3 ส.ค. 2019 เวลา 05:05 • ประวัติศาสตร์
วิธีทำให้สีของปลาทองไม่หลุด
ปลาทองสองสี (ขาว-แดง) ขวัญใจนักเลี้ยงปลาทองทั่วโลก
สิ่งหนึ่งที่คนเลี้ยงปลาทองคาดหวังกับปลาทองสักตัวคือการได้เห็นมันมีสีสันที่สวยสดใส แต่ไฉนเลี้ยงไปเลี้ยงมาสีมันเริ่มหลุดลอกออกไปเรื่อยๆ จากที่เลี้ยงปลาทองอยู่ดีๆ วันดีคืนดีกลายร่างเป็นปลาเงินซะงั้น
เราอาจตั้งข้อสังเกตว่าทำไมปลาทองของเราถึงถอดสีได้ บางคนเลือกโทษที่ตัวปลา บอกว่าปลาคุณภาพไม่ดี แต่ที่ว่าไม่ดีนี่ ก็เราไงที่ตัดสินใจเลือกปลากลับมาเลี้ยงที่บ้านของเรา
ต้องเข้าใจว่าปลาสองสีมีโอกาสสีหลุดมากกว่าปลาสีเดียว
ปลาทองสีเดียว (ส้มล้วน) ยากที่สีจะหลุดลอกได้
ในปลาทองที่มีสีส้มทั้งตัว มีโอกาสน้อยมากที่สีจะหลุดลอกจนกลายเป็นสีขาวหรือสีเงินทั้งตัว แต่ในขณะเดียวกัน ปลาสีขาวแดงหรือที่เรียกว่าปลาสองสีนั้น มีโอกาสที่สีจะหลุดลอกมากที่สุด
แล้วเคยได้ยินคำว่า 'ปลาเด็กลอกสี ปลาแก่สีลอก' ไหมครับ ถ้าไม่เคยได้ยินก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผู้เขียนคิดมันขึ้นมาเอง (ฮา...)
ปลาทองวัยแรกเกิด หรือที่เรียกกันว่า Black Baby
จริงๆ แล้วเราสามารถพบเจอปลาลอกสีได้ทุกช่วงอายุของมัน แต่โดยส่วนใหญ่ที่เราพบเจอและอยากจะหลีกเลี่ยงคืออาการสีหลุดในปลาเด็กกับปลาแก่ แต่มีความต่างตรงที่ในปลาเล็กนั้น แรกเริ่มจะเป็นปลาสีออกดำอมเขียว แทบทั้งนั้น ก่อนจะค่อยๆ ลอกสีตัวเองออกมาเป็นสีสันส้ม แดง ขาว ขึ้นอยู่กับปลาตัวนั้นๆ ในส่วนของปลาแก่ จากสีที่เคยเข้มก็มักจะค่อยๆจางลง หรือสีส้มที่เคยมีก็อาจจะค่อยๆ หลุกลอกออกไปตามอายุขัยของมัน
1
ปลาทองวัยชรา สีจะเริ่มหลุดลอกตามอายุขัยของมัน
ย้อนกลับไปช่วงต้นเรื่องที่เราพูดตัดพ้อว่าคุณภาพปลาไม่ดีมาตั้งแต่แรกทำให้สีลอก สำหรับผู้เขียนมองว่าจริงๆ แล้วปลาลอกสีไม่ได้หมายความว่าคุณภาพไม่ดี แต่มันเป็นเรื่องธรรมชาติขปลาแต่ละเชื้อสาย หรือที่เราเรียกกันว่า พันธุกรรมของปลานั่นเอง ซึ่งมีส่วนค่อนข้างมากต่อการหลุดลอกของสีปลา ยีนของปลาแต่ละตัวนั้นจะถูกฝังรากอยู่ในสายเลือดหรือ DNA ของมันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของมันแล้ว รอแค่ปัจจัยอื่นๆ ที่จะไปกระตุ้นให้มันแสดงอาการออกมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เปรียบเทียบชั้นสีของปลาทอง คุณคิดว่าฝั่งไหนคือชั้นสีที่ดีและไม่ดี
ปัจจัยที่ว่ามีทั้ง อาหารที่เราให้ สภาพน้ำ สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจัยส่วนนี้เกี่ยวข้องกับผู้เลี้ยงโดยตรง
1
หลายคนไปโฟกัสที่เรื่องของอาหาร แต่ผู้เขียนมองว่า เรื่องของสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงมีผลต่อการหลุดลอกของสีปลามากกว่าเรื่องอาหารที่ให้เสียอีก การเลี้ยงปลาในที่ร่มตลอดเวลาหรือโดนแสงแดดน้อยมากๆ มีโอกาสทำให้ปลาสีหลุดได้ง่ายกว่าปลาที่เลี้ยงแบบโดนแดดสม่ำเสมอ
อีกกรณีคือการเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ หลายคนชอบเปลี่ยนน้ำปลา ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพียงแต่เราต้องดูความเหมาะสมว่าควรจะเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าปลาที่เลี้ยงกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาสีสัน หรือมีอาการสีเริ่มหลุดลอก ถ้าเรายิ่งไปเปลี่ยนน้ำมันบ่อยเข้า ปลาจะปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำใหม่และจะยิ่งถูกกระตุ้นตัวมันพยายามลอกสีเร็วขึ้น ถ้าเราอยากเห็นภาพที่ชัดขึ้น ให้ลองนึกถึงปลาทองของจีนดูครับ พวกนั้นสีสันเข้มจัดจ้านสุดๆ ส่วนนึงมาจากฟาร์มปลาที่เขาจะเลี้ยงพวกมันกลางแจ้งแถมยังไม่เปลี่ยนน้ำปลาจนหน้าน้ำในบ่อเขียวข้นไปเลย
2
มาถึงเรื่องของอาหารบ้าง อีกหนึ่งคำที่ได้ยินบ่อยๆ คือ 'ปลาโตเร็วจนสีปลาตามไม่ทัน' ข้อนี้ส่วนใหญ่มาจากการเลือกอาหารและปริมาณของอาหารที่เราให้กับตัวปลาครับ
1
เข้าใจว่าผู้เลี้ยงส่วนใหญ่อยากเลี้ยงปลาให้โตเร็วๆ อยากเห็นพัฒนาการของปลา แต่ต้องเข้าใจธรรมชาติของปลาด้วย เพราะพวกมันต้องการเจริญเติบโตไปตามความเหมาะสมของอายุ บางคนเลือกใช้อาหารเร่งโตอัดให้กับปลา และนั่นทำให้เม็ดสีไม่สามารถพัฒนาได้ทันตามโครงสร้างของมัน ผลคือสีซีด จาง และหลุดลอกไปในที่สุด
2
บางคนให้อาหารแบบจัดเต็ม กินในปริมาณเยอะๆ วันละหลายๆ มื้อ นั่นก็มีส่วนทำให้ปลาสีหลุดได้เหมือนกัน เหตุผลก็คล้ายกันกับด้านบนคือสีปลาโตไม่ทันตามตัวปลา
การเลือกอาหารที่เหมาะสมสำหรับตัวปลาต้องดูคุณค่าทางโภชนาการของแต่ละตัวควบคู่ไปด้วย บางคนอาจเลือกใช้อาหารเร่งโต สลับกับเร่งสีที่มีสารอาหารจำพวกวิตามิน A เข้ามาประกอบ หรืออาจจะใช้อาหารที่มีส่วนผสมของ Astaxanthin และเนื้อสัตส์ทะเลอย่าง Krill ที่เป็นการเร่งสีด้วยสารอาหารจากธรรมชาติก็สามารถช่วยได้เช่นเดียวกัน
ปลาสีลอกที่สวยงามก็มีให้เห็นไม่น้อย อย่าให้สีปลามาจำกัดการเลี้ยงปลาของเราครับ
สุดท้ายไม่ว่าปลาของคุณจะสีหลุดหรือไม่ ขอให้เข้าใจว่าการเลี้ยงปลาที่เหมาะสมคือการเลี้ยงแบบค่อยเป็นค่อยไป การเลี้ยงให้พวกเขาได้โตตามวัยคือความสวยงามที่สุดในการเลี้ยงปลาแล้วครับ
โฆษณา