ จะได้เข้าไปแค่ครั้งเดียว เพื่อเข้าไปเซ็น ‘สัญญาประนีประนอมยอมความ’ หนังสือสัญญานี้จะเป็นข้อผูกมัดทั้งสองฝ่าย คือ ในสัญญาจะระบุว่า เราจะไม่เรียกร้องอะไรเพิ่มเติมในอุบัติเหตุครั้งนี้จากที่ตกลงกันไว้อีกแล้ว และบริษัทจะต้องจ่ายเงินเราตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
สุดท้ายอยากจะพูดถึงเรื่องที่อ่านเจอเกี่ยวกับค่าขาดฯ อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็จะมีการต่อว่าบริษัทประกันว่า บ่ายเบี่ยงบ้าง กดราคาบ้าง จ่ายช้าบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงครับ แต่เหรียญมี 2 ด้าน เราอย่ามองแค่ด้านเดียว บริษัทไม่ดี พนักงานไม่ดีก็มี บริษัทที่ดี พนักงานที่ดีก็มีครับ ลูกค้า/คู่กรณีที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มีเหมือนกัน ยังไม่นับพวก ‘มือปืน’ ที่รับจ้างไปเรียกร้องเป็นอาชีพแล้วกินส่วนแบ่งอีก บริษัทที่ไม่ดีเราก็มีสิทธิที่จะไปร้องเรียนกับคปภ. หากว่าเขาไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดความคุ้มครอง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัท พนักงานทุกคนจะไม่ดี ผมคนหนึ่งที่ได้รับการสอนมาว่า การควบคุมสินไหมฯ ที่ดี ไม่ใช่การกดราคา ไม่ใช่การเอาเปรียบลูกค้าหรือคู่กรณี ไม่ใช่การประวิงการจ่าย แต่คือการการเจรจาและจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว โดยมีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี ลดการรั่วไหลโดยป้องกันการจ่ายค่าสินไหมฯ ที่ ‘เกิน’ กว่าความเป็นจริง หรือเคลมฉ้อฉลจัดฉาก เรามีหน้าที่ ศีลธรรม จรรยาบรรณ และความรับผิดชอบที่จะจ่ายค่าสินไหมฯ ให้ถูกต้อง ตามความคุ้มครองที่ผู้ประสบเหตุควรจะได้รับ และถึงแม้ว่าลูกค้าจะไม่ได้เรียกร้องเรื่องอะไร ที่อาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่รู้ว่ามีความคุ้มครองในส่วนนั้น ก็ยังเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบ และทำการจ่ายค่าสินไหมฯ ในส่วนนั้นให้อย่างรวดเร็ว ส่วนกลุ่มคนที่มีเจตนาไม่สุจริต(ซึ่งเป็นส่วนน้อย) เราจะต้องจัดการอย่างเด็ดขาด โดยการดำเนินคดีอาญาไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น แต่คนในวงการประกันจำนวนไม่น้อยก็ถูกสอนมาอีกแบบหนึ่ง คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้จ่ายเงินน้อยที่สุด แต่กลับยอมจ่ายในบางเรื่องเพื่อเลี่ยงปัญหา เช่น ไม่คุ้มครองแต่เส้นใหญ่ หรือร้องเรียนมาก โวยวายไม่หยุด ยอมจ่ายๆ ไป เพื่อตัดปัญหา แล้วไปหาตาสีตาสา คนที่รู้ไม่เท่าทัน ไปกดไปเอาเปรียบคนพวกนี้แทน เพื่อเอาเงินส่วนต่างมาชดเชย ผมก็ไม่รู้ว่าคนในวงการจะมีสัดส่วนระหว่าง 2 ด้านนี้มากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่สัมผัสมาก็มีทั้ง 2 ด้านผสมกัน ก็หวังว่าวงการประกันภัยจะพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกที่ดี รู้หน้าที่และมีจรรยาบรรณในการทำงานขึ้นมามากๆ และพยายามกำจัดคนไม่ดีออกไปให้หมด ก่อนที่คนดีๆ จะหมดกำลังใจในการทำงานเพราะถูกสังคมเหมารวมไปกับคนไม่ดี
สำหรับใครที่สะดวกอ่านใน Facebook ครับ
โฆษณา