25 มิ.ย. 2019 เวลา 12:40
เรื่องเล่าของ Beauty / บล็อกเกอร์แมน
ถ้าถามว่า หนึ่งในหุ้นที่เป็นสีสีนของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา มีตัวไหนบ้าง คำตอบน่าจะรวมหุ้น Beauty เข้าไปด้วย แล้วทำไมจึงเป็นแบบนั้น วันนี้เราไปหาคำตอบด้วยกัน
บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ Beauty เดิมนั้นชื่อ บริษัท โมนาโพลิแตนท์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เพื่อดำเนิน
ธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว
 
ปัจจุบัน ช่องทางการจำหน่ายสินค้าของ Beauty จะแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลัก คือ
 
1.ผ่านสาขาของบริษัท ซึ่งมีทั้งหมด 357 สาขา โดยแบ่งเป็นในประเทศ 347 สาขาและต่างประเทศ 10 สาขา
2.ผ่านช่องทางอื่น เช่น โมเดิร์นเทรด คอนวีเนี่ยนสโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต อีคอมเมิร์ซ และร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม
สัดส่วนรายได้ของ Beauty ผ่านสาขาเท่ากับ 81% และผ่านช่องทางอื่นอีก 19%
ที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ที่ Beauty เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2555 นั้น บริษัทก็ยังสามารถทำกำไรได้ทุกปี
ปี 2555 รายได้ 777 ล้านบาท กำไร 173 ล้านบาท กำไรเติบโต 29%
ปี 2556 รายได้ 997 ล้านบาท กำไร 207 ล้านบาท กำไรเติบโต 20%
ปี 2557 รายได้ 1,385 ล้านบาท กำไร 301 ล้านบาท กำไรเติบโต 45%
ปี 2558 รายได้ 1,792 ล้านบาท กำไร 402 ล้านบาท กำไรเติบโต 34%
ปี 2559 รายได้ 2,558 ล้านบาท กำไร 656 ล้านบาท กำไรเติบโต 63%
ปี 2560 รายได้ 3,735 ล้านบาท กำไร 1,229 ล้านบาท กำไรเติบโต 87%
ปี 2561 รายได้ 3,501 ล้านบาท กำไร 991 ล้านบาท กำไรลดลง 19%
จะเห็นว่า กำไรของ Beauty เติบโตทุกปี ยกเว้นเพียงปี 2561 ที่กำไรลดลงเนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการซื้อเครื่องสำอางมากขึ้น
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาปราบปรามเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักลดลงในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2561
แต่กำไรที่ลดลงเพียงปีเดียวนี่เอง ที่เป็นปัญหาสำหรับใครหลายคน
ตอนที่ Beauty เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าบริษัทเท่ากับ 2,400 ล้านบาท
มาวันนี้มูลค่าบริษัทเท่ากับ 13,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมาประมาณ 4.6 เท่า
หมายความว่า ถ้าใครที่ลงทุนในหุ้นตัวนี้ 1 ล้านบาท ตอนราคา IPO และยังถือหุ้นมาจนวันนี้เขาจะมีเงิน 4.6 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะถือว่าเป็นผลตอบแทนที่ดีเลยทีเดียว
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มูลค่าบริษัทเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดกว่า 70,000 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม 2561 หรือเพิ่มขึ้นถึง 28.2 เท่าจากมูลค่าบริษัทตอน IPO
หมายความว่า ถ้าใครที่ลงทุนในหุ้นตัวนี้ 1 ล้านบาทตอน IPO เขาจะมีเงิน 28.2 ล้านบาท ถ้าขาย ณ จุดสูงสุด
แต่อีกด้านหนึ่ง ใครก็ตามที่ไปซื้อหุ้น Beauty ณ ตอนนั้น ที่ราคาหุ้นขึ้นไปถึง 23.70 บาท มาวันนี้ราคาหุ้นเหลือเพียง 4.44 บาท เขาจะขาดทุนไป 81% หมายความว่า ถ้าใครลงทุนในหุ้นตัวนี้ 1 ล้านบาท เขาจะมีเงินเหลือเพียง 189,000 บาท
มูลค่าบริษัทของ Beauty ที่เคยขึ้นไปสูงกว่า 70,000 ล้านบาท เราลองนึกภาพตามว่า บริษัทที่มีมูลค่าขนาดนั้น ควรมียอดขายและกำไรเท่าไร?
ตัวอย่างเช่น Tisco ซึ่งปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทที่ 71,000 ล้านบาท ปี 2018 มีรายได้ 24,627 ล้านบาท และกำไร 7,015 ล้านบาท
สำหรับ Beauty ณ จุดนั้น ถ้าเราตั้งคำถามว่า บริษัทควรขายลิปสติกกี่ชิ้น เครื่องสำอางกี่ชิ้น ที่จะทำรายได้และกำไร ที่ไม่เพียงแต่ให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแต่ต้องเติบโตแบบมหัศจรรย์ เพื่อรองรับมูลค่าบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นขนาดนั้น
หลายคนคงทราบว่า แม้ตลาดเครื่องสำอางในประเทศจะเป็นตลาดที่มีมูลค่ากว่า 1.7แสนล้านบาท แต่การที่ผู้ประกอบการรายใดทำกำไรได้ดี ก็ยิ่งทำให้มีผู้ประกอบการรายอื่นๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมมากขึ้นเพราะการเข้าสู่อุตสาหกรรมนั่นง่าย เนื่องจากอุตสาหกรรมมี Barriers to entry ต่ำ
สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากนั้น พร้อมทั้งสินค้าส่วนใหญ่ที่สามารถใช้แทนกันได้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำกำไรให้เติบโตต่อเนื่องยาวนาน เพราะการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรม
ตอนที่ค่า P/E ของหุ้น Beauty อยู่ที่ 70 เท่า ณ จุดนั้นตลาดหรือนักลงทุนอาจไม่ได้รู้สึกว่าแพง เพราะกำไรของบริษัทยังเติบโตใกล้เคียงกับค่า P/E แต่คำถามต่อมาที่ต้องตอบคือ แล้วกำไรที่เติบโตนั้นจะรักษาระดับการเติบโตไปได้มากแค่ไหน
หุ้นที่ P/E ระดับ 70 เท่าหมายความว่า เรากำลังจะจ่ายเงิน 70 บาท เพื่อแลกกับกำไรของหุ้นตัวนี้ที่ 1 บาทต่อปี
พูดอีกด้านหนึ่งก็คือ ถ้าบริษัททำกำไร 1 บาทเท่ากันทุกปี เราจะใช้เวลาถึง 70 ปี กว่าที่กำไรจะเท่ากับเงินที่เราจ่ายไป
อย่างที่ทุกคนรู้ กำไรของบริษัทเริ่มลดลง จึงไม่แปลกที่มูลค่าบริษัท Beauty จะลดลงเหลือเพียง 13,400 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 56,600 ล้านบาท จากจุดสูงสุด
และนี่อาจเป็น บทเรียนที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ เรื่องที่เกิดจากความคาดหวังที่ถูกตั้งไว้อย่างไม่สมเหตุ สมผล
จนทำให้ความคาดหวังนั้นดูเหมือนห่างไกลจากความเป็นจริงจนเกินไปนั่นเอง
>>> <<<
กดติดตามบทความที่น่าสนใจของเพจบล็อกเกอร์แมน พร้อมทั้งสามารถติดตามบทความย้อนหลังทั้งหมดได้ที่
>>> <<<
References
-แบบ 56-1 บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน)
โฆษณา