4 ส.ค. 2019 เวลา 11:45 • ธุรกิจ
Learning Visual Diary #17 : Why High Performance People use Grid Book? part1
1
สวัสดี​ครับ​ทุกท่าน​ คุณมีความเชื่อเรื่องการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกวันใหม​ครับ​ ผมคิดว่าทุกคนเชื่อแหละ แต่ปัญหาคือทำยังไง วันนี้ผมอยากจะมาเล่าถึงหนังสือเล่มนึงที่พูดวิธีปฎิบัติการ (เป็นทางการมาก)​ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ​ในการเรียนรู้​ในชีวิตประจำวันและใช้ได้ผลจริงครับ (ผมลองมาแล้ว)​ เรากำลังจะพูดถึงหนังสือเรื่อง 'ทำไมคนทำงานเก่งที่สุดถึงใช้สมุดกราฟ'​ ของ คุณทะคะฮะขิ มะซะฟุมิ เรามาหาคำตอบและวิธีการไปด้วยกันครับ
1
คือมันอย่างนี้ครับ...
เนื้อหาผมจะแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกจะขอเน้นที่หลักคิดของหนังสือและวิธีการเบื้องต้น ส่วนตอนที่สองจะเน้นที่วิธีการโดยเฉพาะการประยุกต์​กับคนทำงานครับ
1
คำถามสำคัญของหนังสือเล่มนี้มีสองคำถามครับ
คำถามแรกเป็นคำถามที่หนังสือถามอย่างโจ่งแจ้งตั้งแต่แรก ​คือ สมุดโน๊ตของคุณเป็นสมุดที่ฉุดรั้งความสามารถของคุณหรือไม่
ส่วนคำถามต่อมา คือ อะไรคือ เคล็ดลับสำคัญของการจดโน๊ตของคนที่มีความสามารถสูง
1
หลังจากที่อ่านจบผมสรุปได้ว่าเนื้อหาของหนังสืออยู่ภายใต้ความเชื่อสำคัญ คือ การเรียนรู้จากเนื้อหาต่างๆมีหลายระดับ เริ่มจากระดับ จดจำได้ พัฒนาเป็นสรุปและเรียบเรียงได้ และสุดท้ายคือถ่ายทอดได้ ดังนั้นสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างคนเก่งและไม่เก่ง คือ ความสามารถในการเรียบเรียงเนื้องหา การจดโน๊ตถือเป็นสะพานสำคัญที่จะพาเนื้อหาเข้าไปสู่ระบบการเรียนรู้ของสมอง (จำ สรุป ถ่ายทอด)​
2
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าสมุดโน๊ตแบบใหนที่มันฉุดความสามารถของเราครับ ผู้เขียนบอกว่ามีสมุดที่ฉุดความสามารถอยู่หลายแบบเลยครับ ลองดูว่าสมุดของท่านเข้าข่ายบ้างใหมนะครับ 🤓
1. สมุดโน๊ตมอมแมม ก็ตามชื่อครับ คือจดแบบสกปรกไม่น่าดู เขียนลวกๆดูไม่เข้าใจ จะบอกว่าอันนี้ตรงกับผมมากๆละ 😅
2. สมุดโน๊ตเล่มจิ๋ว เล่มเล็กไป หน้ากระดาษไม่พอกับเนื้อหา
3. สมุดโน๊ตหลากสี ละลานตาเกินไป ใช้มากกว่า4สี เน้นข้อความเยอะไปหมด ทำให้ลำดับความสำคัญไม่ได้
4. สมุดโน๊ตตุ้ยนุ้ย จดทุกอย่างในเล่มเดียว ทำให้หาเนื้อหาไม่เจอ
5. สมุดโน็ตตัดแปะ คือลอกทุกอย่างมาหมดเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร แสดงให้เห็นว่าคิดวิเคราะห์​ไม่เก่ง
6. สมุดโน๊ตแออัดและอักขระ คือจดทุกอย่างเป็นพืด ไม่มีรูปหรือกราฟช่วยอธิบาย ดูแล้วน่าอึดอัด
1
เป็นไงครับ สมุดโน็ตของคุณตรงกับข้อใหน ของผมเนี่ยข้อหนึ่งนี่ใช่เลย (ปัจจุบันพยายามปรับแล้วนะครับ) ไม่แปลกที่จะตรงนะครับ ผู้เขียนเองยังบอกว่ามากกว่า 90% ของคนก็มีสมุดโน๊ต​ที่ฉุดความสามารถ​แบบนี้ เพราะเรื่องนี้มันไม่มีใครสอนจริงๆจังๆ โดยสรุปแล้วสมุดที่ฉุดความสามารถ​ก็จะเป็นสมุดที่กลับมาดูใหม่ยากหรือดูไม่รู้เรื่อง ไม่มีการเรียบเรียงข้อมูลหรือเนื้อหา ทำให้การจดบันทึกมันเปล่าประโยชน์นี่เอง
แล้วถ้าจะพัฒนาการจดโน็ตต้องทำยังไง มีกฎ 3 ข้อที่แนะนำโดยคุณทะคะฮะชิครับ
1. เปลี่ยนมาใช้สมุดกราฟซะ ตามชื่อหนังสือครับ ดังนั้นข้อนี้จะมีรายละเอียดมากซักหน่อย จากประสบการณ์ของผมเอง ซึ่งก็ศึกษาเรื่องการจด note แบบ visual note มาพอควร และจากหนังสือเล่มนี้ ผมสรุปข้อดีของการใช้สมุดกราฟอยู่ซัก 3 ข้อครับ
(1) มันทำให้เรากะเกณฑ์ตัวหนังสือได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวหนังสือ ย่อหน้า ระยะบรรทัด เรื่องพวกนี้มันช่วยให้หน้ากระดาษดูเป็นระเบียบและน่ามองขึ้นมากครับ
(2) ช่วยเรื่องการวาดกราฟได้ดี จริงๆอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวหนังสือครับ มันช่วยให้เรากะสัดส่วน กะสมดุลได้ง่าย เมื่อกะได้เราก็กล้าวาดมากขึ้น
(3) ช่วยให้เราสร้าง ‘กรอบ’ หรือ รูปแบบของหน้ากระดาษได้ง่าย อันนี้สำคัญเลยนะครับ ทุกครั้งที่ผมจะจดอะไร ผมจะเริ่มจากการแบ่งพื้นที่ก่อนเสมอ ส่วนตัวผมคิดว่ามันทำให้เราเห็นภาพจบของกระดาษแผ่นนั้น มันทำให้เราสามารถแบ่งแยกความคิดเป็นส่วนๆได้ ได้ง่ายขึ้น ทำเป็น story board ก็สวยงาม
ส่วนตัวผมใช้การเวลาจดอะไรในชีวิตประจำว้นผมใช้ iPad กับ apple pencil ซึ่งก็จะใช้หน้ากระดาษเป็นแบบสมุดกราฟอยู่แล้ว ดังนั้น ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับข้อนี้เลยครับ (ยกเว้นเวลาเขียน visual note ที่ผมยังเลือกเขียนในกระดาษขนาดเล็กกว่า A4 ทำให้คิดว่าการที่ grid มันไม่ค่อยช่วยเท่าไร)
1
2. จะเขียนอะไรต้องใส่หัวเรื่อง เรื่องนี้ทำง่ายๆเลยครับ มีข้อปฎิบัติย่อยสองข้อ
(1) ต้องเว้นพื้นที่สำหรับเขียนหัวข้อที่ด้านบนของกระดาษเสมอ
(2) หนึ่งแผ่นหนึ่งเรื่อง อย่าผสม เขียนต่อหปเรื่อย
ข้อนี้จะช่วยให้เรากลับมาหา note ของเราเจอครับ
2
3. แบ่งพื้นที่กระดาษเป็นสามส่วนเสมอ ข้อนี้แหละครับหัวใจของวิธีการเลย จำอะไรไม่ได้เลย ผมก็คิดว่าเอาหลักการข้อนี้ไปลองใช้ดูก็ไม่เลวแล้วครับ มันจะเป็นกรอบหรือ format ที่ช่วยจัดการวิธีคิดหรือวิธีเรียบเรียงของเราให้ลึกซึ้งมากขึ้น ผมลองเอาไปปฎิบัติก็ช่วยได้ดีนะครับ
(1) แนะนำให้แบ่งหน้ากระดาษเป็นสามส่วน ดังนี้ “ข้อเท็จจริง” “สิ่งที่เราวิเคราะห์ได้” และ “แนวทางปฎิบัติ”
(2) ควรใช้กระดาษแบบแนวนอน และไม่ควรเล็กกว่า A4 (ข้อนี้ผมใช้ note บน iPad เลยไม่ได้อินมาก)
(3) ใช้สีไม่ควรเกิน 3 สี ไม่ plain และไม่ละลานตาเกินไป
ลองคิดภาพตามนะครับ เวลาเราได้รับข้อมูลมา ไม่ว่าจะจากการประชุมหรือการเรียน ข้อมูลจะมาทั้งจากภายนอก(จากคนอื่นหรือผู้บรรยาย) และภายในตัวเรา (ความคิดของเราต่อเรื่องนั้นๆ) และเราสามารถจับแต่ละเรื่องมาลงในแต่ละพื้นที่ เพื่อแยกแยะมันออกจากกันและเชื่อมโยงกันได้ทีหลัง คุณก็จะสามารถจดจำ เรียบเรียง คิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลนั้นๆได้ดีขึ้นแบบมหาศาลเลยครับ
1
บทนี้จะเน้นเรื่องหลักการ ส่วนบทหน้าจะเน้นที่วิธีการครับ จริงๆก็อยู่บนหลักการเดิมแต่จะเป็นมุมมองในการประยุกต์ใช้โดยเฉพาะ​กับการทำงาน ซึ่งผมว่าน่าสนใจครับ
ในฐานะที่เป็นนักจด Note คนนึง ผมเห็นด้วยกับเนื้อหาแต่การนำไปใช้อาจจะใช้ได้ไม่ทั้งหมด บางเรื่องอาจมีบริบทที่แตกต่างกัน (ถูกสำหรับบริบทหนึ่งๆ)​แต่หลักการสำคัญของหนังสือก็เป็นเรื่องที่ใช้คิดต่อยอดได้และถ้านำไปประยุกต์ได้ก็จะมีประโยชน์อย่างแน่นอนครับ ลองคิดและปรับตามสไตล์เรานะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
3
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา