31 ก.ค. 2019 เวลา 05:12 • ธุรกิจ
ผู้นำที่ดีควรมีตามแบบฉบับ Satya Nadella ซีอีโอของไมโครซอฟท์
วันนี้ได้อ่านหนังสือเรื่อง พลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์ (Hit Refresh) เป็นหนังสือที่ Satya Nadella ซีอีโอคนใหม่ของไมโครซอฟท์ เป็นผู้เขียน Satya Nadella ถือเป็นซีอีโอคนที่สามในประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท (คนแรกคือ บิล เกตส์ คนที่สองคือสตีฟ บัลเมอร์)​ ตำแหน่งสุดท้ายของเขาก่อนขึ้นเป็นซีอีโอคือรองประธานฝ่าย Cloud and Enterprise ดูแลงานสายที่ไมโครซอฟท์เข้มแข็งที่สุด คือซอฟต์แวร์องค์กรและกลุ่มเมฆ
บิล เกตส์พูดถึง Satya ว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของบริษัท ไม่มีใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของไมโครซอฟท์มากไปกว่า Satya แล้ว เขามีทักษะด้านวิศวกรรมเต็มร้อย มีมุมมองด้านธุรกิจ และสามารถรวมใจคนเข้าด้วยกันได้ ทั้งยังมีวิสัยทัศน์ต่อเทคโนโลยีในโลกอนาคตที่จะสามารถนำพาไมโครซอฟท์ไปได้ และนี่คือคุณสมบัติ 3 เรื่องที่ผู้นำที่ดีควรมีตามแบบฉบับ Satya Nadella ซีอีโอของ​ไมโครซอฟท์​
cr. CNBC.com
1.จงสร้างความชัดเจนไปสู่ทุกคนที่คุณทำงานด้วย(Bring clarity)
ผู้นำที่ดีควรสร้างความกระจ่าง และช่วยเหลือทุกคนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ ไปให้ได้ ผู้นำจะต้องมีความชัดเจน ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร คุณไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็นผู้นำได้หากมีความไม่แน่ใจ คลุมเครือและสับสน ผู้นำที่ดีจำเป็นต้องสังเคราะห์สิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนให้ได้ก่อนที่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น ต้องนำเรื่องต่างๆ จากภายในและภายนอกองค์กรมาปะติดปะต่อกลั่นกรองออกมาเป็นสาระสำคัญ ผู้นำจะต้องสามารถมองเห็นประเด็นที่ชัดเจนท่ามกลางเสียงรบกวนมากมาย
ยกตัวอย่าง การทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ที่มีผู้บริหารระดับกลาง (middle management) อยู่ในระดับหัวหน้าที่ต้องสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงและระดับพนักงานที่ดูแล การสร้างความกระจ่าง และชัดเจนเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก บางครั้งพนักงานระดับล่างอาจจะเกิดความสงสัยว่า เราทำงานชิ้นนี้ไปทำไม ผู้บริหารระดับกลางจะเป็นคนสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความกระจ่างให้กับพนักงาน ไม่ใช่ตอบว่า เจ้านายสั่งการลงมาก็ให้ทำๆ ไป ซึ่งการสื่อสารแบบนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองระหว่างพนักงานระดับล่างและผู้บริหารระดับบน อีกทั้งยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผิดและไม่ก่อเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานอีกด้วย (Trustworthy)
2.ผู้นำต้องสร้างแรงกระตุ้น (Boost energy and optimism)
คนที่ทำงานเก่งอย่างเดียวเรียกว่าเป็น ผู้ชำนาญการ (specialist) แต่ไม่ได้เป็นผู้นำ การเป็นผู้นำจะต้องมีตาที่เห็นความแตกต่างในความไม่แตกต่างของพนักงาน จะต้องสามารถหาคนที่ถูกต้องในหมู่คนที่ไม่ถูกต้อง และพัฒนา ฝึกฝนคนเหล่านั้น Satya ไม่ต้องการพนักงานที่วันๆ เอาแต่ Complain แต่ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น แต่ Satya ต้องการคนที่สามารถจะทำสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้น (Make it happen) ยกตัวอย่างเหมือนการอยู่บ้าน หากเราเห็นหลอดไฟเสีย เราก็ไปซ่อม หากเราอยากเห็นต้นไม้งอกงาม เราก็ต้องดูแล เช่นเดียวกัน เราต้องหาพนักงานที่ลงมือทำไม่ใช่เอาแต่พูด ความท้าทายของผู้นำก็คือ ทำอย่างไรให้พนักงานรู้สึกว่าที่ทำงานเหมือนบ้านของพวกเขาที่จะต้องดูแล เพราะฉะนั้น คนที่เป็นผู้นำจะต้องเป็นคนสร้างแรงบัลดาลใจให้พนักงานเกิดการมองโลกในแง่ดี และสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ทุกคนสามารถทำได้ดีที่สุด รวมทั้งสร้างทีมที่แข็งแกร่งกว่าเดิมในวันพรุ่งนี้
3. ผู้นำต้องต้องหาทางให้เกิดความสำเร็จ (Deliver Success)
การประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นในเพียงช่วงเวลาเพียงข้ามคืน เช่นเดียวกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็ยังต้องเจอกับอุปสรรคตลอดทาง ดังนั้นสิ่งสำคัญข้อสุดท้ายที่ผู้นำควรมี คือการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ พร้อมเผชิญกับปัญหาที่อยู่เหนือขอบเขตการควบคุม ผู้นำต้องไม่มีขอบเขตจำกัด และต้องมีมุมมองกว้างไกลระดับโลกเวลามองหาทางออกต่างๆ
เหมือนอย่างที่ Satya เคยกล่าวไว้ว่า ช่วงหนึ่งที่ไมโครซอฟท์อยู่ในช่วง learning to fly again ให้เราลองจินตนาการภาพไก่ที่กำลังจะฝึกบิน ตอนหัดบิน มันจะดูน่าเกลียดมาก เพราะมันจะล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอด แต่พอบินได้มันก็จะสวยงาม เหมือนกับการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ทุกคนจะนึกถึงแต่ตอนสวยงาม แต่อย่าลืมนึกถึงตอนเรียนรู้ที่จะบินด้วย เหมือนคำกล่าวที่ว่า "Flying is good but learning to fly is not good"
ที่มา: หนังสือพลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์ : Hit Refresh
โฆษณา