11 ก.ค. 2019 เวลา 12:08 • การศึกษา
กรณีศึกษา : Lazada กับ Model ธุรกิจ
“ขาดทุนวันนี้...เพื่อกำไรในวันหน้า”
ธุรกิจส่วนใหญ่คาดหวังกำไรเป็นกอบเป็นกำตั้งแต่วันแรกๆ ที่ทำธุรกิจ แต่เชื่อไหมครับว่ามีหลายธุรกิจที่วางแผนให้ตัวเอง “ขาดทุน” คำตอบคือมีครับ...หลายๆ ธุรกิจใช้ Model ธุรกิจ “ขาดทุนวันนี้...เพื่อกำไรในวันหน้า” บางครั้งขาดทุนกระทั่งไม่มีเงินจ่าย Fixed Cost หรือแม้กระทั่งไม่มี Cash Flow เข้ามาเลย ที่ท้าทายกว่านั้นคือต้องมีเงินมาเติมให้สายป่านของธุรกิจไม่ขาดไปซะก่อน ท่านผู้มีเกียรติครับ...ขอแนะนำให้ท่านรู้จักกับ “Lazada” E-Commerce เบอร์ 1 ของไทย ที่หลายๆ ท่านคงงงว่าจะมาแนะนำกันทำไมในเมื่อขาช้อป หรือคนทั่วๆ ไปรู้จักและคุ้นเคยกับ Platform นี้กันอยู่แล้ว...แต่อย่าเพิ่งละสายตาไป เพราะผมกำลังจะพาท่านไปพบกับแง่มุมที่จะทำให้ท่านรู้สึกว่า “เฮ้ย! ที่ผ่านมาเราจุมพิตโดยไม่รู้จักกันเลยนะ Lazada”
Lazada Thailand ก่อตั้ง ในปี 2555 เป็นส่วนหนึ่งของ Lazada Group ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 6 ประเทศได้แก่ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินล์ สิงคโปร์ และไทย Ladaza ประสบความสำเร็จแบบเปรี้ยงปร้างทั่วทุกท้องทุ่ง และก้าวขึ้นมาเป็นเว็บไซต์ E-Commerce อันดับหนึ่งของไทย (ปัจจุบันมีช่องทางให้เสียตังค์มากขึ้นผ่าน App) และเป็นเว็บไซต์ที่คนเข้ามากที่สุดอันดับ 6 ของไทย เป็นรองเพียงแค่ Google.co.th, Youtube.com, Facebook.com, Google.com และ Pantip.com (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2560)
ความสำเร็จของ Lazada เกิดจากการเลือกทำธุรกิจนอกกรอบเดิมๆ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน วงการ E-Commerce ไทยอยู่ในช่วง Introduction การซื้อของออนไลน์ยังไม่ป๊อบปูล่าเท่าไร เพราะคนซื้อกลัวไม่ได้ของ แต่ Lazada เข้ามาลบปมด้อยของขาช้อปด้วยการนำเสนอบริการเก็บเงินปลายทาง (COD หรือ Cash On Delivery) เป็นเจ้าแรกๆ ของไทย ทำให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจกว่าเดิมเพราะได้เห็นของก่อนจ่ายเงิน นอกเหนือไปจากเรื่องของ COD แล้ว Lazada ยังมีกลยุทธ์อื่นๆ อีก เช่น จัดส่งฟรี การทำให้ราคาสินค้าถูกกว่าท้องตลาด ออกคูปองลดราคาแรงๆ ดึงคนให้เข้ามาใช้ และการทุ่มงบทางการตลาดมหาศาล เช่น TV, บิลบอร์ด, SEO (Search Engine Optimization หรือการทำให้เราอยู่ในอันดับต้นๆ เวลาค้นใน Search Engine), Affiliate (การทำการตลาดบนอินเตอร์เน็ตรูปแบบใหม่ โดยอาศัยตัวแทนโฆษณา, คนช่วยขาย, เซลแมน, ตัวแทนจำหน่าย, คนเชียร์สินค้า, รวมถึงผู้รีวิวสินค้า ฯลฯ) เป็นต้น
เราลองมาดู Marketplace ของ E-Commerce ซึ่งในไทยมีนับสิบๆ เจ้า แต่เจ้าใหญ่ๆ ที่ถือเป็นผู้นำตลาด และคุ้นหูนักช้อปโดยทั่วไปมีอยู่ 3 เจ้า คือ Lazada, Shopee และ 11Street และความน่าสนใจคือทุกเจ้ามียอดขายสูงมาก แต่ยังไม่มีเจ้าไหนมีกำไรเลยแม้แต่สลึงเดียว! และขาดทุนมาโดยตลอด!!
ยกตัวอย่าง Lazada เปิดธุรกิจในไทย
ปี 2555
งบฯ ปีแรก ขาดทุนสุทธิ -519 ลบ.
ปี 2556
รายได้ 659.6 ลบ. ขาดทุนสุทธิ -519 ลบ.
ปี 2557
รายได้ 1,539.6 ลบ. ขาดทุนสุทธิ -863.1 ลบ.
ปี 2558
รายได้ 3,174.6 ลบ. ขาดทุนสุทธิ -1,958.5 ลบ.
ปี 2559
รายได้ 4,267 ลบ. ขาดทุนสุทธิ -2,115.5 ลบ.
ปี 2560
รายได้ 1,757.2 ลบ. ขาดทุนสุทธิ -568.3 ลบ.
ปี 2561
รายได้ 8,162.8 ลบ. ขาดทุนสุทธิ -2,645.2 ลบ.
ฝั่ง Shopee ก็มาแนวทางเดียวกัน
ปี 2558 ขาดทุน -211 ลบ.
ปี 2559 ขาดทุน -528 ล้านบาท
ปี 2560 ขาดทุน -1,404 ลบ.
11Street ก็ไม่น้อยหน้า...ขาดทุนย่อยยับ
ปี 2559
รายได้ 1.46 ลบ. ขาดทุน -185 ลบ.
ปี 2560
รายได้ 65.46 ลบ. ขาดทุน -943.35 ลบ.
ยิ่ง ณ ปัจจุบัน เริ่มออกอาการไม่ค่อยดีแล้ว
แถมให้อีกเจ้ากับ WeLoveShopping ที่มี “กึ้ง เฉลิมชัย มหากิจสิริ” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ ก.ย. 2560) ส่วนงบฯ มีดังนี้ครับ
ปี 2558
รายได้ 473 ลบ. ขาดทุน -284 ลบ.
รายได้ 863 ลบ. ขาดทุน -586 ลบ.
รายได้ 146 ลบ. ขาดทุน -357 ลบ.
คำถามคือทำไมขาดทุนเยอะเบอร์นั้น? คำตอบคือ เพราะธุรกิจประเภทนี้ต้องทุ่มงบการตลาดสำหรับใช้ฟาดฟันกับคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพรีเซนเตอร์ ให้มาขายฟรี ยอมออกค่าส่งให้ อีกทั้งยังแจกคูปองส่วนลดกันโครมครามไปทางเว็บไซต์ที่มีการ Subsidize (ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน, อุดหนุนเงิน) ให้คนขายตลอด
1
คำถามที่สำคัญยิ่ง และพีคสุดของเรื่องราวนี้ คือ “ไม่ใช่ทำไมถึงขาดทุน...แต่เป็นทำไมถึงยอมขาดทุนอย่างหน้าชื่นตาบานได้ขนาดนี้” ...คำตอบคือเว็บฯ พวกนี้ “ไม่ต้องการทำกำไรระยะสั้นจากการทำธุรกิจ แต่ต้องการกำไรก้อนใหญ่ปลายทางจากการขายธุรกิจมากกว่า”
และรายที่ทำได้สำเร็จก็คงหนีไม่พ้น Lazada ซึ่งเมื่อปี 2559 ได้ขายธุรกิจให้ Jack Ma (เจ้าของ Alibaba Group) ไปเรียบร้อยโรงเรียนจีน โดย Jack Ma ลงเงินใน Lazada ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2560) 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีนาคมปี 2561 จัดเพิ่มอีก 1,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐฯ บวกลบคูณหารเป็นเงินไทยก็ราวๆ 80,000 ล้านบาทแล้ว ทำให้ ณ เวลานี้เจ้าของและผู้ถือหุ้นแต่แรกของ Lazada รวยเละเทะจ้า...
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็น Strategy ที่ถูกวางแต่แรกเริ่มแล้วว่าจะยอม “ขาดทุนในวันนี้...เพื่อทำกำไรในวันหน้า” โดย Model ธุรกิจนี้ไม่ได้จำกัดแต่ในเว็บ E-Commerce ที่เป็น Marketplace เท่านั้น เพราะจริงๆ มันเป็น Model ของ Start Up ทั่วทั้งโลกที่ทำธุรกิจโดยไม่ได้หวังผลกำไรทันทีทันใดเหมือน SMEs แต่ทำธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจเติบโต ทุ่มงบการตลาดเพื่อสะสมฐานผู้ใช้ หรือให้มี User มากขึ้นเรื่อยๆ และมี Statistics (สถิติ) การ Growth ของธุรกิจที่ดีงาม เพื่อท้ายที่สุดก็จะทำให้บริษัทนั้นๆ มีการตีมูลค่า (Valuation) สูง นำไปสู่ปลายทางในการขายธุรกิจ หรือ Exit ออกไปในรูปแบบการขายหุ้นตรง หรือ IPO แล้วไปนั่งจิบไวน์ชิวๆ สบายใจเฉิบ...แล้วคุณละครับ วางกลยุทธ์ในการลงทุนของตัวเองไว้อย่างไร?
ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ ถ้าชอบบทความนี้รบกวนกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม (Follow) เพื่อเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ 🙏🏻😊
**เพิ่มเติม**
มีคำถามในคอมเม้นท์จากหลายๆ ท่านสงสัยว่าถ้าขาดทุนแล้ว แจ็ค หม่า จะเข้ามาลงทุนทำไม?
ผมขออนุญาตสรุปประเด็นจากข้อมูลที่ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO & Founder “ตลาดดอตคอม” ให้สัมภาษณ์ไว้
- ยอมขาดทุนช่วงแรก ลงทุนสร้างฐานลูกค้าเพื่อไปทำกำไรในอนาคต หลังจากนั้นจึงเขี่ยคู่แข่ง อันดับ 2-3 ทิ้ง ก็จะสามารถครองตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จ (เหมือน Amazon ในสหรัฐฯ ที่ทำมาแล้วครับ)
1
- การเข้ามาลงทุนในไทยนั้น Alibaba จะได้ประโยชน์จากการที่ภาครัฐเปิดให้เขามาลงทุน ด้วยการได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ส่วนลดนู่นนี่ ซึ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น
- หลัง แจ็ค หม่า เข้าซื้อ Lazada แพลตฟอร์มนี้จึงกลายเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนทันที และสามารถเข้าถึงคนไทยหลายสิบล้านคนได้สบายๆ เพราะมี (ซื้อ) ข้อมูลลูกค้าไว้หมดแล้ว
- พอมีคนช็อปออนไลน์มากขึ้น เขาก็มีข้อมูลการซื้อ/การใช้จ่ายของเรา เริ่มเข้าใจเรามากขึ้น จากนั้นก็ต่อยอดไปยังธุรกิจปล่อยกู้ สินเชื่อ ขายประกัน และมีธุรกิจหลายอย่างตามมาอีกมากมาย… เพื่อขยายตัวเองให้เร็ว ปิดทางไม่ให้คู่แข่งรายอื่นเข้ามาในตลาด
ท้ายที่สุดแล้ว กลุ่ม Alibaba จะครอบครอง และคลอบคลุมทั้งระบบนิเวศของวงการค้าปลีก หลังจากนั้นก็ต่อยอดไปยังธุรกิจการเงิน-ลอจิสติกส์ และอื่นๆ ๆ ๆ Blah Blah Blah…
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.stocklittle.com, Facebook “ครูชัย M.I.B. Marketing in Black”, www.marketeeronline.co,www.billionaireth.com, บทสัมภาษณ์จากรายการ “คนเคาะข่าว” จากคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO/ตลาดดอตคอม
ขอบคุณภาพจาก : www.sgtalk.org
โฆษณา