26 มิ.ย. 2019 เวลา 07:16 • ประวัติศาสตร์
ความลับ 9 ข้อของพวกสปาร์ตา นักรบเหนือนักรบ
สปาร์ตาเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถือกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ในประวัติศาสตร์กรีก อาจนับได้ว่าก่อนสมัยคลาสสิกจะเริ่มขึ้นเลยก็ว่าได้ ชาวสปาร์ตาก่อการจลาจลและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง ผลที่ตามมาก็คือชาวสปาร์ตาทุกคนเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นความเท่าเทียมที่แท้จริง พร้อมกันนั้นก็ยังสร้าง "มรดก" ความคิดสำคัญหลายอย่างที่เรายังใช้อยู่จนปัจจุบัน อาทิ การให้ความสำคัญของการทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำความดีหรือเพื่อความถูกต้องของสิทธิหน้าที่ กล่าวโดยย่อ ชาวสปาร์ตาต้องการเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ อุดมคติทุกอย่างที่เราปรารถนาในปัจจุบันล้วนแต่ย้อนกลับไปสู่รากฐานที่ปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยสปาร์ตาได้ทั้งสิ้น
 
ปัญหาสำคัญของสปาร์ตาอย่างน้อยก็ในมุมมองทางประวัติศาสตร์ คือ มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรน้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีการสร้างสถาปัตยกรรมใหญ่โตให้พอศึกษาวิเคราะห์ได้ อย่างไรก็ตาม หญิงสปาร์ตากลับมีเสรีภาพ มีการศึกษาและมีความเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างที่ไม่มีที่ใดในโลกโบราณมีได้ สมาชิกทุกคนในสังคมไม่ว่าชายหรือหญิง อิสรชน หรือทาส มีบทบาทสำคัญของตนเอง และเราไม่อาจกล่าวถึงทหารสปาร์ตาโดยไม่กล่าวถึงนครรัฐและสังคมสปาร์ตาได้เลย เพราะพลเมืองสปาร์ตาทุกคนได้รับการตระเตรียมและหล่อหลอมเป็นพิเศษให้เป็น "ยอดทหาร" ตั้งแต่เกิด ซึ่งมักถูกมองว่าโหดร้ายและสุดขั้ว ดังที่รวบรวมมาต่อไปนี้
1. เกิดมาเพื่อรบ
 
ชีวิตเกือบทุกด้านของชาวสปาร์ตาถูกกำกับโดยรัฐ ไม่เว้นแม้แต่พวกเด็กๆ เพราะเด็กสปาร์ตาทุกคนจะถูกนำไปแสดงต่อคณะผู้ตรวจสอบเพื่อหาความผิดปกติทางกายภาพ หากพบก็จะนำเด็กนั้นไปทิ้งไว้ให้ตายเองในที่กลางแจ้งบนเนินเขานอกเมือง แต่หากโชคดีก็อาจมีคนต่างถิ่นหรือทาสชาวสปาร์ตาที่เรียกว่า เฮล็อต (helot) ผ่านมาแล้วนำเด็กที่ถูกทิ้งไปเลี้ยง (ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมาก)
 
การทดสอบความอยู่รอดอย่างแรกที่เด็กจะต้องประสบ คือ อาบไวน์แทนที่จะเป็นน้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย บ่อยครั้งพ่อแม่ก็ทำเมินเฉยแม้เมื่อเด็กร้องไห้ เพื่อให้คุ้นเคยกับวิถี "สปาร์ตา"
 
กระทั่งอายุ 7 ขวบ เด็กชายที่อาศัยอยู่กับครอบครัว จะถูกรัฐนำไปรวมกันอยู่ในโรงฝึกของชุมชนแล้วเริ่มเรียนรู้การฝึกตามหลักสูตรแรก ที่เรียกว่า อะโกเก (agoge) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อหล่อหลอมวัยรุ่นสปาร์ตาให้เป็นนักสมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายด้วยการฝึกอย่างหนัก พร้อมกับเรียนรู้ความจงรักภักดีแบบสุดหัวใจ การฝึกวิชาทหารและการต่อสู้ ความอดทนต่อความเจ็บปวด การล่าสัตว์ การดำรงชีวิตในสภาพลำบากแร้นแค้น การพรางตัว การสื่อสารและคุณธรรม ขณะเดียวกันเด็กก็ยังได้เรียนการอ่าน การเขียน การใช้วาทศิลป์และกวีนิพนธ์อีกด้วย
3
แต่เมื่ออายุ 12 ปี เด็กจะทิ้งเสื้อผ้าและข้าวของทั้งหมด สวมเพียงผ้าคลุมสีแดงก่อนจะได้รับการสอนให้นอนกลางดินกินกลางทราย ใช้หญ้าฟางมาทำเป็นที่นอน ตลอดจนยังถูกสอนให้กล้าแย่งหรือขโมยอาหาร ซึ่งหากถูกจับได้จะถูกเฆี่ยนตีอย่างหนัก
 
ส่วนเด็กหญิงสปาร์ตายังคงอาศัยอยู่กับครอบครัวจนถึงอายุ 7 ขวบเช่นกัน เพียงแต่ได้รับการศึกษาแบบสปาร์ตามากขึ้น รวมไปถึงการเต้นรำ การบริหารร่างกาย การพุ่งแหลนและขว้างจักร ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดจะทำให้เด็กหญิงพร้อมเป็นแม่
2. สู้กันเอง
 
สิ่งหนึ่งที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับเด็กๆ เพื่อให้เป็นทหารที่สมบูรณ์แบบก็คือการยุยงให้สู้กันเอง เด็กโตและครูมักจะเริ่มต้นด้วยการพูดจายั่วยุนักเรียนจนนำไปสู่การสู้กันของเด็กผู้ชาย ทั้งนี้ เพราะจุดประสงค์หลักของ "อะโกเก" คือ การทำให้เด็กๆ มีความอดทนต่อความยากลำบากทุกอย่างในสงคราม อย่างเช่นความหนาวเย็น ความหิวโหยหรือความเจ็บปวด ดังนั้น ใครที่แสดงความอ่อนแอ หรือความขลาดกลัวออกมาก็จะถูกเพื่อนและครูลงโทษอย่างหนักและต้องอับอาย ส่วนเด็กหญิงก็จะร้องเพลงเย้ยหยันผู้อ่อนแอเหล่านั้นด้วย
 
ที่สำคัญไม่มีการปล่อยให้มีที่ว่างเหลือสำหรับความอัปยศ ชาวสปาร์ตาจะกำจัดคนเหล่านั้นออกไปทันที นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกวันพลเมืองสปาร์ตาทั้งหมด รวมไปถึงกษัตริย์ ต้องกินอาหารที่โรงเลี้ยงหรือซิสซิเทีย (syssitia) ซึ่งจืดชืด ขาดรสชาติและยังไม่ค่อยจะเพียงพออยู่เสมอๆ
นอกจากการออกกำลังกายประจำวันแล้ว ชายและหญิงสปาร์ตาต้องรักษารูปร่างตลอดชีวิต แต่ใครที่ทำไม่ได้ก็จะต้องยอมรับความอับอายต่อสายตาสาธารณชน และหากยังรีบแก้ปัญหารูปร่างโดยเร็วก็อาจถูกขับออกจากเมืองไปก็เป็นได้
3. บททดสอบความอดทน
 
การฝึกฝนที่น่าสะอิดสะเอียนที่สุดของสปาร์ตาโบราณอย่างหนึ่ง เรียกว่า การทดสอบความอดทน หรือ ดิอามาสติโกซิส (Diamastigosis) ตามตำนานว่าเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ผู้คนจากรัฐใกล้เคียงลงมือสังหารกันที่วิหารเทพีอาร์ทีมิส (Artemis) ดังนั้น จึงมีการบูชายัญมนุษย์เป็นประจำทุกปี
 
แต่เพราะไลเคอร์กัส (Lycurgus) นักกฎหมายในตำนานผู้มีชื่อเสียงในช่วงศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช ทำให้พิธีกรรมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นที่วิหารแห่งอาร์ทีมิสออร์เธีย (santuary of Artemis Orthia) มีเพียงทหารฝึกใหม่หรือเอฟีบี (ephebes) หรือเด็กหนุ่มที่ผ่านหลักสูตร "อะโกเก" มาแล้วเข้าร่วมโดย โดยเด็กเหล่านั้นจะถูกโบยตีจนกระทั่งเลือดของพวกเขาฉาบทาบันไดแท่นบูชาทั่วไปหมด
3
ระหว่างพิธีดังกล่าว แท่นบูชาจะถูกคลุมด้วยเนยแข็ง (ชีส) เด็กชายเหล่านั้นจะแย่งยื้อกันเข้าไปหยิบมาเป็นของตน แต่ก็มีเด็กโตกว่าก็ถือไม้เรียวรออยู่ แล้วเฆี่ยนตีเด็กที่กรูกันไปหยิบเนยแข็งอย่างไร้ความปรานี ธรรมเนียมนี้เป็นจุดเริ่มต้นของพิธีกรรมสำหรับเอฟีบีก่อนได้รับฐานะทหารและพลเมืองสปาร์ตาโดยสมบูรณ์ เด็กชายที่ยืนหยัดอยู่ได้เป็นคนสุดท้ายจะได้รับเกียรติสูงยิ่งในความกล้าหาญ
 
ในช่วงที่โรมันปกครองสปาร์ตา ธรรมเนียมดิอามาสติโกซิสก็ยังคงอยู่แต่ลดความสำคัญในเชิงพิธีกรรมลงไปมาก เพราะกลายเป็นการแสดงให้คนชมแทน ผู้คนจากทั่วจักรวรรดิหลั่งไหลมายังสปาร์ตาเพื่อชมคนหนุ่มถูกโบยตีอย่างทารุณ
3
4. "ตำรวจลับ"
 
เมื่อเอฟีบีอายุได้ 20 ปีหรือกว่านั้น ก็จะกลายเป็นผู้นำในอนาคตที่ได้รับโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของคริพเทีย (Krypteia) ที่มีลักษณะคล้ายตำรวจลับ ในแง่หนึ่งมีความคล้ายคลึงกับการจัดกำลังแบบกองโจร เพราะจุดประสงค์หนึ่งของคริพเทียคือควบคุมและข่มขวัญชุมชนเฮล็อตที่อาศัยอยู่รอบๆ เมือง
 
ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวสปาร์ตามีคนที่ใช้อาวุธเป็นประมาณ 10,000 คน ขณะที่ประชากรเฮล็อตที่อยู่โดยรอบมีมากกว่าถึง 7 ต่อ 1 คน นี่จึงนับเป็นดาบสองคมสำหรับพลเมืองสปาร์ตา ในแง่หนึ่งเฮล็อตจัดหาอาหารให้ชาวสปาร์ตาได้บริโภคเพื่อให้เป็นกำลังทหารที่ทรงประสิทธิภาพ แต่การที่เฮล็อตต่อการจลาจลอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นเหตุผลที่ชาวสปาร์ตาต้องพัฒนาความเป็นสังคมทหารชั้นสูงขึ้นมาอย่างจริงจัง ซึ่งชายทุกคนต้องเป็นทหารตามที่กฎหมายกำหนด
ในทุกฤดูใบไม้ร่วง ทหารหนุ่มจะได้รับโอกาสให้ทดสอบฝีไม้ลายมือ เมื่อข้าราชการชั้นสูงของสปาร์ตาประกาศสงครามอย่างไม่เป็นทางการกับชาวเฮล็อต เมื่อตกกลางคืนสมาชิกหน่วยคริพเทียจะถือมีดเป็นอาวุธออกเดินทางไปยังนอกเมือง โดยได้รับคำสั่งว่าให้ฆ่าเฮล็อตทุกคนที่ได้พบเห็นโดยเฉพาะเฮล็อตที่แข็งแรงที่สุด
 
ธรรมเนียมการฆ่าเฮล็อตประจำปีเช่นนี้เป็นการสร้างความมั่นใจว่าชนชั้นล่างเหล่านั้นจะจงรักภักดีต่อไป และยังเป็นการตรวจสอบจำนวนประชากรของเฮล็อตไปด้วย มีเพียงชาวหนุ่มสปาร์ตาที่เข้าร่วมในกิจกรรมน่าสยดสยองนี้เท่านั้นที่จะมีโอกาสก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพและในสังคมได้
 
ในช่วงเวลาอื่นๆ ของปี "ตำรวจลับ" เหล่านี้จะลาดตระเวนไปตามเขตนอกเมืองเพื่อจับตาดูสัญญาณของการก่อความไม่สงบ เฮล็อตคนใดก็ตามที่ต้องสงสัยว่าเข้าข่ายดังกล่าวจะถูกฆ่าตาย
2
5. การแต่งงานแบบคลุมถุงชน
 
แม้จะไม่เรื่องน่ากลัวมากนัก แต่การแต่งงาน "ภาคบังคับ" เมื่ออายุ 30 ปีเป็นสิ่งน่าวิตกในทรรศนะปัจจุบัน แต่ในอดีตนั้น ผู้ชายต้องอาศัยอยู่ในโรงฝึกทหารจนกระทั่งอายุ 30 ปี พร้อมเป็นกำลังรบสำคัญของนครรัฐขนาดใหญ่แห่งนี้ จากนั้นภารกิจก็จะลดลงแต่ยังคงเป็นทหารกองหนุนต่อไปจนอายุ 60 ปี ดังนั้น หากยังไม่แต่งงาน พลเมืองชายทุกคนต้องถูกบังคับให้แต่งงาน
 
ชาวสปาร์ตาเห็นว่าการแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของการให้กำเนิดทหารใหม่ ปกติเด็กสาวจะแต่งงานเมื่ออายุราว 19 ปี (ซึ่งถือว่าช้ากว่าหญิงสาวชาวกรีกในนครรัฐอื่นๆ) ชายโสดจะต้องประเมินสุขภาพและความแข็งแรงของว่าที่ภรรยา และถึงแม้จะมีการตกลงกันระหว่างเจ้าบ่าวกับว่าที่พ่อตาแล้ว กระนั้นเจ้าสาวก็ยังมีสิทธิ์มีเสียงในเรื่องนี้ได้ ในแง่นี้ หญิงสปาร์ตาจึงมีความเท่าเทียมกับผู้ชายและมากกว่าหลายๆ ประเทศในปัจจุบันด้วยซ้ำ
3
หากทหารสปาร์ตาแต่งงานก่อนถึงอายุ 30 ปีก็ทำได้ แต่ต้องแยกกันอยู่กับภรรยาจนกว่าจะอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ ในทางกลับกัน หากผู้ชายใดยังโสดอยู่หลังจากปลดเป็นทหารกองหนุนแล้ว จะถือว่าเขาละเลยหน้าที่ที่มีต่อสปาร์ตา และถูกเย้ยหยันในทุกๆ โอกาสโดยเฉพาะในเทศกาลสำคัญๆ
 
หากบังเอิญหญิงสปาร์ตาคนใดให้กำเนิดทารกไม่ได้ ชายสปาร์ตามีสิทธิ์หาภรรยาใหม่ที่มีบุตรกับเขาได้ จึงเกิดกรณีว่าผู้หญิงมีคู่ทีเดียวหลายคน และเด็กที่เกิดมาก็ถือเป็นลูกของทุกคน
6. อาวุธและเกราะ
 
กำลังหลักของกองทัพกรีกโบราณทุกแห่ง รวมทั้งสปาร์ตาด้วย คือ ทหารฮอปไลต์ (hoplite) ซึ่งเป็นทหารสวมเกราะหนัก มีที่มาจากพลเรือนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี มีความสามารถเพียงพอที่จะจับอาวุธขึ้นสู้ในสนามรบ แต่นครรัฐอื่นๆ ไม่มีทหารฮอปไลต์ "อาชีพ" และมักจะมีการฝึกฝนไม่มากนัก ทหารสปาร์ตากลับเกิดมาเพื่อทำสงคราม โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นอีกเลยในชีวิต ยิ่งกว่านั้น ขณะที่นครรัฐกรีกอื่นๆ สร้างกำแพงใหญ่โตเพื่อป้องกันตนเอง สปาร์ตากลับไม่มี เพราะมีทหารฮอปไลต์เป็นกำแพงมนุษย์อยู่แล้ว
 
อาวุธหลักในมือขวาของทหารฮอปไลต์ทุกนายคือ "โดรี" (dori) หรือหอก ยาว 8 ฟุต ปลายหอกเป็นสัมฤทธิ์หรือเหล็ก ด้ามทำด้วยไม้คอร์เนล (cornel wood) เป็นไม้หายากที่ให้ความแข็งแรงและแกร่งแก่หอก เนื้อไม้หนาแน่นมากจนจมน้ำได้ ส่วนในมือซ้ายทหารฮอปไลต์ถือโล่กลมที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า ฮอปลอน (hoplon) ที่มีน้ำหนักราว 30 ปอนด์ (ราว 13.60 กิโลกรัม) ใช้เพื่อการป้องกันตัวเป็นหลัก แต่บางครั้งก็ใช้โจมตีได้ด้วย โล่ฮอปลอนทำจากไม้หรือหนังสัตว์ที่หุ้มด้วยสัมฤทธิ์ บนโล่มีอักษรแลมบ์ดา (lambda) ที่มาจากคำว่า ลาโคเนีย (Laconia) อันเป็นชื่อภูมิภาคที่นครรัฐสปาร์ตาตั้งอยู่
4
หากหอกของทหารฮอปไลต์เสียหายและการรบเป็นแบบประชิดตัว ทหารแถวหน้าจะเปลี่ยนอาวุธเป็นซีฟอส (xiphos) หรือดาบสั้นที่มีความยาว 17 นิ้ว ที่ใช้แทงคู่ต่อสู้ขณะใช้โล่บังตัว แต่ปกติแล้วทหารสปาร์ตานิยมใช้ โคพิส (kopis) ที่ทำให้เกิดแผลฉกรรจ์มากกว่า โคพิสคือมีรูปร่างผสมกันระหว่างขวานกับมีดเหล็กโค้งเรียว งานศิลปะของชาวเอเธนส์มักแสดงภาพชาวสปาร์ตาถือโคพิสอยู่เสมอ นอกจากนี้ทหารยังสวมหมวกสัมฤทธิ์ป้องกันศีรษะ ท้ายทายและใบหน้า รวมถึงโธแรกซ์ (thorax) หรือเกราะหน้าอกที่ทำจากสัมฤทธิ์หรือแผ่นหนัง ตลอดจน เนมีเดส (knemides) หรือสนับแข้งสัมฤทธิ์และเกราะที่แขนอีกด้วย
7. ทหารฟาแลงซ์
 
ลักษณะหนึ่งของอารยธรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเห็นได้จากการทำสงคราม ตัวอย่างเช่น สังคมเผ่ามักจะต่อสู้แบบไม่มีรูปแบบ หรือมีการจัดกระบวนรบแบบหลวม ๆ ทหารแต่ละนายกวัดแกว่งดาบหรือขวานเหนือศีรษะเพื่อข่มขวัญข้าศึก พร้อมหวังชัยชนะแต่เฉพาะตน แต่ในอารยธรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น มีการจัดกระบวนรบเป็นแบบแผน ทหารแต่ละนายได้รับการกำหนดบทบาทอย่างชัดเจนซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ใหญ่ ลักษณะเช่นนี้พบได้ในวิธีการรบของชาวโรมันและชาวกรีก ที่จริงการจัดกระบวนรบของทหารลีเจียนของโรมัน (Roman Legion) ได้รับอิทธิพลมาจากทหารฟาแลงซ์ของกรีก (Greek Phalanx)
ทหารฮอปไลต์นับร้อยจัดกระบวนรบเป็นหมวดหมู่ที่เรียกว่า โลคอย (lokhoi) มี 8 แถวหรือมากกว่านั้น ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฟาแลงซ์ โดยที่ทหารจะยืนเรียงชิดติดกัน ใช้โล่ป้องกันด้านซ้าย (ขวามือของคนถัดไป) เหนือโล่และระหว่างศีรษะทหารเหล่านั้นเป็นหอกจำนวนมากที่พุ่งเป้าไปข้างหน้า ทหารฟาแลงซ์เคลื่อนที่ได้ค่อนข้างเร็วซึ่งมักจะสอดคล้องกับจังหวะกลองศึกหรือเสียงร้องบอกจังหวะการก้าวเดิน ซึ่งอาจได้รับการฝึกมาแล้วในหลักสูตร "อะโกเก" แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบแต่การจัดกระบวนรบแบบนี้ก็ใช้ได้ดีในการต่อสู้กับชาวเปอร์เซียหลายต่อหลายครั้ง
8. ไม่ยอมจำนน
 
จากการฝึกฝนให้เกิดความจงรักภักดีอย่างสุดหัวใจทำให้ทหารสปาร์ตาสู้รบโดยปราศจากความขลาดและหวาดกลัวใดๆ แม้จะเหลือคนสุดท้ายก็ตาม การยอมแพ้ถือเป็นความขลาดอย่างที่สุด ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด ทหารฮอปไลต์ของสปาร์ตาอาจทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือ การปลิดชีวิตตนเอง
 
เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์โบราณกล่าวถึงทหารสปาร์ตา 2 นายที่พลาดโอกาสไปร่วมรบในยุทธการเทอร์มอพิลี (Battle of Thermopylae) ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกละอายใจเป็นอย่างย่ิงจนตัดสินใจฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา โดยที่คนหนึ่งผูกคอตาย ส่าวนอีกคนตายเพื่อกู้ชื่อเสียงของตนในการรบครั้งต่อมาของสปาร์ตา
มารดาชาวสปาร์ตาบอกกับลูกของตนก่อนออกไปรบว่า "ถือโล่กลับมาหรือไม่ก็นอนมาบนโล่" ซึ่งหมายถึงให้ได้ชัยชนะกลับมาหรือไม่ก็ตายอย่างมีเกียรติในสนามรบ สปาร์ตาถือว่าพลเมืองทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อรัฐ ผู้ชายไปรบ ผู้หญิงให้กำเนิดบุตร ที่จริงมีเพียงคน 2 กลุ่มนี้เท่านั้น ที่ได้รับเกียรติให้จารึกชื่อไว้บนหินเหนือหลุมฝังศพ
9. ยุทธการเทอร์มอพิลี
 
ยุทธการเทอร์มอพิลี ที่เกิดขึ้นเมื่อ 480 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในปัจจุบันจากการ์ตูนเรื่องยาวเมื่อ ค.ศ.1998 และภาพยนตร์เรื่อง 300 ใน ค.ศ.2006 นั้น เป็นมหากาพย์สงครามระหว่างชาวกรีกจำนวนหยิบมือภายใต้การนำของกษัตริย์ลีโอนิดัสที่ 1 (King Leonidas I) กับทหารเปอรเซียจำนวนมหาศาลที่นำโดยกษัตริย์เซอร์เซส (King Xerxes)
1
ที่มาของความขัดแย้งเริ่มขึ้นตั้งแต่รัชกาลของดาริอุสที่ 1 (Darius I) แห่งเปอร์เซียก่อนที่กษัตริย์ทั้งสองจะขึ้นครองราชย์ กล่าวคือเป็นผลมาจากการขยายพรมแดนของดาริอุสเข้าสู่ภาคพื้นทวีปยุโรปและคาบสมุทรกรีก ดังนั้น หลังจากที่ดาริอุสสวรรคตและเซอร์เซสขึ้นครองราชย์ต่อมาในปี 486 ก่อนคริสต์ศักราช ก็สานต่อนโยบายการขยายอำนาจ อันเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่ชาวกรีกเคยประสบมา
 
หลังจากหารือกัน นครรัฐต่างๆ ของกรีกก็ระดมกำลังเป็นทหารฮอปไลต์ได้ราว 7,000 นาย ส่งไปยังช่องเขาเทอร์มอพิลีเพื่อสกัดการขยายตัวของชาวเปอร์เซีย (การ์ตูนและภาพยนตร์กลับไม่กล่าวถึงทหารอีกกว่า 6,700 นาย รวมถึงกองทัพเรือเอเธนส์อันเกรียงไกร) ในจำนวนนั้นมีทหารสปาร์ตา 300 คน ซึ่งกษัตริย์ลีโอนิดัสทรงนำทัพโดยพระองค์เอง ขณะที่เซอร์เซสกรีฑาทัพ 80,000 คนรุกคืบเข้ามา
 
ดูเหมือนว่าชาวกรีกจะไม่ค่อยเต็มใจเข้าร่วมการรบนี้เท่าใดนัก เหตุผลอย่างหนึ่งคือในช่วงเวลาดังกล่าวมีการจัดเทศกาล (กีฬา) ศักดิ์สิทธิ์แห่งโอลิมเปีย ขณะเดียวกันก็เป็นเทศกาลทางศาสนาของสปาร์ตาที่เรียกว่า เทศากาลคาร์เนีย (Karneia) ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการต่อสู้ใดๆ เด็ดขาด ซึ่งในกรณีนี้ กษัตริย์ลีโอนิดัสทรงทราบความเสี่ยงเหล่านั้นเป็นอย่างดี จึงทรงเลือกทหารที่ภักดีต่อพระองค์ที่สุด 300 นาย โดยแต่ละนายมีทายาทชายของตนแล้ว
 
ช่องเขาเทอร์มอพิลีซึ่งตั้งห่างไปราว 95 ไมล์ (153 กิโลเมตร) ทางเหนือของนครรัฐเอเธนส์ เป็นทำเลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตั้งรับ เพราะมีความกว้างเพียง 50 ฟุต (15 เมตร) เป็นช่องทางแคบๆ ที่เกือบจะเป็นหน้าผาดิ่งริมทะเล ขณะที่กองทัพเปอร์เซียก็ไม่สามารถจัดการทหารจำนวนมหาศาลในพื้นที่จำกัดเช่นนั้นได้ ทำให้ชาวกรีกได้เปรียบในแง่ยุทธศาสตร์พร้อมกับการสร้างกำแพงป้องกันอีกชั้นหนึ่ง
1
เมื่อเซอร์เซสมาถึง ทรงรออยู่ 4 วันให้ชาวกรีกยอมถอยไป แต่ก็ไม่เป็นผล จึงส่งทูตไปเจรจาให้ชาวกรีกวางอาวุธ ซึ่งกษัตริย์ลีโอนิดัสตรัสว่า "เข้ามาเอาไปสิ" ทำให้ในอีก 2 วันถัดมา ทหารกรีกต้องยืนหยัดรับการโจมตีอันหนักหน่วงของชาวเปอร์เซีย แต่เมื่อคนเลี้ยงแกะผู้ทรยศลอบไปบอกเส้นทางช่องเขาลับในภูเขาแก่เซอร์เซส ไม่นานกษัตริย์ลีโอนิดัสก็ตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก
 
พระองค์ตระหนักถึงสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ จึงไล่ทหารฮอปไลต์อื่นๆ ใต้การบังคับบัญชาของพระองค์ไปทั้งหมด เหลือเพียงทหารสปาร์ตากับคนอื่นอีกเล็กน้อยที่ยังยืนยันติดตามพระองค์
 
เมื่อการโจมตีครั้งสุดท้ายมาถึง กษัตริย์ลีโอนิดัสผู้เข้มแข็งพร้อมด้วยทหารสปาร์ตา 300 นายก็ได้ทำหน้าที่ที่มีต่อประชาชนและนครรัฐของตนอย่างสมบูรณ์ แม้กองทัพของพระองค์จะไม่ได้รับชัยชนะในการรบ แต่วีรกรรมที่ช่องเขาแห่งนั้นก็ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญ พร้อมกับส่งผลให้สปาร์ตาก้าวขึ้นมาเป้นผู้นำในการทำสงครามต่อต้านผู้รุกรานต่อมา ที่สำคัญ การรบที่เทอร์มอพิลียืนยันว่าสปาร์ตาย่อมเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ตลอดไปในฐานะอารยธรรมที่มีอำนาจและเอกภาพที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
เรียบเรียงจาก
โฆษณา