Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Insurance in Daily Life
•
ติดตาม
4 ส.ค. 2019 เวลา 08:57 • ธุรกิจ
การประเมินและอนุมัติราคาค่าซ่อมรถยนต์ จากเหมาซ่อมในอดีต ถึง Man Hour / Working Hour ในปัจจุบัน(ตอนที่ 2)
ระบบ man hour หรือ working hour คืออะไรและทำงานอย่างไร?
1
ระบบนี้เป็นระบบการประเมินและอนุมัติราคาที่ใช้เป็นมาตรฐานและแพร่หลายอย่างมากทั่วโลก โดยเป็นการยืมระบบการคำนวณราคาค่าแรงของศูนย์บริการรถยนต์มาใช้ จากที่ผมได้ศึกษามาด้วยตนเองนั้นเป็นระบบของญี่ปุ่น ซึ่งศูนย์บริการรถยนต์ญี่ปุ่นบางยี่ห้อในบ้านเราก็ใช้ข้อมูลตรงนี้มา set up ระบบ(การเสนอราคาซ่อมเคลมรถยนต์ของศูนย์บริการแต่ละศูนย์ก็จะมีระบบของตัวเอง ไม่ได้ใช้ระบบประเมินราคาของบริษัทประกันภัย ระบบของบริษัทจะใช้กับอู่เท่านั้น) โดยเป็นข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยประเทศญี่ปุ่น ที่มีการทดลอง ‘จับเวลา’ ทุกๆ ขั้นตอนในการซ่อมว่าใช้เวลากี่ชั่วโมงกี่นาที เช่น การถอดประกอบกันชนหน้า ถอด 1 ครั้ง จับเวลา ประกอบกลับเข้าไป 1 ครั้ง จับเวลา ทำซ้ำๆ เป็นร้อยๆ ครั้งเพื่อมาหาค่าเฉลี่ย ก็จะรู้ว่า การซ่อมกันชน 1 ชิ้น ตั้งแต่การถอด การเคาะซ่อม การขัดสีเก่าออก การพ่นสีใหม่ เข้าห้องอบ และประกอบกลับ ทั้งหมดใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วเอาข้อมูลเหล่านี้มาสร้างเป็นระบบประเมินราคา โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. ประเภทงานซ่อมหรือเปลี่ยน ถ้าเป็นงานซ่อมก็จะมีค่าแรงซ่อมด้วย ถ้าเป็นงานเปลี่ยนอะไหล่ก็จะมีเฉพาะค่าแรงทำสี(อะไหล่ไม่ได้ทำสีมานะครับ อย่างรถเรากันชนหน้าแตก ไม่ใช่ว่าสั่งอะไหล่จากศูนย์มาแล้วจะเป็นสีรถเราเอามาใส่ได้เลย อะไหล่จะมาเป็นสีพื้นแล้วค่อยมาพ่นสีตามสีรถอีกที) และต้องมีการถอด/ประกอบ หรือซ่อมได้เลยไม่ต้องถอดชิ้นส่วนออกมา ถ้าต้องมีการถอด/ประกอบระบบก็จะคิดชั่วโมงเพิ่มให้
2. ส่วนงานซ่อม เป็นการวัดระดับความยากง่ายในการซ่อม(Difficulties) จะมีการให้ระบุลักษณะความเสียหาย เช่น บุบมาก แตก ฉีก บุบตรงมุม ขอบ หรือสัน ใช้ค้อนเคาะไม่ได้ต้องใช้เครื่องดูด เป็นต้น ระบบก็จะคำนวณระดับออกมาจากง่ายไปยาก 3 ระดับ A ถึง C จำนวนชั่วโมงที่ได้ก็จะแตกต่างกัน ถ้างานยากมากก็จะได้จำนวนชั่วโมงมาก
3. ส่วนงานทำสี เป็นสีอะไร สีแห้งเร็ว สี two tone สีมุก จำนวนชั่วโมงก็จะได้มากน้อยตามต้นทุนของประเภทสี และซ่อมชิ้นเดียวหรือหลายชิ้น ถ้าซ่อมชิ้นเดียวก็จะได้ชั่วโมงต่อชิ้นมากกว่าซ่อมหลายชิ้น เพราะมีการเสียวัสดุสิ้นเปลืองมากกว่า
เมื่อทำการกรอกข้อมูลทั้งหมดแล้ว ระบบก็จะทำการคำนวณว่าได้จำนวนชั่วโมงทั้งหมดเท่าไหร่ เพื่อนำมาคูณกับ ‘ค่าแรงต่อชั่วโมง’ เช่น ค่าแรงของศูนย์บริการรถญี่ปุ่นทั่วไปตอนนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 500-600 บาทต่อชั่วโมง สมมติว่ากันชนหน้าคำนวณออกมาได้ 7 ชั่วโมง คูณด้วย 600 ก็จะเป็น 4,200(+VAT) บาท ส่วนค่าแรงต่อชั่วโมงของอู่ก็จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าศูนย์บริการ ซึ่งค่าซ่อมที่คำนวณออกมาได้จากระบบนี้ จะเป็นเฉพาะในส่วนของค่าแรงเท่านั้น หากมีการเปลี่ยนอะไหล่ด้วยก็จะต้องเพิ่มค่าอะไหล่รวมกับค่าแรงไปอีกส่วนหนึ่ง
การประเมินราคาด้วยระบบนี้มีข้อดีหลายอย่างมาก
1. สามารถประเมินราคาได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก เพราะมีการลงรายละเอียดสำคัญๆ ทั้งหมดของขั้นตอนในการซ่อม
2. ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคล พนักงานไม่ต้องมาเลือกว่าจะให้เป็นแผลเล็ก กลาง หรือใหญ่ แต่พนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบว่า รายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะระดับความยากในการซ่อม ตรงกับเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีคำอธิบายชัดเจนหรือไม่
3. เป็นการหลีกเลี่ยงการเจรจาต่อรองระหว่างพนักงานกับอู่ เนื่องจากมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานชัดเจน มีคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ไม่ต้องตีความหรือพิจารณาเพิ่มเติม เป็นที่เข้าใจและยอมรับตรงกันของทั้งสองฝ่าย
4. เพิ่ม productivity เป็นอย่างมาก จากการที่หลักเกณฑ์ชัดเจน ไม่ต้องเจรจาต่อรอง ไม่ต้องเดินทาง ดูรูปถ่ายและพิจารณาตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้พนักงานหนึ่งคนสามารถทำการอนุมัติราคาได้วันหนึ่งเป็นจำนวนมากๆ
5. บริษัทสามารถประหยัดค่าสินไหมฯ ที่รั่วไหล และอู่ได้รับราคาค่าซ่อมที่เป็นธรรม ถ้าเทียบกับราคาเล็ก กลาง ใหญ่ บางชิ้นที่ควรเป็นแผลเล็ก แต่พนักงานอนุมัติเป็นแผลกลาง บริษัทก็จะต้องจ่ายเงินเกินจริง แต่บางชิ้นควรจะเป็นแผลใหญ่ แต่พนักงานอนุมัติให้เป็นแผลกลาง อู่ก็จะได้ค่าซ่อมน้อยกว่าความเป็นจริง ด้วยวิธีการนี้ทำให้ rate ราคาสามารถซอยย่อยได้เป็นสิบๆ ช่วงในการประเมินราคาชิ้นส่วนหนึ่งชิ้น แตกต่างกันไปตามรายละเอียดความเสียหายที่กรอกเข้าไปให้ระบบคำนวณ ทำให้ได้ราคาที่ใกล้เคียงความเป็นจริงและยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย
6. บริษัทสามารถนำข้อมูลจากระบบไปใช้ในทาง analytics เพื่อต่อยอดได้อีกมากมาย
7. สร้างการแข่งขันและทำให้เกิดการพัฒนาในการซ่อมและการบริการของอู่ เนื่องจากระบบนี้ให้ค่าซ่อมเป็นรายชั่วโมง หากอู่ไหนที่ช่างมีฝีมือมีประสบการณ์ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูง ก็จะสามารถทำการซ่อมได้ในระยะเวลาที่น้อยกว่าจำนวนชั่วโมงค่าแรงที่ได้รับ ยิ่งพัฒนามากยิ่งซ่อมได้เร็วมากเท่าไหร่ อู่ก็จะได้กำไรเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ลูกค้าก็จะได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้นตามไปด้วย ส่วนอู่ที่ใช้เวลาซ่อมมากกว่าจำนวนชั่วโมงค่าแรงที่ได้รับ ก็เหมือนกับขาดทุนเรื่องต้นทุนค่าแรงที่ต้องจ่ายให้กับช่างซ่อม
ถึงจะมีข้อดีมากมาย แต่ทุกอย่างก็มีข้อเสียในตัวมันเอง
การใช้ระบบนี้ถือเป็นการผลักภาระให้กับอู่ เพราะอู่จะต้องเป็นคนที่กรอกรายละเอียดความเสียหายทั้งหมดเข้ามาในระบบ จากเดิมที่กรอกแต่ชิ้นละ 1 ช่อง คือ เล็ก กลาง หรือ ใหญ่ ต้องมากรอกรายละเอียดเพิ่มเฉลี่ยแล้วประมาณ 10 ข้อต่อชิ้น นอกจากนั้นบริษัทยังต้องส่งคนไปสาธิตการใช้ระบบในช่วงแรกให้กับทุกอู่ รวมไปถึงต้องมีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของรายละเอียดความเสียหายต่างๆ ในระบบ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องใช้เวลาปรับเปลี่ยนกันเป็นปีเลยทีเดียว และยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและบำรุงรักษาระบบซึ่งมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบแบบเดิมๆ มากพอสมควร
ระบบการประเมินราคาแบบ man hour หรือ working hour ในประเทศไทย สามารถพบได้ในศูนย์บริการมาตรฐานของรถยนต์แทบจะทุกยี่ห้อ ใบประเมินราคาหรือใบเสร็จรับเงินที่เราได้รับจากศูนย์เป็นตารางยาวๆ หลายหน้านั้น เบื้องหลังตัวเลขบนหน้ากระดาษเป็นระบบที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบขึ้นมาเป็นสิบๆ ปี ในส่วนของบริษัทประกันภัยในประเทศไทยที่ใช้ระบบการประเมินราคาแบบนี้ เท่าที่ทราบตอนนี้น่าจะมีแค่บริษัทเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่จะยังคงใช้แบบกึ่งเหมาอยู่ แต่ก็เป็นระบบ online บน web application หมดแล้ว หากทุกบริษัทเปลี่ยนมาใช้ระบบการประเมินราคาแบบ man hour หรือ working hour ก็จะถือว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทยอย่างมากเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะยุติธรรมต่อทั้งบริษัทและอู่แล้ว ก็ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการประเมินราคาให้เทียบเท่ากับศูนย์ และการที่ระบบนี้สามารถลดการรั่วไหลของค่าสินไหมฯ ได้มาก หากมีการใช้งานในวงกว้างก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยของ loss ratio ลดลง ส่งผลให้แต่ละบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งก็คือสามารถลดราคาค่าเบี้ยประกันลงมาได้อีก เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภคที่ต้องชำระค่าเบี้ยประกันรายปี และด้วยค่าเฉลี่ยการซ่อมที่ลดลง ถึงแม้เรามีเคลมแล้วโดนขึ้นค่าเบี้ยในปีต่ออายุ สัดส่วนของการปรับขึ้นก็จะลดลงได้เช่นเดียวกัน ก็หวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมประกันภัยจะได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง
https://www.facebook.com/insuranceindailylife
สำหรับใครที่สะดวกอ่านใน Facebook ครับ
12 บันทึก
26
6
12
26
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย