Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิเคราะห์บอลจริงจัง
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 ส.ค. 2019 เวลา 10:51 • กีฬา
ทำไมคนไทยชอบดูพรีเมียร์ลีก? เป็นคำถามที่น่าสนใจดีครับ มีลีกฟุตบอลมากมาย แต่ทำไมในใจคนไทย ถึงคิดว่าบอลอังกฤษคืออันดับ 1 ลองไปวิเคราะห์กันดูก่อนพรีเมียร์ลีกจะเริ่มคืนนี้
ลักษณะการชอบดูกีฬาของแต่ละประเทศ ไม่เหมือนกันเลย อย่างในจีน และฟิลิปปินส์ ลีกกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือบาสเกตบอล เอ็นบีเอ
ส่วนในญี่ปุ่น อันดับ 1 คือเมเจอร์ลีก เบสบอล ของสหรัฐฯ คือ MLB ได้รับความนิยมขนาดว่า เกมนัดเปิดสนามในซีซั่นนี้ ระหว่างโอ๊กแลนด์ แอทเลติก กับ ซีแอตเติล มาร์ริเนอร์ ยังต้องไปเล่นที่โตเกียวโดม
แล้วสำหรับประเทศไทยล่ะ? ลีกไหนได้รับความนิยมสูงสุด
คำตอบนั้นอาจไม่ยากนัก เพราะคงเห็นชัดเจนว่า ในภาพกว้างๆ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้รับความนิยมอันดับ 1 จริงๆ
ไม่ใช่แค่คอฟุตบอลเท่านั้น แต่พรีเมียร์ลีกได้ซึมซับเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของหลายๆคน ชื่อของแมนฯยูไนเต็ด, เชลซี, ลิเวอร์พูล, อาร์เซน่อล, สเปอร์ส ,แมนฯซิตี้ , เอฟเวอร์ตัน ,เลสเตอร์ ฯลฯ เป็นชื่อที่คุ้นเคยกับความรู้สึกเป็นอย่างมาก
สิ่งที่น่าสนใจคือ แล้วทำไมคนไทยชอบดูบอลอังกฤษมากสุดล่ะ?
คือโอเค คนไทยชอบดูฟุตบอลอยู่แล้ว แต่ทำไมถึงไม่นิยมลีกอื่น อย่างสเปน, เยอรมัน หรืออิตาลี มากกว่าฟุตบอลอังกฤษ เรื่องนี้น่าคิดทีเดียว
มีการวิเคราะห์กันหลายแง่มุม แต่ส่วนตัวผมมองว่า มีอยู่ 5 ปัจจัย ที่ค่อนข้างมีเหตุมีผล และพอจะอธิบายได้
1) พรีเมียร์ลีกได้เปรียบเรื่องภาษา
คนไทยเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ประถมแล้ว มันเป็นภาษาที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด ถ้าไม่นับภาษาไทย นั่นทำให้เราสามารถซึมซับกับฟุตบอลอังกฤษได้ง่ายตามไปด้วย
คนไทยไม่ใช่แค่ดูเท่านั้น แต่เรายังสามารถเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้ด้วย ข่าวสารต่างๆ บทสัมภาษณ์ทั้งหลาย เราเข้าใจมันได้เลย โดยไม่ต้องมีล่ามคอยคั่นกลาง
จุดนี้ฟุตบอลสเปนก็ได้เปรียบ ในทวีปอเมริกาใต้ ที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาสเปน แต่กับที่ประเทศอื่นๆรวมทั้งไทย การที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มีภาษาหลักคือภาษาอังกฤษ มันก็ได้เปรียบมากกว่าอยู่แล้ว
เวลามีกิจกรรมต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่าย ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างไม่มีติดขัด ขณะที่ข่าวจากต่างประเทศแบบอัพเดทสดใหม่ก็หาได้ง่าย ซึ่งกับลีกอื่น ลองคิดถึงยุคที่ยังไม่มี Google Translate การจะแปลมาจากภาษาอื่นนั้นทำได้ยากมาก ซึ่งสำหรับลีกอื่น ก็เป็นข้อติดขัดตรงนี้ที่ทำให้ยากที่จะโตในประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้น "ชื่อ" ของนักเตะอังกฤษ ก็เรียกง่าย ฟังง่าย สะกดออกเสียงได้ถูก พอล แกสคอยน์, เดวิด แพลตต์ , โทนี่ อดัมส์ ซึ่งการคุ้นเคยกับภาษา ก็ทำให้คนไทยรู้สึกเข้าใจ และง่ายกว่าที่จะชื่นชอบฟุตบอลอังกฤษในใจ
2) ได้เปรียบเรื่องเวลา
ธรรมเนียมการแข่งขันฟุตบอลที่อังกฤษ โดยดั้งเดิมจะแข่งเวลาบ่าย 3 โมงของวันเสาร์
บ่าย 3 สำหรับคนอังกฤษเป็นเวลาที่เหมาะที่สุด ถ้าเป็นหน้าร้อนก็ไม่มีปัญหา ถ้าเป็นหน้าหนาว ก็ยังพอมีแสงสว่างให้เล่นได้
เวลาบ่าย 3 โมง สำหรับในตลาดเอเชียถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะเจาะมากๆ ที่ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ก็ตรงกับเวลา 3 ทุ่มพอดี ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อน เป็นเหมือนกิจกรรมบันเทิงหลังเลิกงาน เลิกเรียน ซึ่งเวลามันได้พอดี
ฟุตบอลสเปนนั้น คือลีกที่สุดยอดก็จริง แต่เวลาถ่ายทอดสดนั้นไม่ค่อยเอื้อนัก กับชีวิตประจำวันของคนไทย บอลสเปนหลายๆคู่ เคยออกสตาร์ตเตะ 3-4 ทุ่มก็มี ซึ่งถ้าเป็นในไทยก็คือช่วงตี 2 ตี 3 ซึ่งมันดึกเกินไปที่จะถ่างตาไหว
ในหนึ่งสัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์ ฟุตบอลส่วนใหญ่จะเตะวันเสาร์บ่าย 3 แต่ในภายหลังที่อังกฤษก็มีการกระจายไปลง ซูเปอร์ซันเดย์ วีกละ 2-3 คู่บ้าง แต่ช่วงเวลาโดยรวมก็ยังถือว่าเหมาะสมอยู่ดี ไม่ดึกเกินไป
3) สไตล์การเล่นโดนใจกับคนไทย
คนไทยชอบดูฟุตบอลที่เล่นกันสนุก เราชอบบอลบุกเป็นพื้นฐาน หากใครไปดูไทยลีก จะเห็นเลยว่าแฟนบอลส่วนใหญ่ จะกระตุ้นให้ทีมวิ่งเต็มที่ สู้สุดใจ แพ้ไม่เป็นไร ถ้าเล่นสุดความสามารถแล้วคือโอเค
การที่คนไทยมองฟุตบอลเป็นความบันเทิง มากกว่าจะเป็นศาสตร์หรือศิลปะ ทำให้คาดหวังเกมที่จะเล่นกันสนุก ไม่ใช่มาเล่นแท็กติก เล่นเกมรับมากเกิน หรือดึงเวลา ถ่วงเวลา
อย่างบอลอิตาลียุคก่อน ที่เล่นเกมรับเหนียวแน่นมากๆ สกอร์ยอดนิยมคือ 1-0 หรือ 0-0 คือถ้าคนชอบดูแท็กติกเขี้ยวๆ เกมรับแบบแน่นปึ้ก ก็จะเอ็นจอยในการดูบอลกัลโช่ เซเรียอา แต่กับคนไทยส่วนใหญ่ชอบความบันเทิงมากกว่านั้น
สไตล์ฟุตบอลอังกฤษแรกเริ่มนั้นมีจุดขายคือความบู๊ ความใจสู้ และดูได้อย่างสนุก สองทีมวิ่งแลกกันไม่มีหมด หวดเป็นหวด เตะเป็นเตะ ซึ่งมันตอบโจทย์กับคนไทยมากกว่า
ยิ่งในเวลาต่อมา พอมีการอิมพอร์ทแข้งต่างประเทศเข้ามาเยอะขึ้นเรื่อยๆแล้ว ฟุตบอลอังกฤษก็ไม่ใช่แค่บู๊ ใจสู้อย่างเดียว แต่มีเรื่องของเทคนิค เข้าไปประกอบด้วย เราได้เห็นสไตล์การวางบอลแม่นๆแบบชาบี อลอนโซ่ หรือ เชส ฟาเบรกาส และได้เห็นนักเตะที่เทคนิคเหนือๆอย่างอาร์เยน ร็อบเบน หรือคริสเตียโน่ โรนัลโด้
กลายเป็นว่าบอลอังกฤษตอบโจทย์ที่สุด เพราะทั้งบู๊ ดุดัน และสวยงามในตัวเอง
4) คาดเดาผลลัพธ์ยาก
เรื่องนี้มีบทวิเคราะห์ว่า ไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่ทั้งโลกก็เป็น คือในลีกอื่นๆ จะมีกลุ่มทีมลุ้นแชมป์อยู่เพียงไม่กี่ทีมเท่านั้น ในสเปนไม่บาร์เซโลน่า ก็เรอัล มาดริด อาจมีแอตเลติโก้ มาดริด สอดแทรกได้เล็กน้อย , ฝรั่งเศส ก็มีแต่เปแอสเช หรือ เยอรมัน ใน 10 ปีหลังสุดก็มีแต่ บาเยิร์น มิวนิค กับ ดอร์ทมุนด์ที่ได้แชมป์
กัลโช่ เซเรียอา มียูเวนตุสเป็นแชมป์ 8 สมัยติดกัน มีนาโปลี กับโรม่า ผลัดกันเป็นที่ 2 ในช่วงระหว่างนี้
แต่ในฟุตบอลอังกฤษ แค่ตำแหน่งแชมป์ ก็มีอย่างน้อย 6 ทีม ที่ไล่ล่าแย่งแชมป์ในแต่ละซีซั่น ขณะที่การพบกันของทีมใหญ่ด้วยกัน ก็เดาผลการแข่งขันไม่ได้เลย เพราะมันพลิกกันได้ตลอด ไม่เพียงแค่นั้น บรรดาทีมเล็ก ยังพร้อมมีเซอร์ไพรส์ได้เสมอ
ปาฏิหาริย์เลสเตอร์ ที่เกิดขึ้นในปี 2016 ยังคงเป็นเหตุการณ์สุดคลาสสิคที่คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆในลีกไหนของโลก
การคาดเดาที่ยากมาก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมีความสนุกตื่นเต้น และได้รับความนิยมมากๆทั่วโลกรวมถึงที่ไทยด้วย เพราะเกมมันพลิกได้ตลอด
5) คนไทยเปิดใจรับฟุตบอลอังกฤษเสมอ
ตั้งแต่อดีตแล้ว ถ้าจะมีการนำเสนอข่าวต่างประเทศ ฟุตบอลอังกฤษ ที่หา Source หาข่าวได้ จะเป็นลีกแรกที่ผู้คนนึกถึง
ในช่วงปี พ.ศ.2516 ตอน ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ในยุคนั้นถ้าเป็นวันที่มีม้าแข่ง นสพ.ในกรอบกรุงเทพ จะมีผลแข่งม้าครึ่งหน้า แต่ทว่าสำหรับกรอบที่เอาไปขายต่างจังหวัด จะต้องส่งไปก่อน รอผลม้าแข่งไม่ได้ ไม่งั้นจะไปถึงแผงตอนเช้าไม่ทัน
ดังนั้นมันแปลว่า ในกรอบต่างจังหวัด จะมีหน้าว่าง ครึ่งหน้านสพ.ให้นักข่าวหาอะไรมาเขียน
สิ่งแรกที่ ย.โย่งเลือก คือแปลข่าวฟุตบอลอังกฤษเพียวๆ จากรอยเตอร์ หรือเอเอฟพี แล้วเอามาร้อยเรียงด้วยภาษาไทย ซึ่งเจ้ากรอบครึ่งหน้านี่เอง ได้สร้างชื่อเสียงให้ นสพ.บ้านเมืองเป็นอย่างมากในยุคนั้น
จากนั้นเราก็มีสื่อที่โฟกัสกับฟุตบอลต่างประเทศ อย่างนิตยสารสตาร์ซอคเก้อร์ หรือ หนังสือพิมพ์สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน โดยเครือสยามสปอร์ตส่งนักข่าวไปประจำที่อังกฤษ รายงานเหตุการณ์ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในต่างแดนให้คนไทยได้รับรู้
ความรู้สึกในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย การได้อ่านบทความของคอลัมนิสต์ซอคเก้อร์ที่ประจำที่อังกฤษ ได้รับความนิยมแบบเปรี้ยงปร้างสุดๆ
เราจึงเห็นได้ว่า คนไทยใกล้ชิดกับฟุตบอลอังกฤษมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว และพร้อมเปิดใจรับบอลอังกฤษเสมอ
ยิ่งเข้าสู่ยุคสมัยที่มีการถ่ายทอดสด ฟุตบอลอังกฤษก็เป็นตัวเลือกแรก ที่แฟนบอลไทยนึกถึง อย่างรายการเจาะสนาม ของ ย.โย่ง ทางช่อง 7 ก็กลายเป็นรายการที่เด็กหนุ่มแทบทุกคนรอคอย อยากจะชมไฮไลท์การยิงประตูของเกมฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีก
ด้วยความต้องการมหาศาลของคนไทยที่อยากดูพรีเมียร์ลีก ทำให้มีบริษัทต่างแย่งกัน เพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลอังกฤษมาครองให้ได้ และมูลค่าของการประมูลที่ไทย ถือว่าสูงลิ่วไม่แพ้ชาติไหนในโลก
ลองดูในประวัติศาสตร์ การซื้อลิขสิทธิ์ของพรีเมียร์ลีกในประเทศไทย 10 ปีหลังสุดนะครับ
True Visions ซื้อลิขสิทธิ์ระหว่างปี 2010-2013 ในมูลค่า 1,800 ล้านบาท
จากนั้นปี 2013-2016 CTH มาซื้อต่อด้วยตัวเลข 10,100 ล้านบาท ก่อนที่ บีอินสปอร์ต จะมาซื้อในช่วงปี 2016-2019 ในมูลค่า 9,900 ล้านบาท
ก่อนที่ True Visions จะได้ลิขสิทธิ์อีกครั้งในฤดูกาลนี้ 2019-2020 ซึ่งแม้จะไม่มีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ก็คาดว่า น่าจะใช้เงิน "เยอะ" พอสมควรทีเดียว ในการเอาคอนเทนต์ระดับโลกมาลงสู่แพลตฟอร์ม
แต่แน่นอนว่า มันเป็นการลงทุนที่คุ้มอยู่แล้ว เพราะบอลอังกฤษกับคนไทย มันเป็นเคมีที่เข้ากันมากๆอยู่แล้ว
#PremierLeague
14 บันทึก
199
6
5
14
199
6
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย