30 ก.ค. 2019 เวลา 22:00 • การศึกษา
วิวัฒนาการของงู ตอนที่ 1
ทำไมงูไม่มีขา?
โดยปกติแล้ว รูปแบบของสัตว์บกทั่วๆไปจะมี
หัว ขาหน้า(แขน) ขาหลัง(ขา) ลำตัว และหาง
ถ้าขาด อย่างมากก็ขาดหางไปเช่นมนุษย์เราที่เป็นลิงไพรเมต
แต่มีสัตว์ชนิดนึงครับที่มีแต่หัว ลำตัว และหาง
สัตว์ชนิดนั้นก็คือ "งู"
เคยสงสัยกันไหมครับว่าขาข้างหน้า
กับขาข้างหลังมันหายไปไหน?
สัตว์อื่นๆบนบกก็มีขาครบทั้งสี่ข้าง
ทำไมสัตว์ประเภทงูถึงไม่มีขาหน้าและขาหลัง?
ถ้าจะถามสั้นๆก็คือ
ทำไมงูถึงไม่มีขา?
แล้วไม่มีขาอยู่มาได้ยังไงตั้งร้อยกว่าล้านปี...
คำตอบสั้นๆแบบรวบรัดก็คือ
"มันเป็นสัตว์เลือดเย็น" และ "ตัวมันยาว"
ถ้าบอกแบบนี้หลายคนอาจจะแย้งในใจว่า
"จระเข้มันก็เลือดเย็นและตัวยาว กิ้งก่ามันก็เลือดเย็น(แต่ตัวสั้น)
ขามันก็ไม่เห็นจะหดหายไปไหนเลย"
โอเคๆ งั้นคีย์เวิร์ดที่ผมจะเพิ่มขึ้นมาอีกอันนึงก็คือ
"มันเลือดเย็น ตัวยาว แถมยังหมกอยู่ในดินอีกด้วย"
ทีนี้พอจะเห็นภาพหรือยังครับ ถ้ายังไม่เห็นภาพ
ผมขอเล่าถึงบรรพบุรุษของงูสักเล็กน้อยละกัน
เมื่อร้อยหกสิบล้านปีที่แล้วครับ...
กิ้งก่าในโพรง
ประมาณ 150 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษงูยังเป็นบรรพบุรุษร่วม
กับสัตว์พวกกิ้งก่า แต่สายพันธุ์ของบรรพบุรุษงูนั้นต่างออกไป
เป็นกิ้งก่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในโพรงเป็นหลัก (Burrowing Lizard)
นั่นทำให้ขาของมันจะไม่ได้ใช้ในการเคลื่อนที่มากเท่าที่ควร
เพราะที่ๆมันอยู่ อาหารก็อยู่ในระแวกนั้นซะเป็นส่วนใหญ่
ทำให้การเคลื่อนไหวของบรรพบุรุษงูไม่ได้บ่อยนัก
แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ทำให้ขาหายไป...
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ขาของงูเริ่มหดหายไปนั่นก็คือ
"ขนาดตัวที่ยาวขึ้น" คำถามที่เป็นประเด็นหลักจริงๆของเรื่องนี้
จึงไม่ใช่ทำไมงูไม่มีขา แต่เป็น...
ทำไมตัวงูมันยาวขึ้นต่างหาก!
ตัวยาวมาก
เหตุผลที่ตัวงูยาวขึ้นก็เพราะ "มันเป็นหนึ่งในสัตว์เลือดเย็นครับ"
ถามว่าเลือดเย็นเกี่ยวอะไร ผมจะขอเล่าคร่าวๆละกัน
คือแบบนี้ครับ การที่งูเป็นสัตว์เลือดเย็นหมายความว่า
"มันไม่สามารถสร้างความร้อนเองได้เลย"
แหล่งความร้อนหลักๆที่มันหาได้ก็คือ "ดวงอาทิตย์"
ต่างจากสัตว์เลือดอุ่นอย่างเราๆที่มีแหล่งเชื้อเพลิงเป็นของตัวเอง
ร่างกายอุ่นตลอดเวลา ไม่ต้องพึ่งความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็อยู่ได้
ซึ่งการที่ต้องพึ่งความร้อนจากดวงอาทิตย์นี้แหละ
สัตว์ต่างๆก็มีวิธีการปรับตัวที่ต่างออกไป
สำหรับงูแล้ว การที่ความร้อนจะเข้าถึงร่างกายได้เร็วและออกได้เร็วนั้น
พื้นที่ผิวในการรับความร้อนต้องเยอะก่อน(ทางเข้าทางออกต้องเยอะ)
ซึ่งการจะวิวัฒนาการให้ตัวใหญ่และแผ่กว้างเป็นจานดาวเทียมคงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ
(คือตัวต้องใหญ่มากๆถึงจะรับแสงได้มาก แต่เป็นเรื่องที่ใช้พลังงานเยอะมาก
และผลลัพธ์จะออกมาเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ จึงเป็นไปไม่ได้)
บรรพบุรุษงูจึงแก้ปัญหาด้วยการมีลำตัวที่ เรียวและยาว
การที่ตัวยาวช่วยให้พื้นที่ผิวรับแสงมีทั้งหลังและท้องมากขึ้น
เลือกได้ว่าอยากได้แดดช่วงไหน
ส่วนการที่มีตัวเรียวทำให้ความร้อนเข้าถึงอวัยวะภายในได้ง่าย
(ถ้าตัวหนา ความร้อนเข้าไม่ถึง) และเมื่อความร้อนเข้าถึงตัว...
ปฏิกิริยาต่างๆก็เริ่มทำงาน
1
พอตกเย็นเมื่อต้องกลับเข้าไปอยู่ในโพรง
มันต้องการรักษาอุณหภูมิให้ต่ำ เพราะไม่ต้องใช้พลังงานแล้ว
ปฏิกิริยาต่างๆจะได้ทำงานช้าลง(Freeze)
ความร้อนก็จะออกได้เร็วเพราะทางออกความร้อน
มันเยอะอยู่แล้ว(พื้นที่ผิวเยอะ)
นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวมันยาวขึ้นครับ
แต่เดี๋ยวก่อน...
แล้วมันเกี่ยวกับการที่ขาหายไปยังไง?
ขามีแต่แทบไม่ได้ใช้เลย
มันเกี่ยวก็ตรงที่...
การที่ตัวยาวขึ้นเพื่อต้องรับความร้อนจากดวงอาทิตย์ให้มาก
บวกกับมีขาหน้าขาหลังเอาไว้เคลื่อนที่ ลองนึกภาพตามแล้วจะเห็นว่า
มันเดินลำบากมากๆ
2
ถ้าจะเดินหรือเคลื่อนที่ให้สะดวกขึ้น ต้องมีขาเยอะๆ
แบบตะขาบ หรือกิ้งกือ ที่มีลำตัวยาวสัมพันธ์กับจำนวนขา
แต่งูไม่ใช่แมลง ไม่ได้เป็นสัตว์มีข้อปล้อง
จะมีขาติดกันเป็นร้อยเป็นไปไม่ได้
ถ้าการเดินด้วยขาเหมือนเดิมมันลำบาก แถมมีก็ไม่ค่อยได้ใช้
งูจึงเปลี่ยนวิธีการเดินมาเป็นเลื้อยแทน ซึ่งตอบโจทย์กว่ามากๆ
โดยการเพิ่มกล้ามเนื้อหน้าท้องและกระดูกสันหลังไปเยอะๆ ช่วยในการเคลื่อนที่
และการเพิ่มกระดูกและกล้ามเนื้อยังใช้รัดเหยื่อให้ตาย
จนสามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ
เมื่อสิ่งไหนเกิดประโยชน์ ก็ถูกคัดเลือกโดยธรรมชาติจนถึงขั้น
"เหมาะสม"ที่จะใช้งานต่อไปและดีขึ้นเรื่อยๆ งูเลยใช้วิธีการเลื้อยแทน
สุดท้าย เมื่อความจำเป็นที่จะมีขาลดลง
ก็จะถูกธรรมชาติคัดออกไป
จนไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มันอีก ...
"ตลอดกาล"
***คำถามทิ้งท้าย***
จากด้านบนจะเห็นว่า ผมพูดถึงทั้งสัตว์เลือดอุ่นและ
เลือดเย็นไปแบบคร่าวๆ(มากๆ)
เคยสงสัยไหมครับว่า
ทำไมงูถึงกินแค่มื้อใหญ่ๆมื้อเดียวทั้งเดือนก็อยู่ได้?
ทำไมคนเราต้องกินวันละสามมื้อถึงจะพอ?
มันเกี่ยวอะไรกับความเป็นเลือดอุ่นเลือดเย็นหรือเปล่า?
...ตอนหน้ามีคำตอบครับ...
#WDYMean
#ขอบคุณที่อ่านกันจนจบนะครับบ 😁
#ถ้าชอบก็ฝากกด"Like"กด"Share"เป็นกำลังใจให้กัน
ด้วยนะครับ 😋
#และถ้าใครสนใจบทความสไตล์นี้ก็อย่าลืมกดติดตามกัน
ด้วยนะครับ ☺
#อ้างอิงจาก
Wikipedia : snake
#รูปภาพประกอบ
โฆษณา