17 ส.ค. 2019 เวลา 14:48 • ไลฟ์สไตล์
เมื่อไผ่ออกดอกเป็นลางร้ายจริงหรือ!?!
Flowering bamboo: the bad omen!?!
Cr.jp-trip.com (Arashiyama bamboo forest)
วันนี้ผู้เขียนไม่ได้มาสายมูแต่อย่างใดนะคะ
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดค่ะ 😅
แต่อยากจะแชร์ถึงเรื่องที่คาใจตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา (นานกี่ปีอย่าไปพูดถึงเลยค่ะ..แหะ แหะ)
เรื่องมีอยู่ว่าอ.ที่ปรึกษาท่านกรุณาเล่าประดับเป็นความรู้ว่าไผ่นั้นเป็นพืชมหัศจรรย์ด้วยเหตุผลหลายประการ
ว่าแล้วก็ขอเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหน่อยนะคะ
🌿ประการแรก ไผ่เป็นพืชในตระกูลเดียวกับหญ้า…จึงนับได้ว่าไผ่เป็นหญ้าที่สูงที่สุดในโลก!!!
🌿ประการที่สอง ไผ่เป็นต้นไม้ที่โตเร็วที่สุดในโลกค่ะ สถิติที่ว่าคือภายใน 24 ชม. ไผ่บางชนิดสามารถยืดขยายไปได้ถึง 3 ไม้บรรทัด!!! (มีใครให้มากกว่านี้ไหมคะ น่าจะเร็วเบอร์สุดแล้ว)
🌿ประการที่สาม ไผ่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย นั่นทำให้เส้นไยจากไผ่ไปถูกนำไปเป็นส่วนประกอบใน อุตสาหกรรมผ้าทอ ผลิตเสื้อผ้าต้านแบคทีเรีย รวมทั้งนำไปผลิตเครื่องสำอางได้ด้วย
🌿ประการที่สี่ ไผ่ที่มาจากต้นแม่เดียวกันนั้น ไม่ว่าจะถูกแยกไปปลูกที่ใดก็ตามบนโลกใบนี้ เมื่อถึงเวลาที่ออกดอก ต้นไผ่เหล่านี้จะพร้อมใจกัน ทะยอยออกดอกในเวลาที่ไล่เลี่ยกันราวกับนัดหมาย และที่มากกว่านั้นคือหลังจากนั้นไม่นาน ไผ่เหล่านั้นก็จะตายพร้อมๆกันอีกด้วย … 😮
ในข้อนี้เป็นสิ่งที่ฟังแล้วเกิดคำถามว่าอะไรเป็นตัวกำหนดสิ่งนั้น!!!
ที่พูดว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ เห็นทีจะไม่ใช่ซะแล้ว!!
และในวันนี้ได้ฤกษ์เบิกความจริงในเรื่องของไผ่ออกดอกแล้วตายจริงหรือ และมันเป็นลางร้ายอะไรรึเปล่า
ไผ่ออกดอก (Bamboo flowering) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาดูได้ยากถึงยากที่สุด แบ่งออกเป็น 3 แบบหลักขึ้นกับสายพันธุ์และ/หรือสถานที่ปลูกดังนี้ค่ะ
1. Continuous flowering ออกสม่ำเสมอ เช่น ทุกปี ปีเว้นปี เป็นต้น แต่มักจะไม่ติดเมล็ด และไม่ได้ทำให้ต้นไผ่ตายหลังจากนั้น
2. Sporadic flowering ออกบ้างประปราย การออกดอกแบบนี้ไม่ได้ขึ้นกับพันธุกรรมแต่มักเป็นการออกดอกเพื่อให้อยู่รอดต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งหรือหนาวจัด การออกดอกแบบนี้ไม่ทำให้ต้นตายเช่นกัน และไม่ค่อยติดเมล็ด
3. Gregarious flowering ออกดอกทั้งกอแบบพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะถูกแยกไปปลูกที่ไหนบนโลกก็ตาม การออกดอกนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิศาสตร์หรือภูมิอากาศเลย แต่เป็นเรื่องของพันธุกรรมล้วนๆ เหมือนมีนาฬิกาจับเวลา ติ๊กต่อกๆ นับเวลาถอยหลังไว้ในเซลล์ของต้นไผ่
ซึ่งการออกดอกแบบนี้เจอได้ยากมากเพราะต้องใช้เวลาถึง 20-130 ปี เมื่อออกดอกแล้วก็ทะยอยตายไปจนหมด คงเหลือแต่เมล็ด (bamboo rice) ไว้...
🤔 ลองจิตนาการว่าถ้าไผ่ทั้งป่ามาจากต้นตอเดียวกันทั้งหมดจะเป็นอย่างไร และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไรบ้าง....🤔
😟 หมีแพนด้าคงผอมโซแน่ๆงานนี้ 😟
ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่อินเดียเมื่อปี 2006-2008 เมื่อไผ่ในป่าราว 70% ของพื้นที่ทะยอยออกดอกและติดเมล็ด ทำให้ประชากรหนูซึ่งชื่นชอบเมล็ดไผ่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เจ้าหนูเหล่านั้นออกไปทำลายพืชผลต่างๆอย่างมากจนก่อให้เกิดผลเสียทางเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนอดอยาก และไม่มีไม้ไผ่สำหรับการก่อสร้างบ้านเรือน แถมพ่วงโรคระบาดด้วย...อะไรจะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดได้ขนาดนั้น!!
ไม่ธรรมดาเลยนะคะเมื่อไผ่ออกดอก …เริ่มเข้าใจว่าทำไมคนรุ่นปู่ย่าตายายถึงได้คิดว่ามันเป็นลางร้าย!!
ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้กลไกที่กำหนดการเกิด gregarious flowering ในต้นไผ่ได้อย่างแน่ชัดนะคะ ความลับนี้ก็เลยยังเป็นความลับอยู่ต่อไป
จากการค้นคว้าครั้งนี้ก็ทำให้ผู้เขียนทราบว่าการที่ไผ่ออกดอกไม่ได้ทำให้ไผ่ตายเสมอไป แต่มันอยู่ที่สายพันธุ์มากกว่า และมันไม่ได้เป็นเรื่องของลางร้ายแต่อย่างใด หากแต่จะสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในแง่ที่หากเราสนใจปลูกไผ่เป็นอาชีพ เราควรต้องทราบที่มาของสายพันธุ์ไผ่ที่นำมาปลูกเพื่อจะได้ไม่เจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันแบบ gregarious flowering นะคะ 😄 นั่นหมายความว่าไผ่เหล่านั้นอาจจะมีอายุแก่กว่าเราซะอีก 😁
ในขณะที่ทุกคนอ่านบทความนี้อยู่ gregarious flowering ก็กำลังเกิดขึ้นในภาคกลางไล่ลงไปทางใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งป่าไผ่เริ่มทะยอยออกดอกมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าปี 2019 อาจจะเป็นปีแห่ง gregarious flowering ก็เป็นได้ หากใครอยากเห็นกับตาตัวเองสักครั้งก็ต้องลองติดตามข่าวคราวในญี่ปุ่นดูนะคะ (ในลิงค์ข้างล่างนี้ค่ะ)
โฆษณา