7 ก.ค. 2019 เวลา 18:09 • การศึกษา
"ทำไมอารมณ์มักอยู่เหนือเหตุผล ?"
ทำไมอารมณ์มักอยู่เหนือเหตุผล ?
เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมอารมณ์มักอยู่เหนือเหตุผล?
สัญญากับตัวเองว่าจะเลิกเล่นเกม แต่ตื่นเช้ามาก็โหลดมาเล่นใหม่
สัญญาว่าจะไม่กินของทอด พอตกเย็นก็จัดไก่ KFC
สัญญาว่าจะวิ่ง3กิโล แต่สุดท้ายก็นอนดูทีวี มันเกิดอะไรขึ้น?
ตัวก็ตัวเรา คำพูดก็คำพูดเรา ทำไมเราถึงทำไม่ได้?
ทำไมตอนเราพยายามสู้กับอารมณ์โกรธ อารมณ์แค้น ขี้เกียจ แล้วหลายครั้งเราก็สู้ไม่ได้และต้องจำนนในที่สุด? ทำไมอารมณ์ถึงแข็งแกร่งขนาดนี้?
จากตอนที่แล้วผมเล่าถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงชอบคนที่สวยๆหล่อๆ เห็นแล้วก็ต้องมอง(บ้าง)ไม่มากก็น้อย
เหตุผลคร่าวๆก็เป็นเรื่องของสมองที่ต้องการมองหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี เพื่อได้ยีนที่ดีที่สุดและโอกาสที่ลูกเกิดมาแข็งแรงที่สุด ผ่านหน้าตาที่สวยหล่อดูดี
ฮอร์โมนเพศเยอะๆ ภูมิคุ้มกันลูกก็จะดี แต่เรารู้แล้วว่ามันใช้ไม่ได้กับโลกปัจจุบันนี้เพราะสมองเราเหมาะกับยุคแสนปีที่แล้วมากกว่า
พอโลกเปลี่ยนเร็วแล้วสมองเปลี่ยนไม่ทัน นิสัยหลายๆอย่างก็ดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผล
วิวัฒนาการ
ซึ่งผมพูดเรื่องสมองมาพอสมควร หลายๆท่านก็อาจจะสงสัยและมองไม่เห็นภาพว่า ที่ผมพูดถึงมันอยู่ตรงไหน อะไรยังไงบ้าง จึงเป็นเหตุผลที่ผมเขียน EP ที่ 7 ด้วยเรื่องนี้ครับ กว่าจะเป็นสมองเรา...
ก่อนจะไป ทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่ามนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาหลายล้านปี แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ตัวเราที่วิวัฒนาการ สมองของเราก็เช่นกัน...
แต่ถ้าจะย้อนไปแค่ 4 หรือ 5 ล้านปีคงไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน งั้นผมขอพาทุกคนย้อนกลับไปประมาณเกือบสี่ร้อยล้านปีที่แล้ว ตอนที่เรายังมีบรรพบุรุษร่วมกันกับ"ปลา"
(จริงๆจุดเริ่มต้นมันมีก่อนหน้านั้นแต่ผมขอเริ่มที่ปลาซึ่งเราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว)
ในเกือบสี่ร้อยล้านปีที่แล้วส่วนหนึ่งในสมองเราก็คือสมองปลา ทำหน้าที่ไม่ต่างกันเท่าไหร่ พวกฮอร์โมนหรือโครงสร้างต่างๆถ้ามันดีก็ถูกใช้ต่อ ถ้าไม่ดีก็ถูกคัดออกไป
จนผ่านมาอีกหลายล้านปี จากที่เป็นปลาก็ค่อยๆวิวัฒนาการเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่นกบ เขียด ตอนนั้นสมองปลาก็พัฒนาจากปลาไปเป็นสมองสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
พอผ่านมาอีกหลายล้านปี จากสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำก็วิวัฒนาการไปเป็นสัตว์เลื้อยคลาน(Reptile)
ไดโนเสาร์
สมองสัตว์เลื้อยคลานในตอนนั้นก็คล้ายกับส่วนในสุดของสมองเรามากๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กิ้งก่า ไดโนเสาร์ หรือจระเข้ก็ตาม
พอเวลาผ่านไปเมื่อหมดยุคไดโนเสาร์ ก็เกิดเป็นยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(Mammal) สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็วิวัฒนาการต่อจากสมองสัตว์เลื้อยคลาน ด้วยการโปะทับขึ้นไป
จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็วิวัฒนาการต่อไปเป็นสัตว์จำพวกลิง สมองของลิงก็พัฒนาแล้วก็ไปสร้างทับสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
สุดท้าย จากสมองลิงก็กลายมาเป็นสมอง"เรา"
ถ้าดูจาก Timeline จะเห็นว่าจากปลา ไปกบเขียด จากกบเขียดไป ไดโนเสาร์ จระเข้ จากไดโนเสาร์ จระเข้ไปสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย จากนั้นก็ไปเป็นลิง เหนือลิงขึ้นไปก็มีแค่"เรา"
จะเห็นได้ว่าสมองของสัตว์ทุกชนิดบนโลกไม่ได้สร้างใหม่ สมองวัวก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นของวัว สมองเราก็ไม่ได้เริ่มจากเรา
แต่สมองวิวัฒนาการมาเป็นลำดับตามช่วงระยะเวลาและร่างกายของสัตว์นั้นๆที่เปลี่ยนไป แสดงว่าสัตว์ต่างๆน่าจะมีโครงสร้างคล้ายๆกันอยู่ ส่วนนั้นคืออะไร และมีอะไรบ้าง?
หน้าตาสมองคร่าวๆ
จากแผนผังของสมองคร่าวๆนะครับ หน้าตามันก็จะเหมือนกับ"ไอศกรีม"ที่วางอยู่บนกรวย ที่เรา(ผม)ชอบกินตอนเด็กๆ
มีกรวยเป็นฐาน โปะด้วยไอศกรีมก้อนล่างและก้อนบน ซึ่งทั้งหมดมีสองก้อนแล้วค่อยๆล้นมาทางด้านหน้า ตรงส่วนฐานกรวยก็คือ"ก้านสมอง"
ส่วนนี้ของเราทำหน้าที่เหมือนสมองของกิ้งก่า(Reptile) หน้าที่ของสมองส่วนคือทำทุกอย่างที่จะเป็นกับการมีชีวิตอยู่ การเต้นของหัวใจ การหายใจ
ย่อยอาหาร ต้องการทางเพศ
ถ้าให้เทียบก็เหมือนลาสเวกัส สว่างไสวทั้งวันทั้งคืนเพราะต้องทำงาน
ตลอดเวลา
ถัดมาคือไอศกรีมก้อนล่าง สมองส่วนนี้ของเราทำงานเหมือนสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป(Mammal)
หน้าที่หลักๆคือ"อารมณ์" ความรัก ความแค้น ความโกรธ ความกลัว ความสงสาร ความรู้สึกผูกพัน ความจำ รวมๆก็คือระบบ Limbic system ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่างๆ
ถามว่าสมองของ Reptile ต่างจากสมองของ Mammal ยังไง อยากให้ท่านผู้อ่านลองสังเกต จระเข้ และ สุนัขที่ผมส่งเป็นตัวแทนลงมา
ปกติถ้าจระเข้หิว มันก็จะดุร้ายและออกมาหาอาหาร พอมันกินอิ่มมันก็จะนอนอยู่เฉยๆ หรือบางครั้งถ้าลูกมันฟักออกมา บางทีมันกินลูกของมันซะงั้น ไม่ได้เศร้าหรือเสียใจกับสิ่งที่มันทำลงไปเท่าไหร่เลย
แต่พอมาดูที่สุนัข คนที่เลี้ยงสุนัขจะรู้สึกถึงอารมณ์ของสุนัขดี เวลามันกระโดดหรือวิ่งมาหาเจ้าของที่นานๆเจอกันที เราก็พอดูออกว่ามันดีใจ หรือถ้าใครมาอุ้มลูกมันไปมันก็จะร้องครวญคราง เราก็พอดูออกว่ามันเสียใจ
สิ่งที่แตกต่างกันก็คือส่วนของ"อารมณ์"นั่นเอง...
Prefrontal cortex
มาถึงก้อนบนสุด ส่วนนี้เป็นส่วนที่พบในสมองของเราและสมองของลิงมีชื่อว่า Neocortex หรือเปลือกสมองคำว่า Neo แปลว่าใหม่ Cortex แปลว่าหุ้ม รวมทั้งสองคำก็คือ"ส่วนที่หุ้มที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่"
ที่เป็นแบบนั้นเพราะสมองส่วนบนสุดนี้ มาทีหลังแถมพบได้แค่ในลิง ซึ่งในลิงไม่มีหางก็พัฒนาไปมาก(ชิมแปนซี) ส่วนในลิงเหนือลิงอย่างเรานี่ยิ่งแล้วใหญ่ไปไกลโขเลย
สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ในเรื่องของเหตุและผล การตัดสินใจต่างๆ รวมถึงการเข้าสังคม
อย่างที่ผมบอกว่าสมองส่วนนี้เราไปไกลมากโดยเฉพาะส่วนหน้าผากที่ชื่อว่า "Prefrontal cortex" เพราะถ้าเอามาเทียบกับชิมแปนซีนี่ทิ้งห่าง
ไปไกลมาก
เหตุผลก็เพราะสังคมเราซับซ้อนกว่า เราวางแผนมากกว่า เราคาดเดาผู้อื่นมากกว่า แถมเรายังยับยั้งชั่งใจมากกว่าเพื่อการอยู่ร่วมกันที่เป็นสันติสุข
หน้าที่หลักๆคือยับยั้งพฤติกรรมต่างๆให้อยู่ร่วมกันได้ สมองส่วนหน้าของเราจึงเหมือนกับเป็น CEO ของชีวิตเรานั่นเอง ...
1
อ่าวพอเข้าใจทั้งสามส่วนแล้วยังไงต่อหล่ะ เกี่ยวกับอารมณ์ที่มักเหนือกว่าเหตุผลยังไง?
คือแบบนี้ครับ กฎง่ายๆของสมองแต่ละชั้นของเราจะมีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือ พลังและความแข็งแกร่งจะแปรผันตรงกับความลึกของตำแหน่งและที่อยู่
ยิ่งอยู่ลึกยิ่งมีพลัง
เพราะวิวัฒนาการมาก่อนและอยู่มานานกว่า สมองของกิ้งก่า(Reptile)อยู่มาหลายร้อยล้านปี สัตว์เลื้อยคลานต่างๆมีชีวิตอยู่รอดได้ก็เพราะสมองส่วนนี้
แล้วสาเหตุที่แรงขับทางเพศมันแรงก็เพราะมันอยู่ชั้นล่างสุดนั่นเองครับ...
ข้อที่สองครับ ชั้นบนจะพยายามควบคุมชั้นล่างเสมอ ง่ายๆก็คือพยายามถ่วงดุลกัน เรารู้แล้วว่าสมองของกิ้งก่าเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานและการสืบพันธุ์
ส่วนสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่างๆ หิว โกรธ
รัก เกลียด
แต่หากจะไปแสดงท่าทีที่เกลียดหรือหมั่นไส้ก็ด่าเลย รู้สึกรักหรือชอบก็พุ่งเข้าไปผสมพันธุ์เลย หรือ ตัวเองหิวก็แย่งจากคนอื่นเลย มันก็คงอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ได้จริงไหมครับ
จึงต้องมีสมองส่วนที่อยู่บนกว่าที่เพิ่งวิวัฒนาการขึ้นมา"ใหม่" คอยมาคุมหรือยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่สมควรที่จะเกิดขึ้น
ช้างและควาญช้าง
ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับช้างกับควาญช้างนั่นแหละครับ พลังของช้าง(สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและกิ้งก่า) นั้นมีมากกว่าควาญช้าง(สมองเราสมองลิง)มากๆ
ส่วนใหญ่ช้างก็เดินไปตามทางที่ควาญช้างสั่งให้ไป แต่วันไหนที่ช้างตกมัน มันโกรธถึงขีดสุด แค้นถึงขีดสุด อารมณ์ทางเพศถึงขีดสุด มันก็กว่าที่ควาญช้างที่นั่งเป็น CEO จะคุมไหว
ก็เลยเกิดเหตุการณ์ตามที่ผมยกตัวอย่างเอาไว้ในย่อหน้าแรก ซึ่งก็คือตั้งใจว่าจะทำอะไรซักอย่างแต่ก็โดนอารมณ์ขัดตลอด
อยากลดความอ้วนแต่ก็หยุดกินของหวานไม่ได้ ตั้งใจว่าจะลบเกมสุดท้ายก็โหลดใหม่ หรือ "รู้"ว่าเงินไม่ค่อยจะมี แต่ก็ยังซื้อของมาดองเต็มตู้
หลายๆอย่างเกิดจากอารมณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น และหลายครั้งที่เราสู้มันไม่ไหวก็เพราะสมองส่วนอารมณ์ วิวัฒนาการมาก่อนสมองส่วนเหตุผล จึงมีพลังมากกว่านั่นเอง!
***อีกสักเล็กน้อย***
แล้วเราจะทำยังไงให้คุมอารมณ์ให้อยู่หมัด?
คำตอบก็คือ "ฝึกสมาธิครับ" ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำอะไรก็แล้วแต่ที่ช่วยให้จิตเรานิ่งได้
สิ่งนั้นจะเป็นการเทรนให้สมอง"CEO"ของเราเก่งขึ้น ถ้าตามหลักพุทธก็คือ"รู้"ว่ามันเกิดขึ้น แล้วก็ปล่อยมันไป ไม่ว่าสมองส่วนล่างๆจะโยนความคิดอะไรมาก็ตาม
แค่เรา"รู้"ให้ทันอารมณ์ แล้วฝึกแบบนี้บ่อยๆก็จะทำให้ CEO เราเก่งมากขึ้นเรื่อยๆครับ😁
#WDYMean
จากข้างบนจะเห็นว่าผมพูดถึงอารมณ์ต่างๆ มีทั้งโกรธ เครียด แค้น อาฆาต มาดร้าย แล้วอีกแบบก็คือ ดีใจ รัก มีความสุข ทำไมเราต้องมีอารมณ์สองแบบที่ต่างกันสุดขั้วด้วย ทำไมกันนะ
ทำไมเราถึงมีทั้งเครียดและผ่อนคลาย?และทำไมเครียดแล้วร่างกายอ่อนแอ?
...ตอนหน้ามีคำตอบครับ...
ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับ ep.7 ยังไงก็ขอบคุณมากๆเลยนะครับ สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้😉
#ขอบคุณที่อ่านกันจนจบนะครับบ 😁
#ถ้าชอบก็ฝากกด"Like"กด"Share"เป็นกำลังใจให้กัน
ด้วยนะครับ 😋
#และถ้าใครสนใจบทความสไตล์นี้ก็อย่าลืมกดติดตามกัน
ด้วยนะจ๊ะ ☺
#อ้างอิงจากหนังสือ"เรื่องเล่าจากร่างกาย"
#รูปภาพที่ใช้
โฆษณา