7 ก.ค. 2019 เวลา 03:05 • ธุรกิจ
Case Study: Recovery and Subrogation & Knock for Knock
วันนี้ขอยืมเรื่องจากพี่ชายผมเอง มาแชร์เป็นประสบการณ์ให้เป็นเคสตัวอย่าง
เรื่องมีอยู่ว่า กรมธรรม์รถยนต์ประเภท 1 เริ่มคุ้มครอง 1 มกราคม 2561 และสิ้นสุด 1 มกราคม 2562 (ช่วงเวลาคุ้มครองสมมติ) ได้แจ้งต่ออายุกรมธรรม์ของบริษัท A ผ่านทางบริษัท Broker ที่เป็นนายหน้าของบริษัทประกันภัย A วันที่ 27 ธันวาคม 2561 จากนั้นรถเกิดอุบัติเหตุวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยจากวันที่แจ้งต่ออายุกรมธรรม์จนถึงวันที่เกิดเหตุยังไม่ได้ชำระเงินค่าเบี้ยประกันและยังไม่ได้รับกรมธรรม์ฉบับใหม่ รถประกันเป็นฝ่ายผิด รถคู่กรณีมีกรมธรรม์บริษัท A เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างติดต่อบริษัท A ทางบริษัทแจ้งว่าไม่พบข้อมูลกรมธรรม์ใหม่ของรถประกัน พบเพียงแต่กรมธรรม์เก่าที่สิ้นสุดความคุ้มครองไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 แต่ถ้าลูกค้ายืนยันว่าได้ทำการแจ้งต่ออายุกรมธรรม์ไปแล้ว บริษัทจะส่งพนักงานไปตรวจสอบที่เกิดเหตุให้ สรุปว่ามีพนักงานเคลมของบริษัท A ไปที่เกิดเหตุ 2 คน จากการแจ้งเหตุของรถทั้ง 2 คัน หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน ทางเจ้าของรถประกันได้รับจดหมาย ‘เรียกร้อง’ ค่าเสียหายของรถคู่กรณี โดยฝั่งคู่กรณีได้นำรถเข้าซ่อมเรียบร้อยแล้ว และบริษัท A ได้จ่ายค่าซ่อมไปแล้ว
คำถามที่ได้รับมีดังนี้
1. ในวันที่เกิดเหตุ เนื่องจากยังไม่ได้ชำระค่าเบี้ยประกัน ถือว่าประกันขาดหรือไม่?
2. เหตุใดจึงได้รับจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท A? แล้วจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป?
คำถามแรก ในวันที่เกิดเหตุไม่ถือว่าประกันขาด การแจ้งต่ออายุก่อนวันสิ้นสุดความคุ้มครองของกรมธรรม์ มีผลให้กรมธรรม์ฉบับใหม่คุ้มครองต่อเนื่องทันที ไม่สำคัญว่าจะชำระค่าเบี้ยประกันเมื่อไหร่ สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องแจ้งกับบริษัทหรือตัวแทน/Broker ที่เป็นนายหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายของบริษัท หลักฐานใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น เทปบันทึกเสียง email หรือ chat record ใน smart phone สามารถนำมาใช้ยืนยันได้ทั้งหมด ในกรณีที่บริษัทประกันภัยจะปฏิเสธความรับผิดชอบเนื่องจากกรมธรรม์ยังไม่คุ้มครอง โดยตามกฎหมายแล้ว เพียงแค่การ ‘แสดงเจตจำนง’ ที่จะต่ออายุกรมธรรม์ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้กรมธรรม์ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในทันที ถึงแม้ว่าเราจะชำระค่าเบี้ยประกันหลังจากกรมธรรม์ฉบับเก่าสิ้นสุดความคุ้มครองไปแล้วเป็นเดือนก็ตาม บริษัทประกันภัยจะสามารถปฏิเสธเคลมได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เอาประกันปฏิเสธที่จะชำระค่าเบี้ยประกัน กรมธรรม์ดังกล่าวจึงจะถือว่าเป็นโมฆะ และไม่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัย
คำถามที่สอง สาเหตุที่ได้รับจดหมายเรียกร้องจากบริษัท A เนื่องจากเป็นความผิดพลาดในการทำงานของพนักงาน เนื่องจากตอนที่เกิดเหตุได้แจ้งทางบริษัทและพนักงานแล้วว่า ได้ทำการต่ออายุกรมธรรม์ไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเกิดอุบัติเหตุ พนักงานเคลมควรจะลงรายละเอียดในรายงานและในระบบ เพื่อให้ส่วนงานอื่นๆ ที่ต้องรับเคลมไปทำต่อได้รับทราบ(ส่วนที่ส่งพนักงานออกไป 2 คน ตรงนี้ถือว่าผิดพลาดด้วย เพราะสามารถส่งพนักงานเคลมไปคนเดียวก็พอแล้ว เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและอาจทำให้กระทบบริการกับเคลมอื่นเพราะพนักงานไม่พอ) โดยปกติแล้วเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสอบอุบัติเหตุ ณ ที่เกิดเหตุแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะรอให้ลูกค้านำรถเข้าซ่อมที่อู่หรือศูนย์ เมื่อมีการเสนอราคาค่าซ่อมมาที่บริษัท ฝ่ายราคาจะทำการตรวจสอบและอนุมัติราคา โดยจะทำการตั้งสำรองตัวเงิน(reserve)ในระบบ 2 ส่วน(กรณีที่ลูกค้าเป็นฝ่ายถูก) คือ สำรองค่าซ่อม(สำหรับจ่ายอู่หรือศูนย์) และสำรองเงินที่จะทำการเรียกร้อง(รับเงินจากคู่กรณี) ในเคสนี้ เมื่อพนักงานไม่ได้ลงรายละเอียดว่ามีการต่ออายุกรมธรรม์ ทำให้เมื่อฝ่ายราคาอนุมัติราคาแล้ว จึงตั้งสำรองในส่วนของเงินเรียกร้องจากคู่กรณีที่ไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจ เคลมจะถูกส่งต่อไปที่ฝ่ายเรียกร้องเพื่อออกจดหมายไปถึงคู่กรณีหลังจากที่รถซ่อมเสร็จแล้ว(ต้องมีใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีเรียบร้อยแล้ว)ให้ชำระค่าซ่อมให้กับบริษัท แต่ถ้าหากมีการลงรายละเอียดไว้ว่า มีการต่ออายุกรมธรรม์เรียบร้อยแล้ว ทางฝ่ายเรียกร้องก็จะไปตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ เมื่อพบว่ารถทั้ง 2 คันมีประกันอยู่ที่บริษัท A ทั้งคู่ ฝ่ายเรียกร้องก็จะไม่ออกจดหมายเรียกร้องค่าเสียหาย
เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแบบนี้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ติดต่อไปที่ฝ่ายเรียกร้องของแผนกสินไหมทดแทนของบริษัท A แจ้งว่าเราได้รับจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายเลขเคลมนี้ เราได้ต่ออายุกรมธรรม์กับบริษัท A แล้ว เลขที่กรมธรรม์คือ... ช่วยตรวจสอบข้อมูลใหม่และยกเลิกจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้ด้วย เพราะเรามีกรมธรรม์อยู่ที่บริษัทคุณเหมือนกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเรียกร้องต่อกัน(เพราะทำไปก็เท่ากับเรียกร้องบริษัทตัวเอง) แต่หากเราไม่ได้แจ้งบริษัทให้ยกเลิกจดหมายดังกล่าวและเราไม่ได้ชำระเงิน จะกลายเป็นว่า เราอยู่ในสภาพที่ติดหนี้บริษัทและสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้
แล้วนอกจากเคสนี้แล้ว การเรียกร้องในขั้นตอนสินไหมทดแทนของประกันรถยนต์มีอะไรอีกบ้าง?
1. การเรียกร้องหรือถูกเรียกร้องจากบุคคลธรรมดา เกิดขึ้นเมื่อรถที่เป็นฝ่ายถูกมีประกัน(ภาคสมัครใจประเภทที่คุ้มครองรถประกัน) แต่รถที่เป็นฝ่ายผิดไม่มีประกันภาคสมัครใจ(เหมือนการเข้าใจผิดในเคสตัวอย่าง) ในกรณีที่ไม่มีประกันทั้งสองฝ่าย ผู้ครอบครองรถฝ่ายถูกจะต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีเอง แต่เมื่อรถฝ่ายถูกมีประกัน บริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถให้กับลูกค้า ซึ่งบริษัทจะได้สิทธิในการเรียกร้อง เรียกว่า ‘การสวมสิทธิ’ แทนผู้เอาประกันไปเรียกร้องค่าเสียหายกับฝ่ายคู่กรณีได้ บริษัทก็จะออกจดหมาย(ในทางกฎหมายถือว่าเป็นจดหมายทวงหนี้)และโทรศัพท์ติดต่อให้มาชำระค่าเสียหายกับบริษัท
ในทางกลับกัน หากรถประกันเป็นฝ่ายผิด แต่รถคู่กรณีไม่มีประกันภาคสมัครใจ ผู้ครอบครองรถคู่กรณีก็จะมาเรียกร้องค่าเสียหายรวมถึงค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกับบริษัท โดยการเรียกร้องค่าซ่อมจะต้องทำหลังจากรถซ่อมเสร็จแล้วเช่นกัน หรือหากเป็นกรณีที่ทรัพย์สินอื่นเสียหาย เช่น รถประกันไปชนบ้าน อาคาร หรือทรัพย์สินใดของทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือหน่วยงานราชการ บริษัทประกันภัยก็จะถูกเรียกร้องค่าเสียหายเช่นกัน
2. การเรียกร้องบริษัทประกันภัยด้วยกัน จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
2.1 กรณีที่ไม่เข้าสัญญา Knock for Knock(KFK) บริษัท เกิดขึ้นเมื่อรถทั้ง 2 คัน มีประกันภาคสมัครใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่ไม่เข้าสัญญา KFK บริษัทของรถที่เป็นฝ่ายถูกก็จะทำการสวมสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทประกันของคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิด คล้ายๆ กับ ข้อ 1. เพียงแต่การเรียกร้องระหว่างบริษัทประกันด้วยกันเอง จะไม่ได้ออกจดหมายเป็นฉบับๆ ทุกๆ เคลม แต่จะมีการ clearing กันส่วนใหญ่เดือนละครั้ง โดยต่างฝ่ายต่างรวบรวมเคลมที่มีการซ่อมเรียบร้อยแล้ว แล้วส่งรายละเอียดและยอดเงินรวมทั้งหมดไปให้อีกบริษัทหนึ่ง ส่วนการชำระเงินก็จะใช้วิธีการ offset หรือ การหักลบยอดค้างชำระของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น เดือนนี้บริษัท A เรียกร้องบริษัท B ทั้งหมด 1,000,000 บาท ส่วนบริษัท B เรียกร้องบริษัท A ทั้งหมด 900,000 บาท ทั้ง 2 บริษัทก็จะลงบัญชีว่าได้รับเงินและชำระเงินไปตามจำนวนจริง แต่ในทางปฏิบัติบริษัทก็จะชำระเงินให้บริษัท A 100,000 บาท
2.2 กรณีที่เข้าสัญญา Knock for Knock สัญญา KFK คือ ข้อตกลงระหว่างบริษัทประกันภัยด้วยกันเอง ที่จะไม่ทำการเรียกร้องกันหากอุบัติเหตุนั้นเข้าข่ายตามที่ระบุในสัญญา เช่น รถ 4 ล้อที่มีประกันรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 ต่อให้ฝ่ายหนึ่งเป็น eco car ค่าเสียหายหลักหมื่น อีกฝ่ายหนึ่งเป็น super car ค่าเสียหายหลักล้าน ถึงแม้ว่าฝ่าย super car จะเป็นฝ่ายถูก บริษัทก็จะไม่ทำการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากอีกบริษัทหนึ่ง หรือ รถทุกประเภทที่มีประกันรถยนต์ภาคสมัครใจประเภท 1 จะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากกัน ถ้าผมจำไม่ผิด สัญญา KFK ตัวที่เป็นรถ 4 ล้อน่าจะใช้เกือบทุกบริษัทแล้ว แต่ตัวที่เป็นรถทุกประเภทจะเป็นสัญญาเฉพาะระหว่างบางบริษัทเท่านั้น(เหมือนเป็นสัญญาทวิภาคี) เหตุที่มีการทำสัญญา KFK ระหว่างบริษัทประกันภัยด้วยกัน เนื่องจากแต่ละบริษัทเล็งเห็นว่า การเรียกร้องระหว่างบริษัทประกันภัยด้วยกันนั้น โดยเฉลี่ยแล้วก็จะจ่ายและรับด้วยจำนวนเงินที่ไม่แตกต่างกันมากนัก และก็ทำการชำระด้วยวิธี offset อยู่แล้ว แต่ต้องใช้พนักงานทำข้อมูลทุกๆ เดือนเป็นจำนวนมาก เพื่อส่งจดหมายเรียกร้องให้ทุกๆ บริษัท จึงมีการตกลงทำสัญญา KFK ขึ้น เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาในการทำงานลง
รู้หรือไม่? ในซองกรมธรรม์ที่เราได้รับจากบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่ มีเอกสาร KFK ใส่มาให้ด้วย
ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราได้รับกรมธรรม์มา แทบจะไม่มีใครเคยเปิดดูด้านในเลยว่ามีอะไรบ้าง อย่างมากก็เปิดเอาหางพรบ.ไปจ่ายภาษีเท่านั้น แต่ในซองกรมธรรม์ยังมีเอกสาร KFK ใส่มาให้ด้วย แล้วเอกสารนี้ใส่มาให้เราเพื่ออะไร?
ในกรณีที่เราเกิดอุบัติเหตุแล้วมีธุระเร่งด่วนไม่สะดวกที่จะรอพนักงานเคลม หากคู่กรณีมีประกันภาคสมัครใจประเภท 1 และเราสามารถตกลงกับคู่กรณีได้ทันทีว่าใครเป็นฝ่ายผิดหรือถูก เราสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามบริษัทประกันของเราได้ว่า รถเรากับรถคู่กรณีเข้าสัญญา KFK หรือไม่ หากใช่ เราและคู่กรณีสามารถกรอกรายละเอียดในเอกสาร KFK เช่น ชื่อผู้ขับขี่ ทะเบียนรถ หมายเลขกรมธรรม์ และระบุฝ่ายผิดฝ่ายถูก พร้อมกับเซ็นชื่อ แล้วแลกเอกสาร KFK กันได้เลย จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายสามารถนำเอกสาร KFK ที่ได้รับจากคู่กรณีไปแจ้งเคลมกับบริษัทประกันของตนเองได้เลย ซึ่งเรื่องนี้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่กล้าทำ ทำไม่เป็น กลัวประกันไม่รับผิดชอบ เรื่องนี้บอกได้เลยว่าไม่ต้องกังวลครับ ทุกบริษัทรับผิดชอบแน่นอน แถมยังสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลารอพนักงานเคลมมาที่เกิดเหตุด้วย ลองทำกันดูครับ
สำหรับใครที่สะดวกอ่านใน Facebook ครับ
โฆษณา