9 ก.ค. 2019 เวลา 13:10 • ธุรกิจ
แชร์ลูกโซ่....รู้ทันไม่อันตราย
1
ขบวนการหลอกลวงอย่าง "แชร์ลูกโซ่" อยู่คู่กับสังคมไทย ทุกยุค ทุกสมัย และไม่เคยหายห่างไปไหนเลย แม้ปัจจุบันเราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ก็ยังมีหลายคนหลงเชื่อไปกับกลุ่มมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก เพราะความโลภ และความอยากรวยทางลัด จึงเป็นจุดอ่อนให้มิจฉาชีพหลอกเอาเงินไปได้ แม้กระทั่งในยุคที่การติดต่อสื่อสารสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แต่ทว่านี่กลับเป็นดาบสองคมที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพนำจุดนี้มาหลอกลวงให้คนตกเป็นเหยื่อ สร้างเครือข่ายจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว
2
โดยปัจจุบันการหลอกลวงแฝงมากับธุรกิจที่ซับซ้อนขึ้น และปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ตอบโจทย์คนในแต่ละยุคสมัย ทำให้มีคนตกเป็นเหยื่อได้อย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ สินค้าเกษตร น้ำมัน เงินตราต่างประเทศ การจัดสัมมนาขายตรง หรือแม้แต่ธุรกิจทัวร์ต่างประเทศเอง ก็ยังมีมิจฉาชีพนำมาแปรสภาพเพื่อหลอกลวงต้มตุ๋นเอาเงินไปได้แบบเนียน ๆ
เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการแชร์ลูกโซ่ มาดูกันว่าจะมีวิธีสังเกตเบื้องต้นอย่างไรบ้าง ว่าธุรกิจนั้น เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือเปล่า และยังมีกลลวงอะไรอีกที่เราต้องรู้เท่าทัน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อง่าย ๆ
1
แชร์ลูกโซ่ คืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า แชร์ลูกโซ่นั้นคืออะไร โดยแชร์ลูกโซ่ จะเน้นการระดุมทุนจากสมาชิก จูงใจด้วยผลตอบแทนสูง และมักอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรดี แต่จริง ๆ แล้วต้องการที่จะหาสมาชิกใหม่ให้ได้มาก ๆ เพื่อนำเงินจากรายใหม่มาจ่ายให้รายเก่า ซึ่งจะทำแบบนี้เป็นทอด ๆ กันเป็นลูกโซ่ ท้ายที่สุดจนเมื่อถึงจุดที่ธุรกิจหมุนเงินไม่ทัน ก็จะเริ่มเลื่อนการจ่ายผลตอบแทน และหนีไปในที่สุด ทิ้งสมาชิกจำนวนมากไว้เบื้องหลัง
1
แชร์ลูกโซ่
สังเกตได้อย่างไร ว่านี่คือแชร์ลูกโซ่
1. เปิดระดมทุนไม่อั้น
ไม่ว่าใครก็สามารถเข้ามาลงทุนกับธุรกิจเครือข่ายนี้ได้ รวมทั้งยังได้รับเงินส่วนต่างพิเศษเพิ่มอีก หากมีการชักชวนคนอื่นให้เข้ามาลงทุนด้วย
1
2. การันตีผลตอบแทนสูงมาก
มีการรองรับผลตอบแทนที่จะได้สูงมาก ๆ จากการลงทุนในระยะเวลาอันสั้น เพื่อเรียกความสนใจให้เราเข้าไปลงทุน และหว่านล้อมด้วยวิธีต่าง ๆ ให้เรารีบตัดสินใจเข้าลงทุน
3. ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้
เป็นบริษัทที่ไม่สามารถตรวจสอบงบการเงิน หรือข้อมูลการทำธุรกิจได้ ว่าได้กำไรมาจากไหน เอาเงินที่ได้ไปทำอะไรบ้าง รวมถึงไม่สามารถตรวจสอบงบการเงินที่ได้รับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ เราสามารถตรวจสอบงบการเงินเบื้องต้นของแต่ละบริษัทได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ หรือเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
4. เชียร์ให้รีบตัดสินใจลงทุน
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ มีจุดประสงค์หลักคือขยายเครือข่ายไปให้มากที่สุด ดังนั้นจึงต้องหาสมาชิกเข้ามาลงทุนด้วยมาก ๆ ซึ่งหากสังเกตได้ว่ามีการหว่านล้อมให้เรารีบเข้าลงทุนโดยเร็ว หรือสร้างบรรยากาศต่าง ๆ ให้คนอยากเข้าลงทุนมากจนเกินปกติ ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่
3
5. จัดอบรมสัมมนาใหญ่โต
มีการจัดงานอบรมสัมมนาใหญ่โต แล้วเชิญเราเข้าไปรับฟังแผนธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัท แต่จริง ๆ แล้วมีจุดประสงค์เพียงแค่ต้องการให้คนเข้าร่วมสัมมนาคล้อยตามและรีบสมัครเป็นสมาชิก
1
6. อ้างว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมลงทุนด้วย
เป็นวิธีหลอกล่อให้คนสนใจร่วมลงทุนมากขึ้น โดยการอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง นักร้อง หรือนักธุรกิจชื่อดัง ว่าได้ร่วมลงทุนในธุรกิจนี้เช่นกัน
แชร์ลูกโซ่มีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง ?
แชร์ลูกโซ่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ออกมาเป็นหลากหลายรูปแบบ และได้ระบาดไปทั่วทุกสายอาชีพ ประกอบกับยังมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ เรามาดูกันว่าแชร์ลูกโซ่ที่เรามีโอกาสพบเห็น มีแบบไหนบ้าง
1. ลงทุนในสินค้าเกษตร
เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นมานาน แต่ก็ยังมีการนำมาหลอกลวงด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีอยู่เรื่อย ๆ โดยหลัก ๆ จะเป็นการหลอกให้เข้ามาลงทุนกองทุนสินค้าเกษตร และการันตีผลตอบแทนที่สูง ซึ่งจะมีการปั่นราคาสินค้าชนิดนั้นในตลาด เพื่อหลอกให้เหยื่อสนใจ ซึ่งที่ผ่านมามีสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ เช่น พันธ์ุไม้กฤษณา ไม้สัก มะม่วง เป็นต้น
2. ขายตรง
ธุรกิจขายตรงบางแห่ง มักแฝงมากับขบวนการแชร์ลูกโซ่ โดยใช้สินค้าเป็นตัวบังหน้าเท่านั้น แต่ต้องการเพียงขยายฐานสมาชิก โดยจะมีการเก็บค่าสมัครสมาชิกและบังคับให้ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพต่ำ ในราคาสูง
3. ระดมทุนตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
เป็นการขายฝันเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมถือหุ้นในบริษัท โดยหลอกว่าบริษัทมีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องการที่จะหาสมาชิกให้มากพอก่อน เพื่อจะได้ให้เราไปชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนด้วย
4. ผลิตภัณฑ์อวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค
หลอกลวงเงินของชาวบ้าน โดยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์รักษาโรค แล้วแอบอ้างว่ามีสรรพคุณพิเศษผ่านการใช้โฆษณาชวนเชื่อ จนมีคนหลงเชื่อซื้อมาใช้ จากนั้นจึงสร้างเครือข่ายสมาชิกหลอกให้คนนำเงินมาร่วมลงทุน ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อเสียทั้งทรัพย์สิน และอาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการทานยาที่ไม่มีคุณภาพอีกด้วย
5. ลงทุนเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ
เป็นการชักชวนให้เข้าลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนจำนวนมาก ทำให้หลายคนหลงเชื่อเข้าไปลงทุน โดยที่ไม่รู้ว่าธุรกิจดังกล่าวผิดกฎหมาย และไม่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย
6. ลงทุนทองคำ และน้ำมัน
มีการจูงใจให้คนเข้ามาร่วมลงทุนเก็งกำไรในราคาทองคำและน้ำมันดิบ โดยหลอกว่าหากเข้ามาลงทุนด้วยจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าท้องตลาด รวมถึงยังการันตีผลตอบแทนทุกเดือน
7. คนดังชวนลงทุนทำธุรกิจ
ใช้ชื่อเสียงของคนดังต่าง ๆ ออกมาโฆษณาชักชวนให้คนร่วมลงทุนทำธุรกิจด้วย โดยเอาชื่อเสียงตัวเองการันตีว่าไม่มีการหลอกลวง และให้ตอบแทนที่คุ้มค่าแน่นอน ทำให้หลายคนหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก
8. แชร์ลูกโซ่ออนไลน์
แชร์ลูกโซ่ออนไลน์เป็นการหลอกลวงทาง Social Media ต่าง ๆ เช่น Line Facebook โดยชักชวนให้เล่นแชร์เป็นแพ็กเกจ มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นเงินปันผลทุกสัปดาห์ และเมื่อวงแชร์มีขนาดใหญ่มากพอ ก็จะปิดวงแชร์แล้วหลบหนีเอาเงินไป
3
9. ฌาปนกิจสงเคราะห์ปลอม
พบเห็นได้มากในต่างจังหวัด โดยเป็นการชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกเพื่อจ่ายเงินสมทบกองทุนสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์รายเดือน โดยมีการจ่ายค่าสมัครครั้งแรก และจ่ายเงินสมทบเข้าทุก ๆ เดือน ซึ่งเมื่อครบตามกำหนดจะได้เงินค่าฌาปนกิจศพ สุดท้ายก็นำเงินหลบหนีไป ไม่จ่ายตามสัญญา
1
10. ขายทริปเที่ยวในฝัน
เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ จากการสร้างธุรกิจเครือข่ายที่นำแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาถูกมาเป็นตัวล่อ ให้มีการจ่ายค่าสมัครแรกเข้า และจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน เพื่อมีสิทธิ์ในการซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีการหลอกให้ซื้อแพ็กเกจราคาถูกกว่าปกติ เพื่อจูงใจคน แล้วเอาเงินที่ได้หลบหนีไป
ทั้งนี้ เป็นเพียงตัวอย่างลักษณะแชร์ลูกโซ่ที่มีโอกาสพบเห็นได้บ่อย แต่ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อใช้หลอกลวงอยู่เรื่อย ๆ
แชร์ลูกโซ่ ผิดกฎหมายหรือไม่
แชร์ถูกโซ่ ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะเข้าข่ายการฉ้อโกง และหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานฉ้อโกง และพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 โดยมีโทษจำคุกกระทงละ 3-5 ปี และโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท
รวมทั้งอาจยังเข้าข่าย ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แชร์ลูกโซ่
อย่างไรก็ตาม การที่จะเอาผิดแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบัน ยังทำได้ยากและไม่สามารถเข้าจับกุมได้ทันที ต้องรอให้มีผู้เสียหายร้องให้ดำเนินคดีก่อน ประกอบกับต้องมีการสอบสวนรวบรวมหลักฐานอย่างยาวนานกว่าคดีจะสิ้นสุด ดังนั้น จึงควรระวังตัวเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อตั้งแต่แรกจะดีที่สุด
ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่แล้ว ทำอะไรได้บ้าง
 
หากใครที่รู้ตัวว่าหลงกลให้กับกลุ่มมิจฉาชีพไปแล้ว ให้รีบดำเนินการตามนี้ได้เลย
1. เก็บรวบรวมหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องไว้ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือสัญญา หลักฐานการโอนเงิน เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่สำนักงาน หรือรูปถ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. รีบเข้าแจ้งความร้องทุกข์ เพื่อดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมาย โดยสามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์ หรือแจ้งเบาะแสที่น่าสงสัยได้ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือโทร. 1202
นอกจากนี้ ยังสามารถใช้แอปพลิเคชัน บนมือถือของดีเอสไอที่ชื่อว่า "DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ)" ทั้งระบบ Android และ iOS เพื่อใช้ในการร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส ได้อีกทาง
ย้อนบทเรียน 3 คดีแชร์ลูกโซ่ชื่อดัง
1. แชร์แม่ชม้อย
นางชม้อย ทิพย์โส อดีตพนักงานขององค์การเชื้อเพลิง ได้จัดให้มีการระดมเงิน โดยอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจน้ำมัน และกำหนดวิธีการเล่นให้ลงเงินเป็นทุนในการซื้อรถขนน้ำมัน ซึ่งมีคนมาลงเงินจำนวนมาก เพราะได้รับผลตอบแทนทันทีใน 15 วัน ที่อัตราเดือนละ 6.5% หรือปีละ 78% จึงมีคนสนใจนับหมื่นราย
แต่แท้จริงแล้ว นางชม้อย ได้นำเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่ มาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนรายแรก ๆ วนซ้ำไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดไม่สามารถนำเงินมาจ่ายได้ เพราะไม่มีผู้เล่นเพิ่มเติม ซึ่งมีผู้เสียหายจากคดีดังกล่าวกว่า 16,000 ราย มีการเข้าแจ้งความเอาผิดกับนางชม้อยและพวก รวมมูลค่าความเสียหายถึง 4,500 ล้านบาท ทำให้นางชม้อยถูกตัดสินจำคุก 154,005 ปี
2. แชร์ลูกโซ่ยูฟัน
มาจากที่ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติมาเลเซีย ได้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งในไทย ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยแจ้งประกอบธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และมีการออกสกุลเงินเองเรียกว่า ยูโทเคน (UToken Cash) ซึ่งเป็นสกุลเงินรูปแบบดิจิทัล เพื่อใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนในโลกออนไลน์ โดยมีค่าสมัครเป็นสมาชิกคนละ 17,000 บาท จนถึง 1,750,000 บาท
1
อีกทั้งมีการชักชวนให้สมาชิกเข้ามาร่วมเครือข่าย และได้รับผลตอบแทนจากการชวนบุคคลอื่นเข้าร่วม ทำให้มีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อถูกหลอกสูญเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายทั้งหมด 2,451 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 356 ล้านบาท
3. คดีซินแสโชกุน
ซินแสโชกุน หรือ นางสาวพสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ ได้ทำการหลอกลวงโดยการชักชวนให้ผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และอ้างว่าจะมีสิทธิ์ได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี โดยหลอกให้สมาชิกเชื่อใจ จากการพาไปเที่ยวต่างประเทศจริง ใน 3-4 ครั้งแรก เพื่อให้กลุ่มสมาชิกที่ได้ไปเที่ยวชักชวนคนอื่น ๆ เข้ามาสมัครเพิ่มเติม จนสุดท้ายกลับมีการลอยแพสมาชิกที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ให้ตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยคดีดังกล่าวมีมูลค่าความเสียหายกว่า 51 ล้านบาท
เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องระวังตัวอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ เพราะความโลภของตนเอง ซึ่งธุรกิจแชร์ลูกโซ่ยังมีรูปแบบที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นควรหมั่นติดตามข่าวสาร และมีสติอย่าหลงเชื่ออะไรง่าย ๆ ซึ่งหากไม่มั่นใจว่าธุรกิจไหนมีความเสี่ยง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
โฆษณา