5 ก.ค. 2019 เวลา 07:15 • ธุรกิจ
ข้อควรระวังของ P/E Ratio
P/E หรือ Price to Earning เป็นอัตราส่วนที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อวัดความถูกแพงของหุ้นนั้นๆ เพราะความสะดวกรวดเร็วในการหารด้วยการเอาราคาหุ้นหารกำไรต่อหุ้น
1
อย่างไรก็ตามการใช้ P/E นั้นมีข้อควรระวังหลายๆอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญไม่ค่อยพูดถึง และหากนักลงทุนใช้โดยไม่รู้ถึงสิ่งเหล่านี้ อาจจะขาดทุน
แบบงงๆได้
Source: CorporateFinanceInstitute.com
วันนี้เพจลงทุนเกมจะพาทุกคนไปรู้จัก P/E ให้มากขึ้น
เรารู้ดีกันว่าส่วนประกอบของ P/E คือราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น ซึ่งส่วนหลังนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหา
เหตุผลอย่างแรกคือ กำไรที่ใช้คำนวณเป็นแค่ผลประกอบการในอดีต อาจจะเป็นเมื่อปีที่แล้วหรือไตรมาสล่าสุด หุ้นที่มี pe ต่ำอาจจะกลายเป็นหุ้น pe สูงทันทีที่บริษัทประกาศผลประกอบการรอบถัดไปออกมาแย่กว่ารอบที่แล้ว เนื่องจากกำไรที่เป็นตัวหารในสูตร pe มีค่าต่ำลง
1
เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับผมเลยคือหุ้น SPRC ซึ่งตอนนั้นผมเห็นว่ามี pe ต่ำที่สุดในกลุ่มโรงกลั่น แถมยังมี Dividend yield สูงที่สุดอีกด้วย จึงรีบทำการเข้าซื้อโดยไม่ได้ศึกษาพื้นฐานของบริษัท ปรากฎว่าในปีนั้นบริษัทมีการปิดซ่อมโรงกลั่นในรอบหลายๆปีตามแผนงาน รวมถึงราคาน้ำมันที่ต่ำลงในช่วงนั้น ทำให้เมื่อผลประกอบการออกมา pe เพิ่มขึ้นไปสูงถึงประมาณ 20 เท่า
ราคาหุ้นลง แต่ PE กลับสูงขึ้น
ในทางกลับกัน หุ้น pe สูงก็สามารถกลายเป็นหุ้น pe ต่ำได้เช่นกัน ถ้าผลกำไรเติบโตในอัตราที่สูงพอ
เหตุผลที่สองคือ กำไรที่ใช้เป็นแค่ ”กำไรทางบัญชี” ซึ่งรวมเอาตัวเลขที่ไม่สะท้อนถึงผลประกอบการจริงเอาไว้เช่น การเสื่อมค่าของ Goodwill ที่ไม่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานแต่ทำให้กำไรน้อยลง หรือ การเร่งส่งสินค้าเมื่อใกล้หมดรอบบัญชีเพื่อทำให้สามารถบันทึกรายได้และกำไรสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง
Goodwill ที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินงานกลับมีผลต่อกำไรทาง​บัญชี​
แถมผู้บริหารยังมีวิธีการมากมายที่สามารถปรับเปลี่ยนกำไรให้สวยขึ้นและไม่ตรงกับผลประกอบการที่แท้จริงได้ในระดับนึง หากกำไรงวดไหนถูกปรับให้สูงขึ้นกว่าความเป็นจริง สิ่งที่ตามมาคือกำไรในรอบบัญชีต่อไปจะต่ำลง
1
ตัวอย่างวิธีที่กล่าวถึงเช่น การเปลี่ยนวิธีการบันทึกมูลค่า inventory (average/FIFO) ทำให้ต้นทุนสินค้า (Cost of goods sold) ที่บันทึกต่ำลงและมีกำไรสูงขึ้น การเก็บสินทรัพย์ต่างๆไว้ขายเพื่อเพิ่มกำไรเมื่อต้องการ การเปลี่ยนสมมติฐานของสินทรัพย์ เช่น ปรับให้เครื่องจักรมีอายุการใช้งานยาวขึ้น หรือมูลค่าหลังหมดอายุการใช้งาน (Salvage Value) สูงขึ้น ซึ่งทั้งคู่มีผลให้ค่าเสื่อมในแต่ละรอบบัญชีต่ำลง และกำไรก็สูงขึ้นเป็นต้น
ในทางกลับกันกำไรก็อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงได้สำหรับบางบริษัท เช่นบริษัทที่มีรายได้จากการ Subscription เช่น Netflix ที่เมื่อเรา Subscribe บริษัทจะต้องไปบันทึกเป็น Deferred Revenue ในส่วนหนี้สินก่อน และค่อยๆบันทึกรายได้ในแต่ละปี ซึ่งทำให้รายได้ต่ำกว่าความเป็นจริงและมีผลต่อกำไรต่อหุ้น
Netflix แทบจะไม่มีกำไรทางบัญชีเลยทั้งๆที่รายได้และเงินสดสูงมาก
สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวเลขกำไรสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่มีวิธีการใดที่ทำให้เราสามารถรู้ได้อย่างรวดเร็วเลยว่าบริษัทที่สนใจอยู่ในกรณีไหนนอกจากอาศัยประสบการณ์ของนักลงทุนเองและการศึกษาบริษัทนั้นๆให้ละเอียดขึ้น การที่แต่ละบริษัทมีวิธีทางบัญชีต่างกัน ทำให้การเปรียบเทียบด้วย pe ไม่ดีเท่าที่ควร
แต่ถึงอย่างนั้นการดู pe ก็ยังเป็นวิธีเบื้องต้นที่ดีในระดับนึง เพียงแต่การเปรียบเทียบต้องทำกับบริษัทที่มีตัวธุรกิจคล้ายกัน
1
เราไม่สามารถดูแค่หมวดอุตสาหกรรมที่ถูกจัดโดย SET ได้ ยกตัวอย่างเช่น MINT ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรม Food & Beverage แต่ตัวรายได้และกำไรสุทธิส่วนใหญ่ (64% และ 72% ตามลำดับ) กลับมาจากธุรกิจโรงแรม ซึ่ง pe ควรจะถูกเปรียบเทียบกับโรงแรม
1
MINT revenue & net profit
ทำให้บางบริษัทที่ทำธุรกิจหลายๆอย่าง รวมถึง Holding Company อาจจะหาคู่แข่งโดยตรงเพื่อมาเปรียบเทียบ pe ยาก
แล้วเราควรดูที่อะไรล่ะ?
ข่าวร้ายคือในโลกของการลงทุน ไม่มีอัตราส่วนอะไรที่สามารถใช้ได้กับทุกๆธุรกิจ เราจึงควรจะรู้จัก metrics ต่างๆให้มากที่สุดเพื่อจะได้นำไปใช้วิเคราะห์หุ้นในแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง
ถ้าเราชอบ ratio แบบ pe อาจจะไปดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ EV/EBITDA ซึ่งเป็นการเทียบระหว่างมูลค่าบริษัท (Enterprise Value) ที่มาจาก Market Cap. + Net Debt แล้วนำมาหารด้วย EBITDA ซึ่งจะคล้ายกับ P/E ตรงที่เทียบมูลค่าMarket Cap. กับกำไร
แต่ในที่นี้จะเป็นมูลค่าโดยรวมของบริษัทเทียบกับกำไรก่อนหักค่าเสื่อม (ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประเมินอายุการใช้งานของสินทรัพย์) ดอกเบี้ย และภาษี พูดให้เห็นภาพคือ EV/EBITDA จะทำให้บริษัทที่นำมาเปรียบเทียบมีลักษณะ”ใกล้เคียงกัน”มากขึ้น
Source: CorporateFinanceInstitute.com
หรือเราอาจจะไปดู metrics ที่เกี่ยวกับเงินสดเช่น
% change in net working capital / % revenue growth เพื่อดูว่าการเติบโตของรายได้นั้นต้องการเงินสดสำหรับใช้ในการดำเนินงาน (working capital) มากขึ้นเท่าไร หรืออาจจะเป็น Price / CFO, Price / Free cash Flow และอื่นๆ
นอกเหนือจากนี้ยังมีอัตราส่วนเฉพาะ industry เช่น Revenue per available seat mile (RASM), Cost per available seat mile (CASM) ซึ่งเราอาจจะปรับใช้เป็น Price / (RASM-CASM) เพื่อเปรียบเทียบสายการบินด้วยกัน หรือการเปรียบเทียบ revenue / OPD หรือ IPD สำหรับโรงพยาบาล เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าจะมี ratio ต่างๆเยอะมาก ซึ่งมันทำให้การวิเคราะห์หุ้นโดยละเอียดนั้นเป็นไปได้ยาก นักลงทุนหลายๆคนจึงยังใช้ PE ratio เป็นตัวคัดกรองหุ้นเบื้องต้น
ซึ่งมันก็มีประสิทธิภาพในระดับนึงแต่ก็มีข้อเสียมากมายตามที่เราเอามาฝากกันในวันนี้
Reference:
โฆษณา