9 ส.ค. 2019 เวลา 09:11 • การศึกษา
“รู้หรือไม่ จะหย่ากันทีนึงมีเรื่องอะไรให้ต้องจัดการบ้าง ?”
ก่อนอื่นขอปูพื้นฐานให้ผู้อ่านเข้าใจก่อนว่า การหย่าในที่นี้หมายถึง
“การจดทะเบียนหย่า”
Cr. pixabay
ซึ่งจะนำมาใช้ในกรณีที่ชายและหญิงจดทะเบียนสมรสเป็นสามี ภรรยากันถูกต้องตามกฎหมาย แต่ภายหลังไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ จึงต้องมาจดทะเบียนหย่ากันเพื่อให้ต่างฝ่ายได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
การหย่ามีผลทำให้การสมรสสิ้นสุดลง โดยการหย่าตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การหย่าด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย (จูงมือกันไปหย่า) และการหย่าโดยศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอน (ฟ้องหย่านั่นเอง)
Cr. pixabay
ทีนี้ ไม่ว่าชายและหญิงจะหย่ากันด้วยวิธีไหนก็ตาม กฎหมายก็ได้กำหนดภาระ หน้าที่ ให้ทั้งสองฝ่ายจะต้องดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง ไม่ให้ค้างคาอีกต่อไป ซึ่งได้แก่
1. การตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตร
2. การตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
3. การตกลงเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยา
“การตกลงเรื่องการใช้อำนาจปกครองบุตร”
หากเป็นการหย่าด้วยความยินยอม กฎหมายกำหนดให้สามี ภรรยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร แต่ถ้าไม่ได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด
หากเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ศาลที่พิจารณาคดีฟ้องหย่าจะชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจปกครองบุตรคนใด ซึ่งศาลจะพิจารณาโดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ
และหากปรากฏภายหลังว่าผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองประพฤติตนไม่เหมาะสม หรือภายหลังมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองได้
Cr. pixabay
“การตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร”
หากเป็นการหย่าด้วยความยินยอม สามี ภรรยาจะต้องทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าสามี ภรรยาทั้งสองฝ่าย หรือสามี ภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใด
1
ถ้าหย่าโดยคำพิพากษาของศาลหรือในกรณีที่สัญญาหย่าไม่ได้กำหนดเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ ศาลจะเป็นผู้กำหนดให้
Cr. pixabay
“การตกลงเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามี ภรรยา”
2
หากหย่ากันด้วยความยินยอม สามี ภรรยาจะต้องจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในขณะจดทะเบียนการหย่า (ตกลงกันให้ดีว่าใครได้ทรัพย์สินอะไร ได้เงินคนละเท่าไหร่)
หากไม่ได้ตกลงกันไว้จะนำหลักกฎหมายเรื่องการแบ่งสินสมรสมาใช้ คือ ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน
ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล จะแบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน (คนละครึ่ง) โดยคำพิพากษาในส่วนของทรัพย์สินนั้น จะมีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า
Cr. pixabay
ซึ่งนอกจาก 3 เรื่องนี้แล้ว ยังมีกรณีอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม ดังนี้ครับ
“ขอให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพ”
ในคดีหย่า (ฟ้องหย่า) ถ้าเหตุของการหย่าเป็นเพราะความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว (เช่น ฝ่ายชายมีชู้ ฝ่ายหญิงจึงฟ้องหย่า)
Cr. pixabay
และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ แต่ศาลอาจจะให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ
อันนี้สำคัญ !! สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้าไม่ได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น (ต้องขอมาพร้อมกับฟ้องหย่า)
และถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพจะหมดไปทันที !!
“สิทธิเรียกค่าทดแทน”
ถ้าศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุที่สามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันสามีหรือภรรยา เป็นชู้หรือมีชู้
1
Cr. pixabay
ภรรยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจากอีกฝ่าย และจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งการหย่านั้น เว้นแต่ จะเกิดจากความยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้ฝ่ายหนึ่งกระทำ
โดยสิทธิฟ้องร้องด้วยอาศัยเหตุนี้ จะระงับไปเมื่อพ้น 1 ปีนับแต่วันที่ผู้กล่าวอ้างรู้หรือควรรู้ความจริงที่ตนได้อาจยกขึ้นอ้าง
ขอบคุณข้าวน้อยที่เสนอไอเดียให้แอดมินเขียนบทความนี้ และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อน ๆ นะครับ
อ้อ... แอดมินขออนุญาตหนีไปพักผ่อน 2 วันนะครับ แล้วกลับมาเจอกันใหม่ในวันแม่แห่งชาติครับ bye bye
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา