21 ก.ค. 2019 เวลา 23:26 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ยาแก้ปวด : จากฝิ่นสู่ยาแก้ปวด และยาเสพติด
Opioid : ยากลุ่มนี้เริ่มสีเทาๆละครับ คือกึ่งๆเสพติดแล้ว เพราะมันไปกระตุ้น receptor ตัวเดียวกับสารเสพติดซึ่งมันกดประสาท ทำให้ฟินๆ ลอยๆ (Euphoria)
จริงๆยากลุ่มนี้มีประวัติมานานกว่าตัวบนๆเยอะครับ เพราะมันหาได้ตามธรรมชาติ ในพืชอย่างต้นฝิ่น (Opium)
ต้นฝิ่น (Opium)
ย้อนไปตั้งแต่สมัยอียิปต์เก่าๆ หาของป่ากันอย่างงั้นเลย ตอนนั้นใช้ดอกฝิ่นมาบดๆ ค้นพบว่าเอามาใช้เป็นแก้ปวดได้ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าว้าวมากๆ อย่างกับเทวดาประทานโพชั่นมาให้
แถมยังใช้เป็นยานอนหลับได้ด้วย แต่คนสมัยนั้น ก็เริ่มรู้ถึงด้านมืดของมันด้วย มันเสพติด หลังๆมาทางการแพทย์จึงเริ่มใช้กันเท่าที่จำเป็น
ฝิ่นสมัยก่อนๆ
ขึ้นในยุคใหม่ที่วิทยาการเริ่มก้าวหน้า การสกัดสารต่างๆทำได้ล้ำขึ้น ทำให้สามารถสร้างสารที่เข้มข้นขึ้นได้ ฝื่นก็เป็นเป้าหมายตัวนึง
ในยุคปี 19 นักวิทยาศาตร์ชาวเยอรมัน ได้สกัดสารฝิ่นเข้มข้นขึ้นมาได้ สารตัวนี้เรียกว่า มอร์ฟีน (Morphine)
เมื่อการค้นพบมอร์ฟีน ประจวบเหมาะอยู่ในยุคที่คิดค้นเข็มฉีดยา ทำให้สามารถกะปริมาณสารได้แม่นยำกว่าเดิม และฉีดเข้าผิวหนังได้โดยตรง เมื่อมาเจอกับยาเทพอย่างมอร์ฟีน ทุกอย่างมันลงตัวไปหมด
กลายเป็นยาที่แก้ปวดได้อย่างเหลือเชื่อ และช่วยลดการไอ ลดอาการท้องเสียได้ด้วย ด้วยความตื่นเต้นในสรรพคุณ
สมัยนั้นใช้กันแบบไม่มีอะไรมาควบคุม อยากให้ก็ให้ อยากกินก็ไปซื้อ ใช้กับทหารที่บาดเจ็บในสงคราม โดยที่มีความคิดอย่างผิดๆว่า ยานี้ไม่เสพติด (เพราะเป็นการฉีด คิดว่าสามารถคุมปริมาณยาที่ให้ได้)
นอกจากใช้แก้ปวดได้ อย่างที่บอกว่าแก้ไอ และท้องเสียได้ด้วย หลังจากเริ่มใช้อย่างแพร่หลายได้ไม่นาน
ยากลุ่มนี้จึงได้มีการวิจัยต่อยอด ที่พยายามจะสกัดเอาเฉพาะสารที่ลดการไอ และท้องเสียออกมา ได้ยาออกมาที่เรียกว่า Codeine [บ้านเราน่าจะรู้จักกันในชื่อ Ropect] แต่สุดท้ายแล้ว ยังสามารถนำมาใช้แก้ปวดได้ด้วย
จนยุคศตวรรต 20 ความนิยมของมอร์ฟีนยังไม่หายไปไหน แต่ด้วยผลเสพติดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีการวิจัยพยายามหา opioids ในรูปแบบที่ไม่เสพติดขึ้น
แต่ไม่รู้ว่าตั้งวงนั่งปู้นฝิ่นกันเองรึปล่าว กลายเป็นว่าได้สารที่แรงกว่ามอร์ฟีนซะงั้น เป็นต้นกำเนิดของสารเสพติดที่ชื่อ เฮโรอีน (Heroin) [มาจาก Heroic ประมาณว่ารุนแรง]
ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้มีใครสนใจมากนัก เพราะมันไม่ตรงเป้าหมาย (ตรงข้ามอีกต่างหาก) แต่บริษัทยาอย่าง Bayer เห็นว่ามันมีประโยชน์เหมือนกันนะ จึงนำมาทำยาแก้ปวด แก้ไอหนักๆ ได้อยู่ช่วงนึง
โดยคิดว่ามันจะเป็นสารที่แรงกว่า แต่เสพติดน้อย ก็ไปโฆษณาซะเว่อวังว่า "เหมือนมอร์ฟีน แต่ไม่ติดนะ" (non-addictive morphine substitute) สุดท้ายติดกันหนักยิ่งกว่ามอร์ฟีน จนต้องหยุดขายกันไป
และอย่างที่รู้กัน ขึ้นชื่อว่ายา มีสองด้านเสมอ แม้การแก้ปวดจะได้ผลอย่างดี แต่ฤทธิ์เสพติดมันเกินเบอร์ไปหน่อย จนสุดท้ายต้องมีการตั้งกฎและแนวทางการใช้ยาให้เป็นตัวเลือกท้ายๆ ไม่ไหวจริงๆแล้วค่อยใช้เหอะนะ (ปัจจุบันก็แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่เจ็บปวดจากมะเร็ง ผู้ป่วย palliative care และ ในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย)
Guideline จาก CDC
การพัฒยายังไม่หยุด ความตั้งใจที่อยากได้ยาแก้ปวดจากฝิ่นที่ไม่เสพติดดำเนินต่อไป จนกระทั่งประสบความสำเร็จได้ยาตัวแรกออกมาในชื่อ Meperidine ที่มีผลคล้าย opioid แต่โครงสร้างนั้นแตกต่างจากเดิม ซึ่งลดการเสพติดลงได้
และได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จนในปัจจุบันมีใช้ในชื่อว่า Fentanyl ซึ่งเป็นสาร synthetic-opioid (สังเคราะห์เอา ไม่ต้องมานั่งบดฝิ่น) โดยที่มันมีความแรงมากกว่า เฮโรอีน 30-50 เท่าเลยทีเดียว และยังพัฒนามาอีกหลายชนิดที่น่าจะเคยเห็นกันเช่น Tramadol (Tramol)
ตามจริงแล้ว ข้อเสียของยากลุ่ม opioids ไม่ได้มีแค่เสพติดเท่านั้น ปัญหาอื่นยังมีอีกเพียบถ้าใช้เกินขนาด ซึ่งฤทธิ์เสพติดนี่แหละ จะทำให้คนใช้มั่วๆแล้วมันเกินขนาดขึ้นมา
ในตอนที่นักวิจัยได้ค้นพบมอร์ฟีน ก่อนจะไปใช้กับคน ต้องนำมาทดสอบกับสัตว์ก่อน ในครั้งนี้เป็นสุนัขและกระต่าย มีบันทึกไว้ว่า หลังจากฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ผลที่ได้ก็เป็นไปตามคาด มันดูซึม หมดแรง แล้วก็หลับไปอย่างไว
ต่อจากนั้น รูม่านตาเกิดการหดตัว น้ำลายไหลท่วม คลื่นไส้ และที่สำคัญ การหายใจเร็วขึ้นอยู่พักนึง หลังจากนั้นค่อยๆช้าลง หัวใจค่อยๆเต้นอย่างช้าๆ และไม่เป็นจังหวะ ลองคิดภาพการเสพที่เกินขนาด จนทำให้หายใจช้าลงจนขาด oxygen หรือหัวใจที่เต้นผิดจังหวะจนหัวใจวาย ทำให้เสียชีวิตได้ทั้งนั้น
แต่ส่วนมากสมัยนี้การใช้ยาปริมาณน้อยๆ จะพบแค่อาการง่วงนอน คลื่นไส้ บางคนอาจจะเจอภาวะหายใจช้าลงได้ ซึ่งต้องระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอยู่เดิม และถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมอย่างดี
แต่ก็มีการติดยากลุ่มนี้ให้พบกันได้เรื่อยๆครับ
แถมให้อีกนิด ถ้ายากลุ่ม opioid เหมือนพิษร้าย (ปกติจะไม่ร้าย จะร้ายเพราะใช้เกินขนาด) สมัยนี้เรามียาถอนพิษครับ ชื่อ Naloxone ใช้แก้อาการ opioid overdose ได้
ต่อไปจะเล่าประวัติของพืชมาแรง กัญชา ให้ฟังครับ
ขออนุญาติแยกส่วนของกัญชาไปอีกตอน เพราะอยากเขียนละเอียดกว่าตัวอื่นๆ ให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสีย คำโฆษณาไหนที่เชื่อได้ หรือเกินจริง และ เราควรนำมันมาใช้เองรึปล่าว
ติดตามตอนต่อไปนะครับ :D
โฆษณา