6 ส.ค. 2019 เวลา 04:45 • ประวัติศาสตร์
มารู้จักราชวงศ์อยุธยากันเถอะ 2
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)
หลังจากราชวงศ์อู่ทองได้สิ้นสุดลงในช่วงต้นของสมัยอโยธยานั้น นครหลวงแห่งนี้ก็กลับมาสู่อำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิอีกครั้ง แต่การจะพูดถึงให้ครบถ้วน คงต้องย้อนกลับไปที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิช่วงแรกเสียก่อน
1
ราชวงศ์สุพรรณภูมินั้นเริ่มจากขุนหลวงพะงั่วที่เชื่อกันว่าเป็นพี่ชายของพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งอโยธยา โดยครองเมืองสุพรรณบุรีเรื่อยมาจนพระราเมศวรได้ราชสมบัติ แต่ขุนหลวงพะงั่วได้ยกทัพเข้ากรุง จนพระองค์ต้องมอบราชสมบัติให้ และได้เป็นพระราชาในพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ครองราชย์ช่วงปี พ.ศ. 1913-1931
เมื่อสิ้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้วพระเจ้าทองลั่นพระโอรสได้ครองราชย์ต่อมาในปี 1931 แต่ทรงอยู่ในราชสมบัติเพียงแค่ 7 วันก็โดนสมเด็จพระราเมศวรยกทัพจากลพบุรีเข้าพระนครแล้วจับประองค์สำเร็จโทษก่อนที่สมเด็จพระราเมศวรจะกลับสู่บัลลังก์เป็นครั้งที่ 2 และถือเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์สุพรรณภูมิครั้งที่ 1
จนกระทั่งเมื่อเจ้านครอินทร์พระราชนัดดาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้ความช่วยเหลือจากเจ้าพระยาเสนาบดีก็ล้มสมเด็จพระรามราชาธิราช พระโอรสของพระราเมศวรลงได้สำเร็จ แล้วขึ้นเสวยราชย์ที่สมเด็จพระอินทร์ราชา ในช่วงปี พ.ศ. 1952-1967
1
กระนั้นเมื่อสินรัชสมัยของพระองค์แล้ว เกิดเหตุน่าสลดใจคือพระโอรสองค์โต เจ้าอ้ายพระยา ได้ยกทัพประหัดประหารกับน้องคนรอง เจ้ายี่พระยา เพื่อแย่งกันขึ้นสู่ที่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ก่อนจะทำยุทธหัตถีกันที่สะพานป่าถ่าน และพลาดพลั้งสิ้นพระชนม์ด้วยกันทั้งคู่ ทำให้ราชสมบัตินี้ตกแก่เจ้าสามพระยา น้องคนเล็กที่ได้อภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งสุโขทัยอันเป็นราชบุตรีของพระเจ้าไสลือไทย และได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ในช่วงปี พ.ศ. 1967-1991
1
ครั้นมาถึงรัชกาลต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ได้ครองราชย์ช่วงปี พ.ศ. 1991-2031 นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในสมัยอยุธยา และพระองค์เองมีพระมารดาเชื่อสายราชวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัย ซึ่งขณะเป็นพระอุปราชนั้นได้ถูกส่งให้ไปดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือเพื่อควบคุมสุโขทัยอันเป็นรัฐบรรณาการมิให้โดนอาณาจักรล้านนาของพระติโลกราชเข้ามากร่ำกราย โดยยกให้เป็นราชาของอาณาจักรสุโขทัยในช่วงปี พ.ศ.1989-1991 ดังนั้นเมื่อพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์สยามนิกรแล้ว พระองค์จึงได้รวมเอาสุโขทัยเป็นมณฑลหนึ่งของอยุธยาด้วย จึงถือเป็นการสิ้นสุดลงของอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่พระยายุษธิษฐิระแห่งราชวงศ์พระร่วงจะพยายามฟื้นคืนอาณาจักรสุโขทัยและพาสุดขทัยตอนเหนือไปสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรล้านนา แต่สุดท้ายก็มีปัญหากับพระเจ้าติโลกราชจึงถูกทอดจากตำแหน่งเป็นสิ้นสูญราชาแห่งสุโขทัยอย่างแท้จริง
3
ในด้านอยุธยานั้นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ครองราชย์บัลลังก์แล้ว ก็ปกครองประเทศโดยสงบสุข ทั้งยังได้พัฒนาบ้านเมืองให้เจริญวัฒนาตลอดมาอย่างเข้มแข็ง จนสิ้นสุดสมัยของพระองค์ราชสมบัติก็ตกสู่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือพระบรมราชา โดยทรงเป็นพระโอรสของพระบรมไตรโลกนาถ ที่ครองราชย์ช่วงปี พ.ศ.2031-2033 โดยพระองค์มีบทบาทในสมัยของพระบิดาด้วยการเป็นแม่ทัพทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาหลายครั้ง จึงทรงเลือกไปเสวยราชย์ที่พิษณุโลก 2 แควเพื่อกั้นอำนาจจากล้านนา แต่สมัยของพระองค์นั้นสิ้นลงเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น บัลลังก็ตกสู่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หรือพระเชษฐาธิราชพี่ชายของพระองค์เองที่ครองราชย์ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2034-2072 แต่กระนั้นก็มีหลักฐานสนับสนุนหลายอย่างระบุว่าเป็นพระองค์เดียวกันกับพระบรมราชานั่นเอง เพียงแต่ว่าเมื่อเสร็จสงครามแล้วได้กลับมาทำพิธีบรมราชาภิเษกที่อยุธยาอีกครั้ง จึงได้เฉลิมพระนามใหม่ อย่างไรก็ตามพระเชษฐาธิราชทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานเป็นอันดับสองต่อจากพระบิดา
9
ต่อจากนั้นพระโอรสคือพระบรมเจ้าอยู่หัวหน่อพุทธางกูลได้ขึ้นสู่บัลลังก์เป็นพระบรมราชาธิราชที่ 4 หากแต่พระองค์ทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ จึงอยู่ในราชสมบัติได้เพียง 4 ปีช่วง พ.ศ.2072-2076 แล้วก็สวรรคต อันเป็นเหตุให้ยุคทองของสุพรรณภูมิจบลง เพราะเมื่อพระรัษฎาได้ครองราชย์ต่อมาในฐานะพระโอรสของพระองค์ แต่มีชันษาเพียง 5 ขวบทำให้ไม่สามารถปกครองบ้านเมืองได้ อำนาจบริหารจึงตกแก่เจ้าพระยาสมุหนายกและเจ้าพระยาสมุหกลาโหม พระไชยราชาอุปราชย์แห่งพิษณุโลก 2 แคว จึงตัดสินใจยกทัพมาปลดพระรัษฎาออกจากตำแหน่งกษัตริย์เมื่อครองราชย์ได้เพียง 5 เดือน ในปี พ.ศ.2076 -2077 ทั้งยังนำตัวไปสำเร็จโทษอีกด้วย
1
จากนั้นพระไชยราชาขึ้นสู่ตำแหน่งกษัตริย์ในช่วง พ.ศ.2077-2089 โดยพระองค์ในฐานะพระปิตุลา(ลุง) ได้ยึดบัลลังก์จากหลานมาเพื่อปกครองบ้านเมืองให้สงบสุข ด้วยว่าเป็นมหากษัตริย์นักรบทำให้ไม่มีใครกล้าคัดค้าน และยังได้ดูแลประเทศอย่างสุขสงบ ซึ่งตลอดสมัยพระองค์ได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูรอบด้านเลยทีเดียว รวมทั้งศึกภายในของพระองค์เองคือ แม่อยู่หัวท้าวศรีสุดาจันทร์ อัครมเหสีองค์ที่ 2 ซึ่งลักลอบได้เสียกับพันบุตรศรีเทพแล้วได้วางยาพระองค์จนสิ้นพระชนม์(ตามพงศาวดารว่าทรงประชวรหลังกลับจากสงครามก่อนจะสวรรคต)
2
แล้วกรรมก็เวียนมาบรรจบต่อพระไชยราชาเมื่อพระโอรสอย่างพระยอดฟ้าได้ครองราชย์ ในช่วงปี พ.ศ.2089-2091 ด้วยวัยเพียง 11 ชันษาก็โดนพระมารดาอย่างท้าวศรีสุดาจันทร์ร่วมกับพันบุตรศรีเทพจับสำเร็จโทษ แล้วให้พันบุตรศรีเทพขึ้นเป็นผู้ปกครองอยุธยาที่ขุนวรวงศา ในปี พ.ศ. 2091 นั่นเอง อย่างไรก็ดีรัชสมัยแสนสั้นของขุนวรวงศานั้นนักวิชาการบางกลุ่มไม่ยอมรับว่าได้เป็นกษัตริย์ไทยเพราะถือว่าเป็นเพียงกบฏเท่านั้น แต่ตามพงศาวดารก็ระบุว่าพระองค์ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว
1
ในสมัยของขุนวรวงศานี้เอง ทำให้ขุนนางหลายคนไม่พอใจการขึ้นสู่อำนาจอันไม่ชอบธรรมของพระองค์ จนพระเทียรราชาต้องหนีไปบวช จึงได้รวมตัวกันทำราชประหารอันประกอบไปด้วย ขุนพิเรนทรเทพ เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า แล้วจับขุนวรวงศา ท้าวศรีสุดาจันทร์ประหารเสีย แล้วอัญเชิญพระเทียรราชาลาผนวชขึ้นครองราชย์ช่วงปี พ.ศ. 2091-2111 ทรงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
1
พระเทียรราชานี้เองเป็นพระราชโอรสของพระเชษฐาธิราช และเป็นพระเจ้าน้องยาเธอของพระเจ้าอยู่หัวบรมหน่อพุทธางกูรและพระไชยราชา เมื่อได้ครองราชย์สมบัติแล้วก็ได้ตกรางวัลแก่ขุนนางที่ร่วมกันให้พระองค์ได้สู่อำนาจ เช่นขุนพิเรนทรเทพได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระบรมมหาธรรมราชาธิราช ครองพิษณุโลกสองแคว และยังพระราชทานพระสวัสดิราช ราชบุตรีมราเกิดแต่พระศรีสุริโยทัยเป็นพระชายา
ในสมัยของพระองค์มีช้างเผือกมากถึง 7 เชือกจึงได้ชื่อว่าพระเจ้าช้างเผือก อันเป็นเหตุให้พระเจ้าตะเบ็งชะเวงตี้แห่งพม่าใช้เป็นข้ออ้างยกทัพเข้าตีเพื่อแสดงพระราชอำนาจว่ามีเหนือกว่าบุญญาธิการของพระเจ้าช้างเผือก จนเกิดเหตุการณ์พระศรีสุริโยทัยได้เข้าขวางการทำยุทธหัตถี จนสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ทางพม่าจึงถอยทัพกลับไปก่อน
เมื่อสิ้นสงครามดังกล่าวในปี พ.ศ.2107 นั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเศร้าพระทัยมากจึงกลับไปอุปสมบทและมอบราชบัลลังก์ให้แก่สมเด็จพระมหินทรราชาธิราช พระราชโอรสองค์โต หากแต่พระมหินทรเองไม่สู้จะไว้ใจพระมหาธรรมราชาว่าจะไปสวามิภักดิ์ต่อพม่า จึงอาศัยช่วงที่พระมหาธรรมราชาเดินทางไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง ลอบเข้าไปเอาตัวพระสวัสดิราชพี่สาวกลับมาพร้อมกับหลานมายังอยุธยา ทำให้พระมหาธรรมราชาเปลี่ยนใจไปเข้าร่วมกับพม่าของพระเจ้าบุเรงนองเข้าตีอยุทธยาในปี พ.ศ.2111 สมเด็จพระมหินทรทรงรั้งราชการไม่ไหว อัญเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชเข้าบริหารบ้านเมืองในช่วงสงครามอีกครั้ง หากแต่พระองค์ทรงประชวรและสวรรคตลงไปเสียก่อน
สมเด็จพระมหินทร์ได้รั้งเมืองอโยธยาต่อสู้กับพระเจ้าชำนะสิบทิศบุเรงนองอย่างแข็งขัน แต่โดนกลอุบายของพระยาจักรีที่เป็นตัวประกันฝ่ายพม่า อันแสร้งทำเป็นหนีกลับมาได้และช่วยสู้สงครามพม่า ทำให้ในที่สุดอยุธยาก็เสียกรุงเป็นครั้งแรกต่อศัตรูสำคัญอย่างพม่า และทางพระมหินทร์ก็ถูกถอดจากราชบัลลังก์ในปี พ.ศ.2512 แล้วนำตัวไปยังพม่าจนสิ้นพระชนม์ที่นั่น ส่วนอยุธยานี้เองพระเจ้าบุเรงนองได้มอบให้แก่สมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งพิษณุโลกมาครองไว้ ถือเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงผู้ครองอยุธยานั่นเอง
ถึงตรงนี้แล้วก็ต้องบอกว่าราชวงศ์สุพรรณภูมิได้สิ้นสุดลงหลังจากผ่านยุคทองที่ยาวนานร่วมร้อยปี เพราะการเปลี่ยนแปลงผู้นำบ่อย ที่เกิดจากการแย่งชิงอำนาจกันเอง อันช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์เลือด พี่รบน้อง ลุงสังหารหลาน แม่ประหารลูก และเครือญาติไม่ไว้ใจกันนั่นเอง
2
โฆษณา