17 ส.ค. 2019 เวลา 06:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Bird Strike อันตราย?
หากใครติดตามข่าวเมื่อสองวันก่อน (15 ส.ค.62) คงเห็นข่าวเครื่องบินสายการบิน Ural Airlines ของรัสเซียต้องลงจอดฉุกเฉินกลางไร่ข้าวโพด เนื่องจากเครื่องบินชนนก หรือ Bird Strike
หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แค่ชนนก มันเกิดอันตรายได้ขนาดนี้เลยหรือ
Bird Strike คืออะไร?
Bird Strike คือการที่เครื่องบิน บินไปชนกับนกนั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำกับเครื่องบิน โดยมีการบันทึกในประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1905 ระหว่างการบินของ Orville Wright (หนึ่งในพี่น้องตระกูล Wright ผู้สร้างเครื่องบินได้สำเร็จคนแรกของโลกนั่นเอง)
ซึ่งมีการเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน โดยในอเมริกามีรายงานการเกิดมากกว่า 10,000 ครั้งต่อปี หรือในอังกฤษมีมากกว่า 2,000 ครั้งต่อปี เป็นต้น
จากข้อมูลทางสถิติพบว่า เกือบทุกครั้งจะเกิดในช่วงที่เครื่องบินกำลังทำการ Take Off หรือ Landing โดยมักเกิดที่ความสูงประมาณ 50-800 ฟุตเหนือพื้นดิน นั่นเป็นเพราะเราไปบินในระยะทำการของนกนั่นเอง
1
โดยธรรมชาติของนก ยังไงมันคงไม่อยากจะบินมาชนกับเครื่องบินอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อได้ยินเสียงเครื่องบินดังๆ บินผ่านก็น่าจะบินหนีไป แต่ลองคิดถึงความเร็วของเครื่องบินที่สูงกว่ามาก เลยทำให้นกบินหนีไม่ทัน โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับเครื่องยนต์ที่มีการดูดอากาศเข้าไปใช้งาน นกที่อยู่บริเวณนั้นก็จะโดนกระแสอากาศดูดเข้าไปด้วย
กรณีที่เห็นได้บ่อยคือ ฝูงนกจำนวนมากเกาะอยู่บนต้นไม้กันอยู่ดีๆ เมื่อเครื่องบินบินมา เสียงที่ดังจะทำให้ฝูงนกตกใจ พร้อมใจกันบินหนีขึ้นมา ยิ่งมีจำนวนนกมากก็ยิ่งมีโอกาสเกิดการชนมากนั่นเอง
เมื่อมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อย เราต้องกลัวการโดยสารเครื่องบินไหม?
Bird Strike โดยทั่วไปจะสร้างความเสียหายในระดับเล็กน้อย ไม่ส่งผลค่อความปลอดภัยและการทำงานของเครื่องบิน (แต่ก็จะทำให้ต้องเสียเงินและเวลาในการซ่อมบำรุง หรืออาจทำให้เกิดการ Delay หรือ Cancel ของไฟลท์ต่อไปได้) แต่จะมีเพียงประมาณ 0.025% ที่จะก่อให้เกิดอันตรายที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในการบิน (คิดง่ายๆ คือ เมื่อมีการชนนก 10,000 ครั้ง จะร้ายแรง 2-3 ครั้ง)
ว่าแต่เครื่องบินสร้างมาจากโลหะหรือวัสดุแข็งแรง ชนกับนกจะเกิดความเสียหายได้จริงหรือ?
หากจะคิดเรื่องนี้จะต้องเริ่มพิจารณาจากพลังงานจลน์ที่เกิดขึ้น (ถ้าจำกันได้ นั่นคือ E = 1/2mv^2) แปลได้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลคือ มวลของนก กับความเร็วของเครื่องบิน (เมื่อเทียบกับความเร็วเครื่องบิน ความเร็วของนกจะมีค่าน้อย) การที่ความเร็วมีการยกกำลังสอง นั่นคือ ยิ่งมีความเร็วมากเท่าไร จะเกิดพลังงานมากเป็นทวีคูณนั่นเอง เมื่อเกิดการชนพลังงานจลน์ที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนเป็นแรงกระแทก (Impact Force) ที่จะเป็นตัวสร้างความเสียหายให้กับเครื่องบินได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น คือ ถ้านกมีนำ้หนัก 5 kg มาชนกับเครื่องบินในขณะที่มีความเร็ว 200 knot จะทำให้เกิด Impact Force ที่มีขนาดมากกว่า 10 ตันเลยทีเดียว และหากความเร็วเพิ่มเป็น 250 knot แรงที่เกิดขึ้นอาจจะสูงถึงเกือบๆ 20 ตันได้เลย
โดยผลที่เกิดขึ้นภายหลังการชน หากมองในส่วนคู่กรณีที่ 1 ก็คือ นก แน่นอนครับ ตายแน่ คู่กรณีที่ 2 คือ เครื่องบิน จะเกิดความเสียหายได้ 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ความเสียหายกับตัวเครื่องบิน และกับตัวเครื่องยนต์ สำหรับตัวเครื่องบิน หากถูกชนตรงโครงสร้างที่มีความแข็งแรงสูง ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบิน แต่หากไปชนกับส่วนที่ค่อนข้าง Sensitive เช่น กระจกหน้า ชุดล้อ หรือชุดหางที่มีหน้าที่ในการควบคุมทิศทางและเสถียรภาพอากาศยาน ก็จะส่งผลกระทบต่อการบินได้ สำหรับตัวเครื่องยนต์หากดูดนกเข้าไปแล้วก็จะเกิดความเสียหาย อาจถึงขั้นทำให้เครื่องยนต์ใช้งานไม่ได้เลย โดยมีการรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก Bird Strike ทั่วโลก พบว่ามีมูลค่าสูงถึงประมาณปีละ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 40,000 ล้านบาท)
แล้วจะป้องกัน Bird Strike อย่างไรดี?
มาตรการป้องกันและเพิ่มความปลอดภัยมีอยู่หลายส่วน เช่น ทำการศึกษาธรรมชาติของนกในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้กับสนามบิน เพื่อระบุถิ่นที่อยู่และแนวการบินอพยพย้ายถิ่นในแต่ละฤดูกาล เพื่อสามารถวางแผนหลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องบินเอง ก็มีการกำหนดมาตรฐานความทนทานต่อ Bird Strike ทั้งในส่วนเครื่องยนต์และโครงสร้างต่างๆ ซึ่งเครื่องบินแต่ละรุ่นจะต้องผ่านการทดสอบก่อนถูกนำมาใช้งานได้ ซึ่งการทดสอบส่วนใหญ่จะทำการติดเครื่องยนต์บนพื้น และปล่อยนกหรือไก่ (ที่ตายแล้ว) เข้าไปชนด้วยความเร็วที่สูง เพื่อดูว่าเครื่องบินหรือเครื่องยนต์สามารถทนทานได้ตามมาตรฐานกำหนดไหม
แล้วทำไมยังพบเห็นอันตรายจาก Bird Strike ได้อยู่อีก?
ในกรณีที่เกิดอันตราย ส่วนมากพบว่าเป็นการชนกับฝูงนกที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เช่น นกนางนวล นกอินทรี หรือ ห่าน เป็นต้น ซึ่งจะเกิดความเสียหายได้มากเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนด และส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัย
สำหรับเครื่องบินโดยสาร ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินที่มีหลายเครื่องยนต์ หากเครื่องยนต์เสียหายไปหนึ่งเครื่อง นักบินก็ยังสามารถนำเครื่องลงจอดได้ด้วยอีกเครื่องยนต์ที่เหลือ
แต่ในบางกรณี เช่น ใน ค.ศ.2009 เครื่องบินแบบ Airbus 320 ของ United Airlines ในช่วงที่ทำการบินขึ้นจากสนามบิน LaGuardia นิวยอร์ค ได้บินไปชนกับฝูงห่าน และที่โชคร้ายมากขึ้น คือ เครื่องยนต์ได้รับความเสียหายอย่างหนักจนใช้งานไม่ได้ทั้งสองเครื่อง จึงต้องรีบลงจอดฉุกเฉินในแม่นำ้ Hudson (เคสนี้แหละครับ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นหนังเรื่อง Sully)
หรือในกรณีล่าสุด เครื่องบินแบบ Airbus 321 ของ Ural Airlines ก็โดน Bird Strike เข้าทั้งสองเครื่องยนต์เช่นเดียวกัน และนักบินได้นำเครื่องลงจอดฉุกเฉินกลางไร่ข้าวโพดได้อย่างปลอดภัย
เพิ่มเติมข้อมูลประกอบอีกนิดครับ
คำว่า Bird Strike นี้ ถึงจะมีความหมายแปลตรงตัวถึงนก แต่หากเครื่องบินไปชนกับสัตว์อื่น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ปีก เช่น ค้างคาวหรือห่าน และ สัตว์บก เช่น วัว หรือ สุนัข ก็จะใช้คำว่า Bird Strike เหมือนกัน
บทความนี้เป็นเรื่องแรกที่พยายามลองเขียนดูครับ
จะพยายามเขียนบทความที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เกี่ยวกับเครื่องบิน ให้มันดูเข้าใจง่ายๆ มาเรื่อยๆ นะครับ
ใครมีความคิดเห็นอย่างไร Comment ได้เลยครับ
References
โฆษณา