2 ส.ค. 2019 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) ตัวแทนของสันติภาพและอิสรภาพ ตอนที่ 5
ความพยายามของโมหัน
ในปีค.ศ.1896 (พ.ศ.2439) ภายหลังจากมาอยู่แอฟริกาใต้ได้สามปี โมหันก็ได้กลับอินเดีย
โมหันต้องการให้ครอบครัวของเขามาอยู่แอฟริกาใต้ด้วยกัน ดังนั้นทั้งคาสเตอร์บาและลูกๆ จึงเดินทางมาแอฟริกาใต้พร้อมกับโมหัน
เมื่อมาถึงแอฟริกาใต้ โมหันก็ได้บอกให้ครอบครัวเริ่มปฏิบัติตามหลักสากล เช่น การใช้ช้อนส้อมทานข้าว ใส่ถุงเท้าและรองเท้า ซึ่งคาสเตอร์บาก็พยายามจะทำตามที่โมหันบอก
คาสเตอร์บาได้คลอดลูกอีกสองคน ซึ่งเวลานั้น โมหันก็ยังคงทำงานเป็นทนายความ แต่เขาก็ยังคงไม่หยุดเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับชาวอินเดียในแอฟริกา
ในปีค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) สงครามโบเออร์ครั้งที่สอง ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอังกฤษและสาธารณรัฐทรานสวาลกับเสรีรัฐออเรนจ์ได้เกิดขึ้น
โมหันคิดว่าหากสนับสนุนรัฐบาลอังกฤษ ก็จะทำให้อังกฤษปฏิบัติกับชาวอินเดียดีขึ้น
โมหันรวบรวมอาสาสมัครชาวอินเดียกว่า 1,000 คน จัดตั้งหน่วยพยาบาลของชาวอินเดีย คอยช่วยเหลือทหาร รักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
แต่ดูเหมือนโมหันจะคิดผิด รัฐบาลอังกฤษยังคงเดินหน้าจำกัดสิทธิของชาวอินเดียต่อไป
โมหันจึงหันไปเขียนบนความลงหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ “Indian Opinion” โมหันเขียนบทความเกี่ยวกับรัฐบาล รวมทั้งเขียนความคิดเห็นเรื่องการรักษาโรคด้วยยาจากธรรมชาติ รวมถึงประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ
ในเวลานั้น โมหันได้คิดเรื่องปรัชญาชีวิตซึ่งเขาเรียกว่า “สัตยาเคราะห์” ซึ่งเขาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับความอยุติธรรมที่ชาวอินเดียกำลังพบเจอ
สัตยาเคราะห์คือการต่อสู้บนรากฐานของความจริง ซึ่งนั่นคือการไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ใช้ความรุนแรง และการไม่ครอบครองทรัพย์สมบัติ
โมหันจะเรียกร้องสิทธิให้ชาวอินเดียสำเร็จหรือไม่ ติดตามต่อในตอนหน้านะครับ
โฆษณา