8 ก.ค. 2019 เวลา 11:04 • ความคิดเห็น
“เส้นทางนักกฎหมาย [Ep1 ทางที่เลือกเดิน]"
หลังจากที่แอดมินได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับข้อกฎหมายไปพอสมควรแล้ว วันนี้เลยอยากให้ผู้อ่านได้ผ่อนคลายความเป็นวิชาการลงบ้าง แอดมินจึงคิดว่าน่าจะนำเสนอบทความเกี่ยวกับเส้นทางการทำงานของนักกฎหมายให้ผู้อ่านหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษา หรืออาจใช้เป็นแนวทางในอนาคต หรือจะอ่านเพื่อความบันเทิงก็ได้ตามที่ใจท่านต้องการเลย
โดยการนำเสนอนั้น แอดมินขออนุญาตที่จะไม่ลงต่อเนื่องกัน โดยอาจจะลงสลับไปมากับเรื่องกฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศในการเขียนและการอ่านนะครับ
Cr. pixabay
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาชีพนักกฎหมายนั้นมีมากกว่าที่ผู้อ่านหลายคนจินตนาการไว้ ซึ่งแอดมินเชื่อว่าหลายคนจะติดภาพนักกฎหมายจากละคร หรือซีรี่ส์ ที่ส่วนใหญ่จะนำเสนอแต่การต่อสู้คดีกันในศาล และมีทนายความ อัยการ ผู้พิพากษา เป็นตัวละครหลักของเรื่อง (ที่แอดมินชอบมีหลายเรื่องมาก แต่ถ้าให้คัดในดวงใจเลยก็จะมีเรื่อง Suits กับ Better Call Saul [ซีรี่ย์ฝั่งอเมริกา], Love story in Harvard, Stranger [ซีรี่ย์ฝั่งเกาหลี] )
สำหรับประเทศไทยนั้น อาชีพนักกฎหมายได้แบ่งแยกประเภทออกไปอีกหลายแขนง เช่น นิติกรของหน่วยงานของรัฐ,
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์, เจ้าพนักงานคดีศาลปกครอง, นักกฎหมายกฤษฎีกา,
นักกฎหมายขององค์กรอิสระ เช่น ปปช. ปปส. ปปง. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน, พนักงานสอบสวน, DSI, ทนายความ, อัยการ, ผู้พิพากษา, ที่ปรึกษากฎหมายภายในบริษัท (in house lawyer), ที่ปรึกษากฎหมายภายนอก (law firm) เป็นต้น
(จริง ๆ น่าจะมีเยอะกว่านี้ แต่ขอยกมาเท่าที่นึกออกนะครับ)
แน่นอนว่า หากท่านต้องการเข้ามาวงการนี้ อย่างน้อยที่สุดคือ ท่านจะต้องจบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต แต่ทางเลือกในการประกอบอาชีพนักกฎหมายอาจมีน้อยมาก เนื่องจากหลายอาชีพต้องการคุณวุฒิเพิ่มเติม หรือมีประสบการณ์พิเศษ หรือมีใบอนุญาต จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพนั้นได้
แอดมินจึงขอเริ่มจากอาชีพยอดฮิตของนักกฎหมายก่อนเลย นั่นก็คือ "ทนายความ"
Cr. pixabay
ทนายความนั้น ถือว่าเป็นวิชาชีพที่ผู้ต้องการประกอบอาชีพดังกล่าว จะต้องได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความเสียก่อนจึงจะสามารถประกอบอาชีพนี้ได้ โดยวิธีการได้มาซึ่งใบอนุญาตฯ นั้น ผู้ที่ต้องการเป็นทนายความจะต้องสมัครและผ่านการทดสอบจากสภาทนายความในพระราชูปถัมภ์เสียก่อน จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
โดยผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตามที่
พ.ร.บ.ทนายความฯ กำหนดไว้ กล่าวคือ
ต้องอยู่ระหว่างการศึกษาขั้นปริญาตรี
นิติศาสตร์บัณฑิต โดยสอบผ่านวิชากฎหมายตามที่มหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้
(อนุปริญญา) หรือจบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จึงจะมีสิทธิสมัครเพื่อทดสอบความรู้ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ (เด็กนิติเค้าเรียกกันว่า “ตั๋วรุ่น”) หรือเข้าฝึกงานกับสำนักงานทนายความที่สภาทนายความรับรองเป็นระยะเวลา 1 ปีและทดสอบเพื่อวัดความรู้ (เด็กนิติเค้าเรียก “ตั๋วปี”) กับสภาทนายความได้ และเมื่อผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ของสภาทนายความแล้ว ผู้สอบผ่านจึงจะได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความสำหรับใช้ประกอบวิชาชีพได้
1
สำหรับคนที่ใช้วุฒิอนุปริญญาในการสมัครสอบ แม้จะผ่านการทดสอบเพื่อเป็นทนายความตามหลักเกณฑ์แล้วก็ยังไม่สามารถขอรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความได้ เนื่องจากผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตฯ ได้นั้นอย่างน้อยจะต้องเป็นวิสามัญสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาเสียก่อน (ต้อบจบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิตก่อนจึงจะสมัครได้)
1
"งานของทนายความ คืออะไร ?"
หลายคนเข้าใจว่างานของทนายความก็ต้องว่าความสิ ซึ่งก็ถูกต้องบางส่วน แต่จริง ๆ แล้ว วิชาชีพทนายความยังสามารถประกอบการงานได้อีกหลายอย่าง เช่น เป็นที่ปรึกษาของบริษัทต่าง ๆ หรือจะเปิดสำนักงานทนายความเป็นของตัวเอง โดยให้บริการด้านกฎหมายครบวงจร ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ว่าความ ตลอดจนการสืบทรัพย์ บังคับคดี รวมถึงการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท หรืออื่นๆ ที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้ต้องใช้บุคคลที่มีใบอนุญาตว่าความดำเนินการ หรือบางคนอาจจะประกอบอาชีพทนายความเพื่อเก็บประสบการณ์ทำงานสำหรับใช้สอบเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษา (แอดมินจะเขียนถึงในตอนต่อไป) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน
"การประกอบวิชาชีพทนายความยากหรือไม่ ?"
อันนี้ตอบยากมาก เพราะขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคนว่าเหมาะกับอาชีพนั้น ๆ หรือไม่ สำหรับแอดมินคิดว่า คนที่จะประกอบวิชาชีพนี้ได้ดีนั้น จะต้องมีไหวพริบที่ดี ช่างสังเกต และรู้จักพูดคุยกับผู้คน (ไม่ใช่พูดมากนะ) รู้จักต่อรอง อ่านใจคนเก่ง ซึ่งของพวกนี้หาไม่ได้ในตำราแน่นอน ต้องอาศัยชั่วโมงบินอย่างสูงเลย และนั่นยังไม่รวมถึงคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ เพราะนอกจากจะต้องเก่งในงาน คือ มีความรู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดีแล้ว การเข้าหาผู้คน การทำให้ตัวเองเป็นที่สนใจและน่าเชื่อถือ
รวมถึงการสร้างและรักษาชื่อเสียงถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราจะเลือกจ้างทนายความซักคน ชื่อเสียง ความชำนาญเฉพาะด้านของทนายความท่านนั้น คงเป็น
สิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ในการเลือกจ้างทนายความเพื่อให้มารับผิดชอบเรื่องของเราใช่มั้ยครับ
"ทนายความรายได้เป็นยังไงบ้าง ?"
สำหรับเรื่องรายได้ในกรณีที่ทนายความรับงานเอง แอดมินคิดว่าอยู่ที่ชื่อเสียงที่สั่งสมมาของทนายความท่านนั้น ๆ ในบางเรื่องที่เนื้อหาเดียวกัน ความยากง่ายเหมือนกัน ทนายความที่มีชื่อเสียงอาจเรียกค่าจ้างได้มากกว่า 2 – 5 เท่า (หรืออาจมากกว่านั้น) ของทนายความหน้าใหม่
ส่วนทนายความที่ประจำบริษัท ก็อยู่ที่การตกลงเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นๆ ตามที่ได้ตกลงไว้กับบริษัทผู้เป็นนายจ้าง ซึ่งสำหรับทนายความที่ประจำอยู่ตาม law firm ใหญ่ๆ นั้น รายได้ 6 หลักต่อเดือนถือว่าเป็นเรื่องปกติเลยทีเดียว
Cr. pixabay
สำหรับเรื่องของเส้นทางอาชีพทนายความ ในบทความซีรี่ย์ “เส้นทางของนักกฎหมาย” นั้นแอดมินเขียนในภาพกว้าง ๆ จากมุมมอง และประสบการณ์ของแอดมินเอง ซึ่งหากไม่ถูกใจผู้อ่านหรือผิดพลาดประการใดแอดมิน
ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้
ส่วนตอนต่อไป แอดมินจะนำเสนอเกี่ยวกับอาชีพอื่น ๆ ที่น่าสนใจของนักกฎหมาย ว่ามีอะไรบ้าง มีความน่าสนใจอย่างไร และมีรายได้เท่าไร ซึ่งหวังว่าเพื่อน ๆ จะให้ความสนใจและติดตามตอนต่อ ๆ ไปนะครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
1
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
โฆษณา