4 ส.ค. 2019 เวลา 00:04
“AirPods” กำเนิดปัญหาใหม่ของสิ่งแวดล้อม
ทุกวันนี้เราคงไม่แปลกใจ
เมื่อเห็นใครซักคนเดินผ่าน แล้วมีหูฟังด้วนๆ ไม่มีสาย อยู่ในหู
(เพิ่มเติม) เนื่องด้วยความสะเพร่าของผมเอง จากแต่เดิมที่ตั้งใจให้ AirPods เป็นจุดเริ่มเรื่องและการเขียนที่ไม่ครอบคลุม ทำให้บทความนี้ดูเป็นการ Bias ต้องขออภัยด้วยครับ ผมจะนำไปปรับปรุงให้เป็นกลางมากยิ่งขึ้นครับ
ในช่วงเริ่มวางขายแรกๆ ในปี 2016
AirPods ถูกดูหมิ่นดูแคลนไว้มากมาย
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 3 ปี
ในปี 2019 มันก็ฟันฝ่าอุปสรรค และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดหูฟังไร้สายได้ในที่สุด
แล้วนวัตกรรมหูฟังไร้สายของ Apple ตัวนี้ ทำผลงานอะไรไว้บ้าง?
“กินส่วนแบ่งตลาดหูฟังไร้สายไป 26% ภายในเดือนเดียวหลังเปิดตัว.”
“60% ของยอดขายหูฟังไร้สายทั่วโลกในไตรมาส 4 ปี 2018 เป็นของ AirPods. ”
“AirPods เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดตลาดหูฟังไร้สายเซคชั่นใหม่ True wireless.”
ดูเหมือนจะเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ จนเหล่าบรรดาผู้ผลิตทั้งหลาย ต่างพากันผลิตหูฟัง True wireless ของตัวเองออกมาแข่งบ้าง
แต่ทว่า ในทางกลับกัน
มันหมายถึงจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยรวม ที่เพิ่มขึ้นไม่แพ้กำไรของบริษัทเลย
แล้วมันแย่กว่าเดิมยังไง ในเมื่อทุกวันนี้ก็ผลิตขยะกันมากมายอยู่แล้ว..?
ลองหันไปมองรอบๆตัวคุณดู
คุณคิดว่าตอนนี้ มีแบตเตอรี่อยู่กี่ก้อน..
ซึ่งใน AirPods 1 ชุด
มีแบตเตอรี่อยู่ทั้งหมด 3 ก้อน
และตั้งแต่ปี 2016
AirPods ถูกขายไปแล้วกว่า 50 ล้านชุด
คิดเป็นแบตเตอรี่ “ขนาดจิ๋ว”
กว่า 150 ล้านก้อน
นี่ยังไม่ได้รวม โทรศัพท์, powerbank, smart device ต่างๆ อีกมาก
ส่วนประกอบของ AirPods | ภาพ iFixit
และถึงแม้ว่า Apple จะใส่โลโก้ “Do not Landfill” ไว้ข้างกล่องบรรจุภัณฑ์
แต่จะมีซักกี่คน ที่รู้ว่ามันคือสัญลักษณ์ “ห้ามฝังกลบ”
จนป่านนี้นอนก้นบ่อไปแล้วไม่รู้กี่เครื่อง..
ปัญหาที่สำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันคือ ความยุ่งยากในการรีไซเคิล
เมื่อก่อน ในครั้งที่ EarPods ยังมีสายอยู่
Apple ทำยอดขายไปได้กว่า 1.4 พันล้านชิ้น
ซึ่งจากการที่ EarPods เป็นแค่หูฟังที่มี ชิป, ยาง, ทองแดง อยู่ภายใน
ทำให้มันง่ายต่อการรีไซเคิลมาก
และการออกแบบที่แอปเปิ้ลใช้ “ในตอนนั้น” ก็ง่ายต่อการรีไซเคิลอีกด้วย
แต่ในตอนนี้
การมาของแบตขนาดจิ๋ว ทำให้ทุกอย่าง ยุ่งยากขึ้นเรื่อยๆ..
การใช้กาวจำนวนมากในการประกอบเครื่อง นับวันจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะว่าสามารถทำให้นักออกแบบ ทำตัวเครื่องให้เล็กลง บางลง และดูสวยขึ้นได้
แต่ตรงกันข้ามสำหรับผู้รีไซเคิล มันเป็นเรื่องไม่สวยงามเอาเสียเลย ที่ต้องมานั่งแกะแบตเตอรี่ขนาดจิ๋วเพื่อแลกกับกำไรเพียงน้อยนิด ที่จะน้อยลงไปอีก เมื่อเจอกับการมาของกาวมหัศจรรย์
การรีไซเคิลในอินเดีย | ภาพ theconversation
ครั้นจะเอาขี้เกียจเป็นที่ตั้ง ใส่ทั้งเครื่องลงไปในเครื่องบด
แบต Li-ion ก็จะสำแดงเดช ไฟลุกพรึ่บขึ้นมาให้ชมกัน
ยิ่งถ้าเป็นแบตขนาดใหญ่อย่าง powerbank คงจะไม่ต้องบอก ว่ามันอันตรายแค่ไหน
ผลจากความยุ่งยากในการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้มีผู้รีไซเคิลบางเจ้า ถึงกับปฎิเสธการรับ E-waste เพื่อตัดปัญหา
แต่สุดท้ายแล้ว ขยะที่ถูกตีกลับ อย่างดีหน่อยก็ไปลงหลุม
แย่ลงมาก็ไปถมในประเทศโลกที่ 3
หรือแย่ที่สุด ก็ไปอยู่ในทะเล..
อร่อยมั้ย | ภาพ theconversation
รู้มั้ยครับว่า ขยะพลาสติกบนโลกของเราทุกวันนี้ ถูกรีไซเคิลไปแค่ 14% จากทั้งหมด
นั่นก็แปลว่าขยะที่เกิดใหม่ทุกๆ 10 ชิ้น จะมี 8.5 ชิ้น ที่ไม่ได้ไปไหน และยังคงวนเวียนอยู่รอบๆตัวเรา
ซึ่งหลังจากเห็นข่าวว่ามีวาฬบรูด้ามาโผล่ที่แม่น้ำเจ้าพระยา
ผมก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าในท้องของเจ้าวาฬตัวนั้น
“มีขยะอยู่กี่ชิ้นกันนะ..”
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ถ้าชอบก็ฝากกดไลค์บทความกันด้วยนะครับ ผมลองทำแนวคล้ายๆลงทุนแมนดูเพราะอยากลองเขียนหลายๆแบบครับ
ตัวผมเองยังต้องพัฒนาอีกมาก คุณผู้อ่านคิดเห็นกับบทความแนวนี้ยังไงก็ติชมกันได้เต็มที่เลยนะครับ
โฆษณา