1 ก.ย. 2019 เวลา 00:30
“Point of no Return” เราเหลือเวลาอีกแค่ 16 ปี
ถ้าบอกว่า 60 เมตร คือ ระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในอีก 16 ปี
คงมีน้อยคนนักที่จะเชื่อ
แต่ถึงไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เพราะผมจะบอกใหม่อีกรอบ ให้ดูน่ากลัวน้อยลงหน่อย
“ 60 เมตร คือ ระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในอีก 16 ปี ”
...
..ก็ประโยคนี้มันน่ากลัวน้อยที่สุดแล้ว
สภาพแวดล้อมของโลกเราในตอนนี้กำลังเข้าขั้นวิกฤติ
เห็นได้จากข่าวต่างๆ ที่มีออกมาแทบจะวันเว้นวัน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าโลกของเราเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก
..พายุขนาดใหญ่ และรุนแรงมากขึ้น
..ไฟไหม้ป่า และคลื่นความร้อน
..สัตว์น้ำตาย และขาดอาหาร
แต่ถึงอย่างนั้น พวกเราหลายคนก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามรักษาความสมดุลของโลกใบนี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อสัญญาความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือข้อตกลงชื่อแปลกๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญมากมีชื่อว่า “Paris Agreement” หรือ “ความตกลงปารีส”
หนึ่งในเป้าหมายของ Paris Agreement คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
แต่จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมหาศาล ทำให้เราอาจจะถึงจุดแตกหักเร็วขึ้นกว่าเดิม
โดยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล คิดเป็นร้อยละกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน
นั่นทำให้นักสิ่งแวดล้อม ต้องนั่งปรับโมเดลคณิตศาสตร์กันแทบทุกปี เพราะเราทำสถิติใหม่กันแบบไม่น้อยหน้าโอลิมปิคเลย
เมื่อคำนวณออกมาแล้ว พบว่า เราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 2 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งถ้าเราไม่ทำ และยังคงใช้ทรัพยากรด้วยอัตราเร็วในระดับนี้ต่อไป โลกของเราก็จะข้าม Point of no return ตอนประมาณปี 2035 หรืออีก 16 ปีนับจากนี้
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 2 องศา สามารถก่อผลลัพธ์มหาศาลที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะระบบนิเวศน์ของโลก หรือ “ไบโอม” เชื่อมโยงกันเป็นทอดๆ ผ่านวัฏจักรการหมุนเวียนสาร
ดังนั้น ผลกระทบของมันจะส่งต่อกันไปเรื่อยๆ วนเวียนกันไปทั้งโลก ทำให้เมื่อมีระบบใดระบบหนึ่งล้ม ระบบที่เหลือ จะค่อยๆ ล้มตามกันเป็นโดมิโน่
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า “Hothouse Earth”
ในกรณีนี้ อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นอีกหลายองศา และปรากฏการณ์คลื่นความร้อน จะยิ่งร้อนกว่าเดิม จนมนุษย์อยู่ไม่ไหว
เพราะที่อุณหภูมิ 40 องศานั้น จะเป็นจุดที่เซลล์ของเราเริ่มเสื่อมลง
ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น เป็นกรดเร็วมากขึ้น มากจนทำลายสถิติ 66 ล้านปีที่เคยศึกษามา
และความเป็นกรด จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงพวกปะการัง ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด แค่ 2% จากพื้นที่ก้นมหาสมุทรทั้งหมด
แต่ปะการังพวกนี้ เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของสัตว์น้ำต่างสปีชีย์กว่า 1 ใน 4 ของทั้งโลก
นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายลงสู่ทะเล ซึ่งไปรบกวนวงจรกระแสน้ำที่มีมาแต่เดิม ทำให้มหาสมุทรที่อยู่ห่างออกไปร้อนขึ้น และไหลวนกลับไปละลายน้ำแข็งขั้วโลกเป็นวงจรที่ไม่จบสิ้น
อาจเรียกได้ว่า มันคือสวิตซ์ทางเดียว ที่เมื่อเปิดแล้ว จะไม่มีทางปิดมันได้อีกเลย..
กลับมาที่กรุงเทพมหานครของเรา
คุณรู้หรือไม่ว่ากรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลกว่าครึ่งจังหวัด และบางเขตยังเป็นพื้นที่แอ่งอีกด้วย
เพราะฉะนั้นการลอกท่อซ้ำๆ จึงไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เมื่อเราจะต้องเจอกับน้ำท่วมขังรอการระบายในอนาคต
ซึ่งถ้าระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบนี้ ลำพังคันกั้นน้ำพระราชดำริอย่างเดียวก็คงเอาไม่อยู่
ถึงตอนนั้น เราอาจจะถึงขั้นต้องย้ายเมืองหลวงเลยก็เป็นได้..
ทิ้งท้ายด้วยข้อมูลที่น่าเศร้าใจ
เป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยง Point of no return คือการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดอย่างน้อยปีละ 2 เปอร์เซ็นต์
แต่รู้ไหมว่า สัดส่วนพลังงานสะอาด เพิ่มขึ้นไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว...
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน บทความนี้มาแปลกหน่อย เนื่องจากได้แรงบันดาลใจมาจากคอมเม้นต์ของคุณกรีน (อีกแล้ว) จากประโยค “point of no return” ที่สื่อถึงจุดที่ไม่มีวันหวนกลับ
คุณกรีนเองก็ทำเพจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่ ใครสนใจลองกดเข้าไปดูได้ครับ
โฆษณา