Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Insurance in Daily Life
•
ติดตาม
21 ก.ค. 2019 เวลา 04:29 • ธุรกิจ
Large Loss ซ่อมรถชนหนัก Thailand Only!!
เราอาจจะคุ้นเคยกับคำเตือนในการซื้อรถมือสองที่ว่า ให้ระวังจะเจอรถที่เคยเกิดอุบัติเหตุหนักๆ มาก่อน เมื่อซื้อไปใช้แล้วอาจจะมีปัญหาตามมาหลายอย่าง รวมไปถึงเรื่องของความปลอดภัยด้วย แต่เราไม่เคยสงสัยเลยว่า รถที่ชนหนักจนสภาพเหมือนกับว่าน่าจะเอาไปชั่งกิโลขาย สามารถซ่อมให้กลับมาใช้งานได้อย่างไร แล้วคุ้มค่าใช้จ่ายหรือไม่ สาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่าเราเห็นการซ่อมรถแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วไปในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศนั้นไม่ใช่เลย เรื่องการซ่อมรถชนหนักเป็น highlight ประจำของการมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทยของเพื่อนร่วมงานจากต่างชาติทุกครั้ง ทุกคนจะต้องถามเป็นคำถามเดียวกันว่า “How can you do that? It’s impossible!!” คุณทำได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้เลย!!
สาเหตุที่ถามแบบนี้เพราะว่า ในต่างประเทศค่าซ่อมรถที่ชนมาหนักๆ สูงมาก จนเกินทุนประกัน เนื่องจากค่าอะไหล่ที่จะต้องเปลี่ยนสูงมาก ต้องจ่ายเงินคืนทุนประกันให้ลูกค้าแล้วยกเลิกกรมธรรม์ไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเราทำวิธีเดียวกัน คือ การสั่งซื้ออะไหล่จากผู้ผลิตรถยนต์มาเปลี่ยนทุกๆ ชิ้นที่เสียหาย ก็จะไม่สามารถซ่อมได้เหมือนกัน เพราะค่าใช้จ่ายของอะไหล่รถยนต์ทั้งคัน จากที่ผมเคยให้น้องๆ Analyst ทำข้อมูลมาให้ ถ้ารถ 1 คัน ราคาขาย 1 ล้านบาท หากเราสั่งอะไหล่จากผู้ผลิตรถยนต์ทุกๆ ชิ้น ของรถยนต์คันนั้นมาประกอบเอง จะต้องจ่ายเงินค่าอะไหล่ทั้งหมดโดยเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาท หมายความว่า ถ้ารถชนแล้วมีอะไหล่เสียหายประมาณ 30% และเราสั่งอะไหล่ใหม่จากผู้ผลิตรถยนต์มาทุกชิ้นเพื่อเปลี่ยน ก็จะเกินทุนประกันแล้ว เพราะทุนประกันอยู่ที่ 80% ของราคารถใหม่(800,000) และจะค่อยๆ ลดลงไปทุกปี(แต่ค่าอะไหล่เพิ่มทุก 6 เดือน)
แล้วบริษัทประกันและอู่ซ่อมรถยนต์ ทำอย่างไรถึงควบคุมค่าใช้จ่ายให้สามารถซ่อมรถได้?
**ตรงนี้ต้องบอกก่อนว่า ถึงจะไม่ได้เคลมกับบริษัทประกันภัย อู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไปก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน
วิธีการนี้ใช้ได้เฉพาะกับการซ่อมของอู่เท่านั้น หากเป็นการซ่อมของศูนย์จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากศูนย์ก็จะคิดค่าอะไหล่เป็นชิ้นๆ เหมือนที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ถ้าเป็นอู่ที่ไม่ใช่ศูนย์บริการของผู้ผลิตรถยนต์ อู่จะไปหาซื้อซากรถยนต์ทั้งคัน หรือตัดเอาเฉพาะส่วนหัว(ตั้งแต่กันชนหน้ามาจนถึงขอบประตูหน้า ซึ่งก็คือส่วนของห้องเครื่องยนต์ทั้งหมด) มาจากแหล่งขายอะไหล่เก่าต่างๆ ชื่อที่เราน่าจะคุ้นหูที่สุดก็คงจะเป็น ‘เชียงกง’ แต่จริงๆ แล้วมีหลายแหล่งมากกว่านั้น ซึ่งปริมาณและราคาของซากรถยนต์และอะไหล่เหล่านี้ มีเป็นจำนวนมากและราคาไม่แพง รวมไปถึง ‘ค่าแรง’ ในการซ่อมก็ไม่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ไม่สามารถจะใช้วิธีนี้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอู่จะได้กำไรจากการซ่อมรถเสียหายหนักทุกคันนะครับ เรื่องการเลือกซื้อซากรถนี่เป็นอะไรที่ ‘ตาดีได้ ตาร้ายเสีย’ จะได้กำไรมากน้อยหรือขาดทุน ขึ้นอยู่กับ ‘ประสบการณ์’ และ ‘ดวง’ ของอู่ว่า จะหาหัวหรือซากที่ยังมีอะไหล่สภาพดีที่ยังสามารถใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าได้อะไหล่มามากก็จะมีโอกาสทำกำไรได้มาก
ในส่วนของบริษัทประกันภัยก็จะทำการประเมินและอนุมัติราคาแบบ ‘เหมา’ หรือ ‘lump sum’ ที่เป็นคำถามทุกครั้งที่ต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง “Lump sum settlement for auto claim!? HOW!?” ราคาเหมาซ่อมเคลมรถยนต์ ทำยังไง!? ทำได้และต้องทำครับ เพราะเราไม่สามารถประเมินราคาอะไหล่รายชิ้นได้เลย เนื่องจากอู่ซื้อซากซื้อหัวมาแบบ ‘เหมา’ ยกทั้งชิ้นตั้งแต่ต้นแล้ว อย่างดีที่สุดก็คือการใช้ค่าเฉลี่ยของเคลมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตัวอย่างเช่น เคลมนี้ความเสียหายดูด้วยตาประมาณนี้ ปกติบริษัทอนุมัติอยู่ที่ประมาณ 120,000 ถ้าอู่หาซากมาได้ 60,000 เสียค่าแรงอีก 20,000 อู่ก็จะได้กำไร 40,000 แต่ถ้าหัวนั้นมันใช้ไม่ได้ อะไหล่ไม่พอ ต้องไปหามาอีกหัว อาจจะต้องเสียอีก 60,000 กลายเป็นต้นทุนทั้งหมด 140,000 เคลมนี้อู่ก็ขาดทุนไป 20,000
เห็นกระบวนการคร่าวๆ แล้ว หลายคนอาจจะกลัวว่า “อ้าว! แบบนี้ก็เหมือนเอาขยะมายำใส่รถฉันสิ!” ตรงนี้ต้องบอกว่า ไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้นครับ เพราะอู่ก็ต้องเลือกเอาอะไหล่ที่ยังอยู่ในสภาพดีมาใช้ แถมบริษัทประกันภัยเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ ที่จะต้องทำการซ่อมรถให้ ‘กลับไปอยู่ในสภาพเดิม ณ วันที่เริ่มรับประกัน’ หากซ่อมเสร็จแล้วรถใช้งานได้ไม่ปกติ บริษัทประกันภัยก็ยังต้องรับผิดชอบจนกว่าจะซ่อมได้เรียบร้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเคสที่มีปัญหาเลย ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมคุณภาพการซ่อมของอู่ของแต่ละบริษัทประกันภัยและจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจของอู่เองด้วย ถ้ามีเคลมหนักๆ แบบนี้ก็แนะนำว่า ควรจะติดตามอย่างใกล้ชิด แวะไปดูรถที่อู่บ่อยๆ ถ้าตัวเองไม่มีความรู้เรื่องรถ อาจจะหาเพื่อนไปช่วยดู อย่างน้อยไม่ปล่อยให้อู่ชะล่าใจ ยำอะไหล่เละๆ มาใส่รถเราได้
ส่วนตัวผมเองเห็นว่า การซ่อมแบบนี้ก็มีข้อดี อย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เจ้าของรถ คนที่ไม่มีประกันประเภท 1 ต้องซ่อมรถเอง ถ้ามีกำลังทรัพย์ไม่มาก การซ่อมแบบนี้ก็ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายได้มากพอสมควร หรือคนที่มีประกันเอง แต่รถอาจจะติด finance อยู่ ถ้าซ่อมกับศูนย์ประเมินราคาออกมาแล้วต้องคืนทุน ซ่อมไม่ได้ คนรับเงินทุนประกันก็คือ finance ไม่ใช่เจ้าของรถ กลายเป็นว่าเสียรถไปเลยแล้วอาจจะไม่มีเงินพอไปดาวน์รถใหม่ อาจจะเลือกให้อู่ซ่อมแทนดีกว่า แต่ถ้าเทียบกับการเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ทั้งหมด คุณภาพย่อมเทียบกันไม่ได้ ทุกอย่างมีข้อดีก็มีข้อเสีย
แถมเกร็ดข้อมูล 1
รถที่ติด finance กรณีที่รถยนต์เสียหายสิ้นเชิง(Total Loss) ต้องคืนทุนประกัน เจ้าของรถจะต้องรีบแจ้ง finance ทันที ว่ารถชนหนักจะต้องทำการคืนทุนประกัน เรียกว่าการ ‘แจ้งหยุดใช้รถ’ เพื่อให้ finance ‘หยุด’ ทำการเรียกเก็บค่างวดการผ่อนชำระกับเรา ถ้าไม่แจ้ง finance ก็จะเรียกเก็บค่างวดไปเรื่อยๆ และอีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากทุนประกันที่ได้คืนมีมูลค่า ‘สูงกว่า’ ยอดคงค้างของสินเชื่อที่เหลืออยู่ finance มีสิทธิรับเงินเฉพาะในส่วนของยอดคงค้าง ส่วนต่างที่เหลือเป็นสิทธิของเจ้าของรถครับ ตรงนี้ finance ชอบงุบงิบไม่แจ้งเจ้าของรถ
แถมเกร็ดข้อมูล 2
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในบางประเทศ กรณีที่รถยนต์เสียหายสิ้นเชิง เจ้าของรถสามารถเลือกได้ว่า จะรับเงินทุนประกันคืน หรือ จะให้บริษัทจัดหารถทดแทนให้ โดยบริษัทจะหารถยนต์มือสองในตลาดรุ่นเดิมให้ ในราคาที่ไม่เกินทุนประกัน
โพสต์นี้เป็นเรื่องรถชนหนักไปแล้ว โพสต์หน้ามาดูการซ่อมรถทั่วไปกันบ้างว่ามีขั้นตอนการประเมินและอนุมัติราคาอย่างไร
https://www.facebook.com/insuranceindailylife
สำหรับใครที่สะดวกอ่านใน Facebook ครับ
1 บันทึก
3
1
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย