30 มิ.ย. 2019 เวลา 09:01 • การศึกษา
"รถหายในที่จอดรถคอนโด ใครรับผิดชอบ ?"
1
ช่วงนี้ แอดมินขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับรถบ่อยนึดนึง เพราะคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านหลาย ๆ คน
Cr. pixabay
ในกรุงเทพฯ นั้น ปัญหาที่อยู่อาศัยถือเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากเป็นเมืองที่มีคนอยู่หนาแน่น แต่กลับมีพื้นที่อยู่อาศัยอย่างจำกัดและมีราคาแพง ส่วนที่ราคาถูกลงมาหน่อยและได้พื้นที่เยอะขึ้นก็อยู่ไกลเมืองออกไป ทำให้คนที่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง
ดังนั้น คอนโด จึงเป็นคำตอบของคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ เลือก เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางจากที่พักไปที่ทำงานให้น้อยลง ทำให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะโดยการซื้ออยู่เอง หรือโดยการเช่า
แต่มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสีย คอนโดส่วนใหญ่มักจะมีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บางแห่งอาจเป็นหลักพัน เป็นชุมชนขนาดย่อมเลยทีเดียว จึงอาจเป็นที่หมายตาของมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาเพื่อขโมยทรัพย์สิน ซึ่งรวมถึงรถของผู้ที่พักอาศัยได้
ทีนี้ เมื่อมีเหตุการณ์รถสูญหายเกิดขึ้น หลายคนรวมทั้งเจ้าของรถมักจะมีคำถามขึ้นมาทันทีว่า "ใครจะต้องรับผิดชอบ" กับความสูญหายดังกล่าว (แน่นอนคนขโมยไปต้องรับผิดชอบ แต่จะตามได้รึเปล่าล่ะ) จะเป็นนิติบุคคลอาคารชุด หรือบริษัทรักษาความปลอดภัยที่ได้ว่าจ้างมา ???
Cr. pixabay
ซึ่งปัญหานี้ได้เคยไปถึงศาลฎีกาแล้ว และได้มีคำวินิจฉัยไว้พอสรุปได้ดังนี้ครับ
1. นิติบุคคลอาคารชุด ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนบุคคล มีเพียงหน้าที่จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่เกิดเหตุ
2. สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยที่นิติบุคคลได้ว่าจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย มีข้อความระบุชัดเจนว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเท่านั้น จึงไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคล
3. การตรวจสอบสติ๊กเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตรอนุญาตจอดรถยนต์และการตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคาร เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด และเป็นการควบคุมผู้ใช้สอยอาคารจอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางในอาคารชุดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ ไม่ได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้ใด
สรุปคือ นิติบุคคลอาคารชุด หรือบริษัทรักษาความปลอดภัยไม่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายของรถผู้พักอาศัย
1
Cr. pixabay
ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลฎีกานี้เป็นการวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีนั้น
ทั้งนี้ แอดมินเห็นว่า ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป เช่น ที่ประชุมนิติบุคคลอาคารชุดมีมติร่วมกันให้การคุ้มครองดูแลครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินของผู้พักอาศัย และระบุในสัญญารักษาความปลอดภัยให้การดูแลครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินของผู้พักอาศัย ความรับผิดชอบในรถหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่สูญหายก็อาจเปลี่ยนไปก็ได้
แต่ก็คงต้องแลกกับการเก็บค่าส่วนกลางที่สูงขึ้น หรือค่าเช่าที่สูงขึ้นด้วย เนื่องจากการเพิ่มหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในดูแลรักษาความปลอดภัยก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2369/2557)
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
Cr. pixabay

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา