17 มิ.ย. 2019 เวลา 15:03 • ประวัติศาสตร์
มูซาชิ ผู้เข้าถึงมรรคาด้วยวิถีแห่งดาบ
“ทาเคโซ” หรือที่เรารู้จักกันในนาม ”มิยาโมโต้ มูซาชิ “(ค.ศ.1584-1645) ยอดซามุไรอัจฉริยะผู้ผ่านการต่อสู้แบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมาไม่ต่ำกว่าหกสิบครั้ง และไม่เคยแพ้แม้แต่ครั้งเดียว
ในวัยสิบเจ็ดปี มูซาชิและมาตาฮาชิเพื่อนรักของเขา ได้เข้าร่วมกับฝ่ายโอซาก้าในฐานะทหารเลว ณ สงครามทุ่งเซกิงาฮาร่า
ผู้ชนะในครั้งนั้นคือฝ่ายโตกุงาว่า อิเอยาสุ ทำให้มูซาชิต้องหลบหนีกลับบ้านเกิดในฐานะผู้แพ้สงคราม ถูกทหารฝ่ายตรงข้ามตามล่าและถูกนางโอสุหงิ ผู้เป็นแม่ของมาตาฮาชิ ตามจองล้างจองผลาญอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะเข้าใจผิดคิดว่ามูซาชิพาลูกของนางไปตาย (ซึ่งจริงๆแล้วมาตาฮาชิยังไม่ตายแต่หลบหนีไปอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่งที่พบกันระหว่างหลบหนีข้าศึก)
มูซาชิในวัยหนุ่มเปรียบเสมือนสัตว์ป่ากระหายเลือดต่อสู้ฆ่าฟันผู้คนมากมายเพื่อให้ตัวเองรอด จนได้พบกับ ทาคุอัน พระนิกายเซ็นผู้ช่วยให้มูซาชิรอดพ้นจากการตามล่าของทางการและทำให้เขาได้ออกมาใช้ชีวิตพเนจรเพื่อมุ่งสู่หนทาง“หนึ่งในปฐพี”
1
การท้าดวลโดยสัญชาติญาณดิบทำให้เขาชนะคู่ต่อสู้มากมายแต่เมื่อยิ่งเจอคู่ต่อสู้ที่เก่งขึ้นเรื่อยๆเขาก็ยิ่งตระหนักว่าแท้จริงแล้ว วิถีบูชิโด(การเข้าสู่อภิมรรคด้วยวิชาดาบ)ที่เขาใฝ่ฝันนั้นยังห่างไกลยิ่งนัก สัญชาติญาณการฆ่าฟันและพละกำลังไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เป็นหนึ่งในปฐพีได้
1
ในคืนที่เขาลอบไปในปราสาทของ ยางิยู เซคิซูไค เขาได้สัมผัสถึงสภาวะ”ดาบอยู่ที่ใจ”จากกระแสจิตของปรมาจารย์ดาบสายยางิว อย่างเซคิซูไค ทำให้มูซาชิเข้าใจว่าหนทางที่จะเป็นจอมดาบอันดับหนึ่งนั้นยังอีกยาวไกล
หลังจากนั้นเขาได้ย้อนกลับมาสู่การฝึกฝนสภาวะภายใน น้อมจิตสู่ภาวะธรรมชาติ ยึดเอาภูเขา สายน้ำเป็นอาจารย์ และแล้วโชคชะตาก็นำพาเขามาพบกับ “โคเอ็ทสุ”ช่างตีดาบผู้มีอัจฉริยะในศิลปะ โคเอ็ทสุผู้นี้เองได้นำพามูซาชิมาสู่โลกแห่งศิลปะซึ่งก็ทำให้เขาได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วศิลปะไม่ว่าแขนงใดๆรวมไปถึงวิชาดาบล้วนต้องอาศัยกายและจิตที่ประสานรวมกันเป็นหนึ่ง การฝึกฝนศิลปะเป็นอุบายหนึ่งเพื่อขัดเกลาจิตใจและร่างกายให้หลอมรวมกัน (จากหลักการอันนี้เมื่อเขาได้เห็นการตีกลองญี่ปุ่นในงานรื่นเริงแห่งหนึ่งและได้เห็นการใช้สองมือตีกลอง วิชาดาบคู่ของมูซาชิจึงถือกำเนิดขึ้น)
2
คู่ต่อสู้คนสุดท้ายของมูซาชิคือ ซาซากิ โคจิโร่ นักดาบผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น ท่าไม้ตายของเขาคือ นกนางแอ่นเหินลม เป็นการตวัดดาบสองจังหวะโดยใช้ดาบที่มีความยาวพิเศษกว่าดาบทั่วไป
ก่อนการปะลองในครั้งนี้มูซาชินั่งวาดภาพไปเรื่อยๆเพื่อให้จิตใจของเขาได้ปลดปล่อยเป็นอิสระหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ระหว่างนั่งเรือไปยังสถานที่นัดประลองเขานำพายมาตัดเป็นดาบยาว ด้วยการเดินทางแบบเรื่อยๆเอื่อยๆทำให้เขามาถึงที่ประลองช้าไปถึงสองชั่วโมง (เพราะมัวแต่นั่งวาดภาพ) สภาพจิตใจที่สงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับดาบที่เหลามาด้วยตัวเองทำให้เขาเอาชนะ โคจิโร่ได้ หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้ต่อสู้กับใครอีกเลย (ในตอนนั้น มูซาชิอายุประมาณยี่สิบเก้าปี เขากล่าวว่าชั่วชีวิตนี้เขาคงหาคู่ต่อสู้ที่เก่งเท่าโคจิโร่ไม่ได้อีกแล้ว)
1
ชีวิตในช่วงต่อมาเขาอยู่กับงานศิลปะทั้งวาดภาพ แกะสลัก และฝึกฝนวิชาดาบ (มีลูกศิษย์ด้วย)จนอายุได้ห้าสิบ เขาจึงรู้ว่าตนเองได้บรรลุมรรคาแห่งดาบแล้ว ผลงานสุดท้ายในชีวิตมูซาชิคือคัมภีร์ห้าห่วง(โกะรินโนโฉะ) ซึ่งเขาเรียกวิถีแห่งดาบเขาว่า “นิเท็นอิจิริว”(ทวิภพบรรจบเป็นหนึ่งเดียว) มีส่วนของการฝึกฝนใจตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์มากแม้ในปัจจุบัน คนรุ่นเราก็สามารถนำมาใช้ได้ (ถ้ามีโอกาสจะนำหลักการฝึกตนในคัมภีร์ห้าห่วงมานำเสนอต่อไปครับ)
1
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตของ มูซาชิ สามารถหาอ่านได้จากการ์ตูนเรื่อง Vagabond ของ อ.ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ผู้เขียน Slamdunk หรือถ้าอยากได้เนื้อหาที่ลึกซึ้งกว่าในการ์ตูน แนะนำให้อ่าน “มูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์” ความหนาประมาณ 600 หน้า (ซึ่งย่อมาจากต้นฉบับซึ่งมีถึง 1,500 หน้า) จะทำให้เข้าใจมุมมองของมูซาชิ รวมถึงการวางกลยุทธ์จนสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้มากขึ้น
หมายเหตุ : บทความนี้ดัดแปลงจากบทความเดิมที่ผมเคยเขียนลงใน Blog พันทิป โดยใช้นามปากกาว่า "อรหันต์นิทรา" เมื่อปี 2552

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา