28 ส.ค. 2019 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
เอช เจ ไฮนซ์ (H.J. Heinz) ผู้สร้างตำนานมะเขือเทศ ตอนที่ 4
ความรุ่งเรืองของไฮนซ์
ในเวลานั้นพิตตส์เบิร์กกำลังขยาย ได้มีการค้นพบน้ำมันรอบๆ เมือง และเมืองก็ได้เป็นแหล่งผลิตกระจกมากที่สุดในโลก
ธุรกิจ ห้างร้านต่างๆ ได้เปิดขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงโรงงาน ทำให้เมืองนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่เดินทางเข้ามา ซึ่งการขยายตัวของเมืองนี้เอง ทำให้ความต้องการอาหารมีมาก และเฮนรี่ก็พร้อมที่จะผลิตอาหารเลี้ยงพวกเขา
นอกจากนั้นเฮนรี่ยังต้องการจะขยายธุรกิจไปนอกเพนซิลเวเนีย เขาจึงขนส่งสินค้าทางรถไฟ รวมถึงเดินทางไปพูดคุยกับพนักงานขายและลูกค้าเสมอๆ
ค.ศ.1869 (พ.ศ.2412) เฮนรี่ได้แต่งงานกับ “ซาราห์ ยัง (Sarah Young)” ชาวไอร์แลนด์ซึ่งย้ายมาสหรัฐอเมริกา
ภายในเวลาไม่กี่ปี แบรนด์ Anchor ก็ได้ขยายไลน์สินค้า มีทั้งผักดอง ซอส รวมทั้งน้ำส้มสายชู
ค.ศ.1872 (พ.ศ.2415) เฮนรี่และแคลเรนซ์ หุ้นส่วน ได้รับอีเจ น้องชายของแคลเรนซ์เข้าเป็นหุ้นส่วน จึงได้ตั้งชื่อบริษัทใหม่ว่า “Heinz, Noble & Company” และได้ขยายบริษัทเข้าไปในพิตตส์เบิร์ก และสร้างโรงงาน โกดัง รวมถึงสำนักงานอีกด้วย
ขณะที่ชีวิตด้านธุรกิจของเขากำลังรุ่งเรือง ชีวิตครอบครัวของเฮนรี่ก็กำลังอบอุ่น เขากับซาราห์มีลูกสาวด้วยกันในปีค.ศ.1871 (พ.ศ.2414) ชื่อ “ไอรีน (Irene)” และอีกสองปีต่อมา ก็มีลูกชายอีกคนชื่อ “แคลเรนซ์ (Clarence)
เฮนรี่นั้นทำงานอย่างหนัก เขาดูแลทุกส่วนอย่างละเอียด แม้กระทั่งกลับบ้านหลังเลิกงาน เขาก็จะทำบัญชี และเขียนจดหมายติดต่อธุรกิจจนดึกดื่น
ค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) บริษัทของเฮนรี่เติบโตอย่างมาก บริษัทได้ปลูกผักเองบนเนื้อที่กว่า 160 เอเคอร์ รวมทั้งยังเปิดโรงงานในอีกหลายเมืองเพื่อทำน้ำส้มสายชู
นิตยสารในยุคนั้นได้เขียนถึงความน่าทึ่งของบริษัทของเฮนรี่ว่าเป็นบริษัทที่เติบโตได้รวดเร็ว และกล่าวอีกว่าบริษัทนี้ผลิตแต่สินค้าชั้นหนึ่ง
ดูเหมือนอนาคตของบริษัทนั้นสดใสมาก แต่ชีวิตของนักธุรกิจ ไม่มีทางที่จะราบรื่นไปได้ตลอด
ตอนต่อไป จะถึงช่วงเวลาของวิกฤตเศรษฐกิจยุคแรกๆ ของสหรัฐอเมริกา บริษัทของเฮนรี่จะรอดไปได้หรือไม่
ติดตามต่อในตอนหน้านะครับ
โฆษณา