27 ก.ค. 2019 เวลา 00:45 • บันเทิง
Game Theory จากจอห์นแนช แห่ง A beautiful mind
ก่อนอื่นต้องขออภัยผู้อ่านทุกท่าน
เนื่องจากผมติดภารกิจบวกกับความขี้เกียจเริ่มก่อตัว
เลยห่างหายจากการเขียนบทความไปหลายวัน
วันนี้กลับมาทำตามสัญญา
บทความนี้ผมจะเขียนเรื่อง Game Theory
ขอเกริ่นนำนิดหน่อยเกี่ยวกับหัวข้อนี้
เนื่องจากผมเรียนจบทางด้านเศรษฐศาสตร์
และเคยเรียน Game Theory มาตอนเรียนมหาวิทยาลัย รู้จักจอห์น แนช ตั้งแต่ตอนนั้น
ผมจึงค่อนข้างตื่นเต้น ที่วันหนึ่งมีหนังที่พระเอกเป็นเจ้าของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์
(จะกล่าวว่าจอห์น แนชเป็นนักเศรษฐศาสตร์เต็มตัวก็ไม่ได้ เพราะเขาน่าจะไปทางคณิตศาสตร์มากกว่า แต่ทฤษฎีของเขานำมาใช้กับเศรษฐศาสตร์ได้ และเขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์)
A beautiful mind (2001)
ในหนังเรื่อง A beautiful mind (2001)
เราได้เห็นชายอัจฉริยะผู้สามารถเข้าใจ และแก้สมการอันซับซ้อนได้เป็นอย่างดี
แต่ในชีวิตจริง จอห์น แนช ต้องเผชิญกับปัญหาภายในตัวเขาเองค่อนข้างมาก
ความอัจฉริยะของเขามาพร้อมกับอาการทางจิตที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ
Russell Crowe รับบทเป็น John nash
ท้ายที่สุด จอห์น แนช สามารถเอาชนะการป่วยได้ด้วยการยอมรับอาการผิดปกติของตนเอง
แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้อาการของเขาดีขึ้น คือ ยาที่ชื่อว่า "ความรัก"
ต้องยอมรับว่าภรรยาจอห์น แนช คือ สุภาพสตรีที่น่ายกย่อง
เธออยู่เคียงข้างคนรัก ในทุกๆสภาวะ และคอยฉุดดึงเขาให้กลับสู่โลกความเป็นจริง
พระเจ้าอาจให้พรสวรรค์ที่พิเศษแก่เรามา แต่ก็หักลบด้วยต้นทุนบางอย่างที่ขาดหายไป
ผมว่าส่วนที่จอห์น แนช ขาดไป ภรรยาของเขาได้เติมเต็มมันสู่ชีวิตของเขาเช่นเดียวกัน
John nash และ Alicia (จากภาพยนตร์)
สิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้คือ บทเรียนที่ผมได้รับจากหนัง
3
"เผชิญหน้ากับความจริง"
เป็นบทเรียนที่น่าประทับใจ
1
คนที่เชื่อภาพหลอนในหัวมาหลายปี ต้องตัดใจจากคนที่พูดคุยอย่างคุ้นเคยมานาน แล้วยอมรับว่าคนนั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง (อาการจิตหลอนของเขาสร้างตัวละครขึ้นมาในโลกความจริง)
ในตอนจบ เราพบว่าตัวละครเหล่านั้นยังคงวนเวียนอยู่กับจอห์น แนช แต่เขาเลือกที่จะไม่แยแสต่อมัน
และดำเนินชีวิตโดยแยกแยะภาพเหล่านั้นออกจากความจริง
มันทำให้ผม ในฐานะผู้ชมต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า "การใช้ชีวิตของผมตอนนี้ ผมยังติดอยู่ในความโง่ของตนเอง หรือ หลุดพ้นจากอคติ ด้วยมุมมองที่เป็นจริงแล้วหรือยัง ?"
พูดถึงความประทับใจในหนังไปแล้ว
เรามาพูดถึงส่วนที่หนังไม่ได้ลงรายละเอียดบ้างดีกว่า
นั่นก็คือ ทฤษฏีที่ทำให้ จอห์น แนช ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์
"ทฤษฏีเกม" หรือ Game Theory เป็นทฤษฏีที่ว่าด้วยการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่มีทางเลือก
และมีผู้ร่วมในทางเลือกนั้นๆมากกว่าหนึ่งฝ่าย การตัดสินใจใดๆของฝ่ายหนึ่งจะส่งผลไปยังอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
จอห์น แนช ไม่ใช่ผู้คิดค้นทฤษฏีเกม แต่สิ่งที่แนชทำกับทฤษฏีเกมคือ แนวคิดของเขาเรื่อง ภาวะดุลยภาพของแนช (Nash Equilibrium) ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจถึงการเลือกตัดสินใจในภาวะที่ผลประโยชน์ร่วมถูกจัดสรรอย่างลงตัว
ทำให้เราสามารถคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์นั้นๆว่าจะเกิดผลลัพธ์แบบใดได้บ้าง
ตัวอย่างที่ใช้กันแพร่หลายในการอธิบายเรื่องนี้คือเรื่อง Prisoner's Dilemma (ความลำบากใจของนักโทษ)
สถานการณ์ของเกมนี้คือ มีนักโทษคดีร้ายแรง 2 คน ถูกจับมาสอบสวน โดยแยกห้องสอบสวนกัน
นักโทษแต่ละคนจะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายบอกอะไร เล่าอะไร
เงื่อนไขที่ทางตำรวจเสนอมีดังนี้
- หากทั้งสองไม่ปริปากพูดอะไรเลย จะต้องติดคุกคนละ 5 ปี
- หากทั้งสองรับสารภาพ จะได้รับโทษติดคุกคนละ 10 ปี
-หากคนใดคนหนึ่งสารภาพ อีกคนหนึ่งไม่ยอมพูด คนที่สารภาพจะถูกกันไว้เป็นพยานและได้รับการปล่อยตัว
ส่วนคนที่ไม่ยอมปริปากพูดจะถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต
4
การมองผลลัพธ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้เพื่อช่วยตัดสินใจ โดยทั่วไปเขาจะสร้างตารางผลลัพธ์
แต่ในบทความนี้ผมจะไม่ลงลึกขนาดนั้น จะอธิบายให้เข้าใจโดยไม่ใช้ตาราง
กรณีนี้นักโทษทั้งสองไม่อาจรู้ว่าอีกฝั่งหนึ่งจะเลือกสารภาพหรือไม่ปริปาก
ดังนั้นจากทางเลือกที่ทั้งคู่มีคือ สารภาพ หรือ ไม่ปริปากพูดใดๆทั้งสิ้น ซึ่งทางเลือกไหนดีที่สุดนั้น ไม่ยากเลยถ้าได้ตกลงกันก่อน
แต่สถานการณ์นี้ทั้งสองฝ่ายต้องเลือกโดยไม่ทราบว่าอีกฝั่งเลือกทางไหน
เป็นการเลือกจากการคาดการณ์ที่ทำให้ตนเองได้ประโยชน์ที่สุด ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกแบบไหน
(ขอตั้งชื่อนักโทษ 2 คนนี้ว่า นาย A และ นาย B)
มุมมองของ A
ถ้านาย A สารภาพ โทษสูงสุดของ A กรณีนาย B สารภาพด้วยคือ 10 ปี
(กรณีนี้ถ้านาย B ไม่ปริปาก นาย A ถูกปล่อยตัวทันที)
ถ้านาย A ไม่ปริปาก โทษสูงสุดของ A กรณีนาย B สารภาพด้วยคือนาย A จำคุกตลอดชีวิต (แต่นาย B ได้รับการปล่อยตัว)
(กรณีนี้ถ้านาย B ไม่ปริปากด้วย จะติดคุกคนละ 5 ปี แต่เราจะเชื่อใจนาย B ได้อย่างไรว่านาย B จะไม่หักหลังโดยการยอมรับสารภาพเพื่อให้ตนเองพ้นโทษ )
ท้ายที่สุดกลยุทธ์ที่ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์นี้คือ การรับสารภาพ เพราะผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดได้คือติดคุก 10 ปี หรืออาจจะไม่ติดเลย(ถ้านาย B ไม่ปริปาก) ดีกว่าเลือกทางที่ติดคุกเพียง5 ปี แต่เสี่ยงติดคุกตลอดชีวิตหากนาย B รับสารภาพ
นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น
ในความจริงนั้นทฤษฎีเกม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจได้หลากหลายเช่น ทางการค้า การต่อรอง การประมูล การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
โดยนำแนวคิดของจุดดุลยภาพของแนชมาร่วมวิเคราะห์ด้วย
(อาจมีการวิจัยเชิงสถิติ เพื่อให้ได้ตัวเลขคาดการณ์มาสร้างตารางผลลัพธ์แล้วนำมาวิเคราะห์หาทางเลือกที่ดีที่สุดในการตัดสินใจ)
ถือเป็นทฤษฎีที่มีประโยชน์เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือก "ทางเลือกใด ทางเลือกหนึ่ง"
เช่นเดียวกับการที่ผมก็มีทางเลือกว่าจะ "นอนขี้เกียจอยู่บนเตียง" หรือ "จะลุกขึ้นมาเขียนบทความลง Blockdit"
เช่นเดียวกับผู้อ่านที่มีทางเลือกว่าจะ "อ่าน" หรือ "ไม่อ่าน" บทความนี้
และเมื่ออ่านแล้วท่านจะเลือก "ปล่อยผ่าน" หรือ " กดถูกใจบทความนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน" ก็สุดแล้วแต่ความเมตตาของท่าน
1
แต่ทางเลือกที่ดีที่สุดของผมไม่ว่าผู้อ่านจะกดถูกใจบทความนี้หรือไม่ก็คือ
"สะบัดตัวขี้เกียจออกไป แล้วลุกขึ้นมาเขียนบทความลงBlockdit ซะ "
โฆษณา