Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Boot-Room
•
ติดตาม
30 มิ.ย. 2019 เวลา 13:22 • กีฬา
เมื่อครั้งที่จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ และเฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (FSG) หรือชื่อเดิม NESV กลุ่มทุนจากสหรัฐฯเข้ามาบริหารสโมสรลิเวอร์พูล มีหลายเสียงจากแฟนบอลไม่น้อยที่ว่า พวกเขาคงไม่ต่างอะไรกับทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ต ที่หมู่เดอะ ค็อป ต่างเรียก "สองปลิงมะกัน"
ความทรงจำเลวร้ายของเดอะ ค็อป มันเริ่มจากที่ ฮิคส์ และ ยิลเล็ตต์ ทำไว้กับสโมสรลิเวอร์พูล
ปี 2007 ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ตต์ เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของลิเวอร์พูล ด้วยจำนวนเงินประมาณ 218.9 ล้านปอนด์ พร้อมให้คำมั่นว่าจะสร้างสนามใหม่และทุ่มเงินเพื่อการซื้อผู้เล่นเข้าสู่ทีม
12 เดือนผ่านไป สโมสรพบว่าทั้งคู่ไปกู้เงินจากรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ (RBS) ถึง 350 ล้านปอนด์ เงินจำนวนนั้นถูกแบ่งเป็น 105 ล้านปอนด์ให้สโมสร และ 245 ล้านปอนด์กลายเป็นหนี้ของ Kop Holding บริษัทที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อดูแลลิเวอร์พูล ทำให้สโมสรมีหนี้ต้องจ่ายปีละหลายสิบล้านปอนด์ งบประมาณเพื่อซื้อนักเตะก็ติดลบ จนนับจากที่ทั้งฮิคส์และยิลเล็ต เข้ามา ทีมก็ไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆได้เลย
ทั้งสองคนเกิดความบาดหมาง เมื่อยิลเล็ตรู้ว่าทีมนี้ไปไม่รอดแน่นอนจากหนี้ที่ตัวเองก่อไว้ เขาพยายามจะถอนหุ้นจากทีม ซึ่งฮิคส์ก็ไม่ได้มีเงินพอจะมาฮุบหุ้นต่อจากยิลเล็ต
เสียงด่าทอต่อสองคู่หูอเมริกันเริ่มหนักขึ้น ปัญหานี้มันไม่มีทางออกสำหรับพวกเขาแล้ว และเมษายน ปี 2010 คือวันครบกำหนดชำระหนี้กับ RBS
อย่างไรก็ดี"สองปลิงมะกัน"ไม่มีเงินพอที่จะจ่าย ซึ่งทาง RBS เองก็ผ่อนปรนครั้งสุดท้ายยอมเลื่อนกำหนดชำระไปเป็น ตุลาคม 2010 แต่มีข้อแม้คือต้องให้ มาร์ติน โบรตัน ประธานสโมสรเป็นคนดูแลการขายกิจการ ส่วน คริสเตียน เพอร์สโลว์ และเอียน อายร์ ก็เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนถ่ายสโมสรครั้งนั้น รวมถึงอำนาจในการแต่งตั้งบอร์ดจะไม่ใช่ของทั้งฮิคส์และยิลเล็ตต์ อีกต่อไป
ในตอนนั้น ผู้ที่สนใจจะเข้ามาเทคโอเวอร์ลิเวอร์พูล เหลือเพียง จอห์น เฮนรี่ และ ปีเตอร์ ลิม นักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ทั้งคู่ให้มูลค่าสโมสรไม่ต่างกันมาก แต่หากการขายทีมสำเร็จ ทั้งฮิคส์และยิลเล็ต จะไม่ได้เงินสักบาทเดียว ซึ่งเป็นคำสั่งจาก RBS
เมื่อรู้ว่าตัวเองจะไม่ได้เงินจากการขายทีม ทั้งฮิคส์และยิลเล็ต ก็มีคำสั่งให้ไล่ โบรตัน แต่คำสั่งก็เป็นโมฆะ ทั้งสองปลิงพยายามสุดฤทธิ์เพื่อไม่ให้เกิดการเจรจาขายทีม แต่ศาลก็ตัดสินว่าให้กระบวนการขายกิจการดำเนินการต่อไป
สถานการณ์ของลิเวอร์พูล อยู่ในขั้นโคม่า สุ่มเสี่ยงต่อการโดนตัดแต้มและล้มละลาย
15 ต.ค. 2010 RBS บอกว่าหากเงินไม่ถึงมือพวกเขา ก่อน 16.20 น. สโมสรจะถูกควบคุมกิจการและถูกตัด 9 คะแนน ซึ่งหนึ่งวันก่อนหน้าปีเตอร์ ลิม ตัดสินใจถอนตัวจากผู้สนใจซื้อสโมสร และสุดท้าย จอห์น เฮนรี่จาก FSG ได้ลงนามซื้อกิจการสโมสร แล้วเงินถึงมือ RBS ทันท่วงที เป็นอันสิ้นสุดยุค"สองปลิง"อย่างสมบูรณ์
3 ปีผ่านไป ภายใต้การบริหารของเฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป ผลงานในสนามมันไม่ตอบโจทย์แฟนบอลเลย บางส่วนคิดไปว่านี่คือช่วงวิกฤติสโมสรอีกครั้ง (2010/11 จบอันดับ 6, 2011/12 จบที่ 8 2012/13 จบอันดับ 7) แม้จะเข้าชิงบอลถ้วยในประเทศสองรายการ(ซีซั่น 2011/12) แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความกังวลนั้นลดน้อยลง
การทำงานของ FSG ดำเนินต่อไปท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของแฟนบอล หาว่าไม่ทุ่มเงินซื้อนักเตะเข้ามาบ้างล่ะ ผลงานทีมก็ไม่กระเตื้องบ้างล่ะ
แต่พวกเขาก็ทำหน้าที่ตามแนวทางของตัวเองต่อไปแบบเงียบๆ
ลิเวอร์พูล มีชื่อเสียงระดับโลกก็จริง แต่รากลึกลงไปแล้ว โครงสร้างพื้นฐานของสโมสร มันเละตุ้มเป๊ะ ทุกอย่างมันสะเปะสะปะไปหมด ไม่ว่า เรื่องการบริหาร หรือแม้กระทั่งเรื่องร้านค้าขายของที่ระลึก
⚽️ เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
จากการเข้ามาของโรมัน อบราโมวิช ยุคนั้นคือยุคแห่งอำนาจเงินที่เข้ามาครอบครองพรีเมียร์ลีก
ครั้งหนึ่ง อเล็กซ์ มิลเลอร์ อดีตเจ้าหน้าที่เทคนิคลิเวอร์พูล ที่เคยร่วมงานกับเชราร์ด อุลเลเย่ร์และราฟา เบนิเตซ เขาเล่าว่าเคยนั่งคุยกับทั้งสองคนถึงเรื่องการดึงนักเตะฝีเท้าดีเข้ามา ทีมงานของลิเวอร์พูลได้พบ คริสเตียโน่ โรนัลโด้, พาโบล ไอมาร์, ดานี่ อัลเวส และเห็นฟอร์มทั้งสามคนในทัวร์นาเมนต์ ที่ดูไบ นอกจากนี้ยังมีปีเตอร์ เช็ค ที่โชว์ฟอร์มสุดยอดในทัวร์นาเมนต์ ยู-20ชิงแชมป์โลก
แต่สุดท้ายทุกรายก็ไม่มีการเดินหน้าเจรจาต่อ..
มิลเลอร์ เล่าว่า มีหลายเหตุผลที่แต่ละดีลมันไม่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของเอเยนต์, การต่อรองราคา โดยเฉพาะเรื่องเงินนี่เป็นปัจจัยหลักเลย ในช่วงนั้นมันเข้าสู่ยุคที่สโมสรเริ่มจ่ายค่าเหนื่อยให้ผู้เล่นสัปดาห์ละ 100,000 ปอนด์ และหากสนใจคนใดคนหนึ่งขึ้นมาจริงๆมันก็ต้องผ่านกระบวนการหลายอย่างทั้งโทรไปออฟฟิศสโมสร ต่อสายตรงที่อีกสโมสรหนึ่งแล้วเล่าว่า คุณกำลังสนใจนักเตะคนนี้นะ
อดีตโค้ชลิเวอร์พูลรายหนึ่ง เล่าว่า เคยไปร่วมดินเนอร์กับเหล่าแมวมองของอาร์เซน่อล และถกเถียงกันเรื่องผู้เล่นที่สนใจ เชื่อไหมว่าสเกาท์ปืนใหญ่แค่โทรหาอาร์แซน เวนเกอร์ และภายในครึ่งชั่วโมง เดวิด ดีน รองประธาน ก็จัดการประชุมทางโทรศัพท์กับเอเยนต์ของผู้เล่นคนนั้นทันที
"พวกเขาจัดการกันไวมาก ผมก็หวังว่าเรา(ลิเวอร์พูล)จะทำได้แบบนั้นบ้าง" อดีตโค้ชนิรนามหงส์แดงกล่าวอย่างเศร้าใจ
ช่วงท้ายของยุคราฟา สโมสรก็เกิดวิกฤติการเงินอย่างหนักจากน้ำมือของฮิคส์และยิลเล็ต จากนั้น FSG เข้ามาบริหารงานในปี 2010
ทว่าช่วงตั้งไข่ของFSG ก็ใช่ว่าจะนำเงินมาเปย์สโมสรมากมายอะไรนัก
เคสของคลินท์ เดมพ์ซี่ย์ คือเคสที่เดอะ ค็อป ต่างบ่นเจ้าของสโมสร ที่ไม่ยอมเพิ่มเงินให้ฟูแล่มตามคำเรียกร้อง ลิเวอร์พูลอยากจ่ายเงิน 3 ล้านปอนด์ แต่เจ้าสัวน้อยขอ 5 ล้านปอนด์ สุดท้ายสเปอร์ส ฉกไปด้วยค่าตัว 6 ล้านปอนด์
จากเรื่องนี้เองที่ทำให้จอห์น เฮนรี่ ถึงกับต้องเขียนจดหมายถึงแฟนบอลเกี่ยวกับดีลนี้ที่ไม่สำเร็จ "ความสำคัญของนโยบายการเสริมทัพมันไม่ใช่การลดค่าใช้จ่าย มันคือการรีดเอาประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากสิ่งที่เราจ่ายไป เพื่อที่เราจะได้มีขุมกำลังที่เต็มไปด้วยคุณภาพและมีขนาดที่เหมาะสม ซึ่งในอนาคตมันก็จะยังเป็นอย่างนั้นต่อไป เราต้องทำตามแนวทางของกฎ ไฟแนนเชี่ยล แฟร์ เพลย์ เพื่อทำให้มั่นใจว่ารายจ่ายมันจะสมดุลกับรายได้"
ครับ เขาให้ความสำคัญกับไฟแนนเชี่ยล แฟร์ เพลย์ หรือ FFN มากทีเดียว ฟีฟ่า ออกกฎนี้เพื่อควบคุมการเงินของสโมสร ไม่ให้ทีมที่มีเงินจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ทีมประสบความสำเร็จ
หลังคำพูดนั้นของเฮนรี่ เก้าอี้ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาของเอียน อายร์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงโครงสร้างตำแหน่งระดับผู้บริหารต่างๆ ไมเคิล กอร์ดอน ประธาน FSG ดึงไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส์เข้ามาแทนที่
ในอดีตลิเวอร์พูลมักล้มเหลวในตลาดซื้อขายเป็นประจำ ทีมงานTranfer Committee ที่เคยตั้งขึ้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ นักเตะอย่างแอนดี้ แคร์โรลล์, ริคกี้ แลมเบิร์ต, มาริโอ บาโลเตลลี่ ที่หวังจะเข้ามาทดแทนกองหน้าที่จากไปทั้งเฟร์นานโด ตอร์เรส และหลุยส์ ซัวเรซ ก็ไม่เห็นผล
ปัจจุบัน ดีลอย่าง เฟอร์กิล ฟาน ไดค์, โมฮาเหม็ด ซาลาห์, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน ฯลฯ เกิดจากฝีมือของเอ็ดเวิร์ดส์(รายละเอียดมีในบทความต่อไปเรื่องมันนี่บอล) คำถามที่ว่าทำไมลิเวอร์พูล ถึงยอมจ่ายค่าตัวฟาน ไดค์ และอลีสซง เป็นสถิติโลก มันก็ล้วนแต่มาจากการวิเคราะห์ที่เห็นควรแล้วว่าเหมาะสมเข้ากับทีม
ความสามารถของเอ็ดเวิร์ดส์ เป็นเรื่องที่หลายคนให้การยอมรับ ทั้งเทคนิคและการวิเคราะห์ในการทำข้อตกลงซื้อผู้เล่น การรับมือในการถูกโก่งราคา เขาเริ่มงานในตำแหน่ง หัวหน้านักวิเคราะห์มาก่อน จึงไม่แปลกที่ในหัวของเขาจะมีอะไรๆที่คนทั่วไปไม่สามารถคิดทันได้
"ประเด็นมันไม่ใช่ว่าคุณต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่เป็นคุณควรจะจ่ายเงินเพื่ออะไรมากกว่า"
⚽️ กลยุทธ์การสรรหา
ช่วงแรกที่เข้ามาสโมสรใหม่ๆ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ ได้พบปะและถามความเห็นกับเหล่าแฟนบอล, นักข่าว, ผู้เล่นในทีม, พนักงานในสโมสรทั้งอดีตและปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับสโมสรลิเวอร์พูล
ฮิคส์ และ ยิลเล็ต เคยให้สัญญาว่าจะจัดการปรับปรุงสนามและให้ทุนเสริมทัพ แต่สุดท้ายมันกลายเป็นเรื่องละลายแม่น้ำ
สองสามปีแรกของ FSG พวกเขาต้องสะสางเรื่องเก่าๆที่"สองปลิง"ทำไว้ โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ต้องเคลียร์ตัวเลขให้กลับมาปกติอีกครั้ง
"คุณพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์อยู่พักใหญ่ ถ้าให้เปรียบเทียบก็เหมือนการเอาพลาสเตอร์ไปแปะตรงรอยร้าวที่คนก่อนทิ้งเอาไว้ คนทั่วไปเมื่อเห็นว่ามีนักเตะโดนขายแล้วก็จะคิดกันว่า -ทำไมไม่เอาเงินที่ได้มาไปซื้อคนอื่นล่ะ ? แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น มันต้องใช้เวลาในการทำสิ่งต่างๆ ผลกระทบจากการใช้กุนซือหลายคน คุณจะต้องทำการตัดสินใจ และยื่นข้อเสนอขอซื้อนักเตะที่คุณอาจจะไม่มีอยู่ในทีมด้วยทุนที่มากขึ้น" อายร์ เล่าผ่านเทเลกราฟ
ปี 2014 เบรนแดน ร็อดเจอร์ส เกือบบันดาลแชมป์พรีเมียร์ลีกให้กับลิเวอร์พูล ด้วยนักเตะอย่าง หลุยส์ ซัวเรซ, แดเนี่ยล สเตอร์ริดจ์ และฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ซึ่งทั้งสามคนแสดงให้เห็นว่าคือการเซ็นสัญญาที่ชาญฉลาด แต่..เมื่อต้องเสียคนใดคนหนึ่งไป การหาใครมาแทนที่มันไม่ได้ง่ายเลย
ยกตัวอย่าง ตอนเสียหลุยส์ ซัวเรซ ให้กับบาร์เซโลน่า ลิเวอร์พูลจำเป็นต้องหาใครสักคนเข้ามาดทดแทน
อเล็กซิส ซานเชซ คือชื่อที่ลิเวอร์พูลพยายามจะเซ็นสัญญา แต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะไปอาร์เซน่อล ทั้งๆที่เดอะ กันเนอร์สก็ไม่ได้ให้มากกว่าที่ลิเวอร์พูลยอมจ่าย แต่ถึงจุดๆหนึ่งนักเตะกลับตัดสินใจเลือกอาร์เซน่อล
3
เอียน อายร์ เล่าว่าลิเวอร์พูลพยายามอย่างมากที่จะดึงอเล็กซิสแต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งมันมาจากการที่มีความพยายามไม่เพียงพอ
ในรายของเยฟเฮน โคโนเปลียนก้า ปีกยูเครน ก็เช่นกัน ลิเวอร์พูลตกลงข้อเสนอส่วนตัวและวางแพลนตรวจร่างกายเรียบร้อย แต่เมื่อถึงเวลาจริงก็ไม่สามารถปิดดีลได้ทันในวันสุดท้ายของตลาด
ถึงคราวที่ร็อดเจอร์ส เดินออกไปจากแอนฟิลด์ เจอร์เก้น คล็อปป์ ถูกตั้งแต่ทันที และดูเหมือนว่าจิ๊กซอว์ชิ้นนี้คือชิ้นสำคัญที่ทีมหายไป
คล็อปป์ เข้ามาพร้อมกับสร้างความหวัง, ความเชื่อ ให้กับลิเวอร์พูล ด้วยดีเอ็นเอที่เป็นนักสู้ตามแบบฉบับคนเยอรมัน ความทะเยอทะยาน คือสิ่งที่เห็นได้จากตัวคนๆนี้
เขาสามารถดึงดูดให้นักเตะที่ทีมสนใจอยากเข้ามาร่วมงานด้วย ลองเปรียบเทียบกรณีระหว่าง อเล็กซิส ซานเชซ กับ เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ สิ หากคล็อปป์อยู่ตอนนั้นมันอาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง
คล็อปป์ยืนยันหนักแน่นว่า หากไม่ได้ฟาน ไดค์ เขาก็จะไม่หาใครเข้ามาแทน เขาพร้อมที่จะรอกับคนที่เขาคิดว่าเป็นคนที่เหมาะสม
ตลอดสามปีที่ผ่านมา ลิเวอร์พูล พัฒนาขึ้นมากในการดึงนักเตะที่ตัวเองต้องการ ซึ่งเงินที่ใช้มันมาจากรายได้จากงบการเงินที่ขยายตัวรวมถึงการได้เข้าเล่นบอลยุโรป จุดเริ่มต้นจากที่ได้กลับไปเล่นบอลยุโรปอีกครั้ง จากยูโรปา ไปยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และได้เข้าชิงชนะเลิศ ผู้จัดการทีมทั้งหมด ทั้งเคนนี่ ดัลกลิช, ร็อดเจอร์ส จนมาถึง คล็อปป์ ก็ล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สโมสรมีถึงทุกวันนี้ได้
เกมปิดซีซั่นกับวูล์ฟแฮมป์ตัน เฮนรี่ เดินทางเข้ามาชมเกมที่แอนฟิลด์ แม้เขาจะไม่ได้เห็นทีมยุติการรอคอยแชมป์ลีก 29 ปี แต่เขาก็เดินผ่านเมน สแตนด์ ที่ FSG ลงทุนด้วยเงิน 100 ล้านปอนด์ ด้วยความภาคภูมิใจ
ลิเวอร์พูลกำลังเดินหน้าไขว่ขว้าความสำเร็จ โดยไม่ต้องขุดเรื่องราวในอดีตไว้เป็นข้ออ้าง
อารมณ์เศร้าจากการพลาดแชมป์ลีกมันอาจไม่ได้อยู่ในพจนานุกรมของความผิดหวังของเหล่าชาวลิเวอร์พูลเท่าไหร่นัก แล้วมันถูกซับความรู้สึกนั้น เมื่อลิเวอร์พูลเถลิงบัลลังก์แชมป์ยุโรป
อย่างไรก็ตาม เฮนรี่ พูดไว้ว่าการคว้าแชมป์ยุโรปได้มันไม่สามารถลดทอนความผิดหวังจากแชมป์ลีก ซึ่งสโมสรจะเดินหน้าต่อไปในซีซั่นหน้า
ทุกสิ่งที่ จอห์น เฮนรี่ และ FSG บ่มเพาะไว้ มันเป็นผลตอบแทนแก่แฟนบอลทุกคนที่ร่วมกันเดินบนถนนเส้นนี้ เส้นที่(เดอะ ค็อป)ไม่เคยรู้สึกเดียวดาย
ปล. บทความต่อไปเป็นเรื่องของเอียน เกรแฮม ซึ่งผมเคยเขียนไว้บนเว็บไซต์ Siamsport จะนำมารีไรท์มาให้อ่านอีกทีนะครับ
#FSG #JohnWHenry #TakeOver #Liverpool
Ref. TheGuardian, Mirror, Telegraph
Photo Twitter
2 บันทึก
11
1
2
11
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย