13 ส.ค. 2019 เวลา 03:18 • ประวัติศาสตร์
มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) ตัวแทนของสันติภาพและอิสรภาพ ตอนที่ 10
การต่อสู้กับอังกฤษ
ภายหลังจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ผ่านพ้นไป ชาวอินเดียก็รู้แล้วว่าการจะต่อต้านรัฐบาลอังกฤษคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
แต่คานธีไม่กลัว เขาใช้วิธีการไม่ให้ความร่วมมือ รวมทั้งเขายังปลุกระดมให้ชาวอินเดียร่วมมือกับเขา แต่ชาวอินเดียก็ต้องร่วมรับบทลงโทษที่ตัวเขาเองก็ต้องโดนด้วย
คานธีได้ปลุกระดมชาวอินเดียในการประชุมรวมถึงผ่านบทความในนิตยสาร “Young India”
ค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) คานธีได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) หรือ INC ซึ่งสนับสนุนการประท้วงโดยการไม่ให้ความร่วมมือ
INC กลายเป็นกระบอกเสียงทางการเมืองของชาวอินเดีย
นอกเหนือจากการนัดหยุดงาน วิธีประท้วงอีกทางก็คือการบอยคอตต์สินค้าอังกฤษ
อังกฤษควบคุมอุตสาหกรรมสิ่งทอในอินเดีย คานธีได้เรียกร้องให้ชาวอินเดียไม่ซื้อเสื้อผ้าจากอังกฤษและหันมาทอผ้าใช้เอง
คานธีเองก็เริ่มทอผ้าใช้เอง และสนับสนุนประชาชนให้ทอผ้า
คานธีเริ่มออกเดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อพบประชาชน รับฟังปัญหาของประชาชน ซึ่งชาวบ้านตามเมืองต่างๆ ของอินเดียก็ต้อนรับเขาและเรียกเขาว่า “Bapu” ซึ่งแปลว่า “พ่อ”
เดือนมีนาคม ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) คานธีถูกจับข้อหาปลุกระดมให้ชาวบ้านทำผิดกฎหมาย
ระหว่างขึ้นศาล คานธีกล่าวว่าเขาเคยจงรักภักดีกับอังกฤษ แต่กฎหมายของอังกฤษนั้นกดขี่ชาวอินเดียมากเกินไป เขาจึงไม่ขอให้ความร่วมมือกับอังกฤษอีก
คานธียอมรับโทษ ซึ่งเขาก็ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลาหกปี
คานธีไม่กลัวการเข้าคุก อันที่จริงเขาชอบที่จะได้ใช้เวลาอยู่ลำพัง เขาใช้เวลาพักผ่อน อ่านหนังสือ ศึกษา และทอผ้า
มกราคม ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) คานธีเป็นไส้ติ่งอักเสบและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
ภายหลังจากจำคุกเป็นเวลากว่าสองปี ศาลก็ตัดสินให้คานธีพ้นโทษ
คานธีได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467)
คานธีจะต่อสู้ยังไงต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา