Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
บล็อกเกอร์แมน
•
ติดตาม
16 ก.ค. 2019 เวลา 10:50
ทำไมเงินบาท จึงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงหลายปีมานี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แล้วทำไมเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างไรแก่เรา เดี๋ยวบล็อกเกอร์แมนจะพาไปหาคำตอบด้วยกัน
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ค่าเงินแข็งค่านั้น มีรูปแบบเป็นอย่างไร
สมมุติว่า ปีที่แล้ว ค่าเงินบาทเท่ากับ 31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่มาปีนี้ค่าเงินบาทเท่ากับ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเป็นแบบนี้ เราเรียกว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับคนทำธุรกิจส่งออกและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศนั้น ผลกระทบที่ค่าเงินเปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อรายได้หรือต้นทุนของพวกเขา
กรณีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น สมมุติว่า ผู้ที่ส่งออกสินค้าจากปีที่แล้ว เมื่อส่งออกสินค้าชิ้นหนึ่งจะได้รับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อแลกเป็นเงินบาทจะได้ 31 บาท แต่ตอนนี้กลับเหลือเพียง 30 บาท
หมายความว่า ในฐานะผู้ส่งออกนั้น การแข็งค่าของเงินบาททำให้รายได้ผู้ส่งออกลดลง
ในด้านของผู้นำเข้า ปีที่แล้วเขาต้องนำเงิน 31 บาทไปแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไปซื้อสินค้านำเข้า แต่ปีนี้เขากลับใช้เงินเพียง 30 บาท เพื่อแลกเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อไปซื้อสินค้านำเข้า
หมายความว่า ในฐานะผู้นำเข้านั้นการแข็งค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนของเขาลดลง
แล้วทำไมที่ผ่านมาค่าเงินบาทจึงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง?
หนึ่งในข้อมูลที่นักเศรษฐศาสตร์มักนำมาใช้ดูทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ก็คือการเปลี่ยนแปลงของดุลบัญชีเดินสะพัด
แล้วดุลบัญชีเดินสะพัดคืออะไร?
ดุลบัญชีเดินสะพัด คือบัญชีที่แสดงเงินไหลเข้าออก ซึ่งเกิดจากการซื้อขายสินค้าและบริการของประเทศนั้น ๆ
ปกติแล้วถ้าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล แสดงว่ามีเงินไหลเข้าประเทศมากกว่าไหลออก ซึ่งจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นมีแนวโน้มแข็งค่า
โดยดุลบัญชีเดินสะพัด ประกอบไปด้วย
1) ดุลการค้า ถ้าประเทศส่งออกสินค้ามากกว่านำเข้า จะทำให้ดุลการค้าเป็นบวก แต่ถ้าประเทศนำเข้ามากกว่าส่งออก ดุลการค้าก็เป็นลบ
2) ดุลบริการ เป็นดุลที่แสดงรายได้และรายจ่ายจากการบริการระหว่างประเทศ ถ้ารายได้มากกว่ารายจ่าย ดุลบริการก็เป็นบวก ถ้าตรงกันข้าม ดุลบริการก็ติดลบ
รู้ไหมว่า ตั้งแต่ปี 2014-2018 ดุลการค้าของไทยเกินดุลรวมกันกว่า 4.1 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 820,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากความต้องการสินค้าของไทยที่สูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงนั้น ทำให้ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าอย่างมาก
ในขณะที่ดุลบริการนั้น ปี 2017-2018 ไทยเกินดุลบริการรวมกันกว่า 921,000 ล้านบาท ดุลบริการที่เกินดุล เหตุผลหนึ่งเกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว
ปี 2014 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทย 24.8 ล้านคน
ปี 2018 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทย 38.3 ล้านคน
หรือเพียง 5 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 13.5 ล้านคน จนสร้างรายได้ให้แก่การท่องเที่ยวของไทยอย่างมหาศาล รวมกันกว่า 7.6 ล้านล้านบาท ในช่วงระหว่างปี 2014-2018
พอทั้งดุลการค้าและดุลบริการเกินดุล จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไปด้วย โดยในช่วงระหว่าง 2014-2018 ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 5.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านบาท
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องในระดับสูง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่า 6.3 ล้านล้านบาท
ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นลำดับที่ 12 ของโลก
เมื่อเป็นแบบนี้ จึงทำให้ในสายตาของนักลงทุนต่างชาตินั้น เงินบาทจึงมีเสถียรภาพและมีความน่าเชื่อถือพอสมควร
ค่าเงินบาทเคยอ่อนไปที่อยู่ 35.30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2016 มาวันนี้แข็งค่ามาอยู่ที่ 30.89 บาท ซึ่งนับเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี
แน่นอนว่าการแข็งค่าของเงินบาทนั้น มีทั้งผลดีและผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งต้องบอกว่า เป็นงานที่ท้าทายอย่างมากของธปท.เลยทีเดียว
>>> <<<
กดติดตามบทความที่น่าสนใจของเพจบล็อกเกอร์แมน พร้อมทั้งสามารถติดตามบทความย้อนหลังทั้งหมดได้ที่
https://www.blogger-man.com
>>> <<<
References
-
https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Documents/Balance_of_Payments7May2018.pdf
-
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/PressRelease/PressRelease2557/Slide_thai_December2561_61ONE95.pdf
-
https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=409&language=TH
-
https://www.mots.go.th/more_news.php?cid=482&filename=index
-
https://en.wikipedia.org/wiki/Tourism_in_Thailand
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย