2 ก.ย. 2019 เวลา 01:00 • ไลฟ์สไตล์
ลำดับการนำกิจกรรมสร้างทีม
ลำดับการนำกิจกรรมมีความสำคัญมากในกระบวนการจัดกิจกรรมเพื่อการฝึกอบรม
พึงระลึกเสมอว่าทุกกิจกรรมมีความสำคัญ มีวัตถุประสงค์ในการทำ แม้แต่การเล่นเพื่อความสนุกสนานก็มีประโยชน์ เพราะความสนุกนั้นย่อมส่งผลให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่อนคลาย เป็นตัวของตัวเอง และพร้อมที่จะเปิดใจรับข้อมูลใหม่ๆ
โดยหลักๆแล้วกิจกรรมเพื่อการฝึกอบรมแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้ 3 ประเภทคือ
1. กิจกรรมเพื่อละลายพฤติกรรม (Ice Breaking) เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานเน้นให้ผู้เข้าร่วมได้ทำความคุ้นเคย รู้จักกับเพื่อนใหม่ กล้าที่จะเล่น เปิดเผยตัวตนต่อผู้อื่นและกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นเมื่อต้องไปรวมกลุ่มทำกิจกรรมอื่นๆต่อไป
2. กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ (Learning Activity) เป็นกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วม ในหัวข้อต่างๆผ่านการปฏิบัติ ในรูปแบบสถานการณ์จำลอง(เกม) สอดแทรกข้อมูลข่าวสารที่ต้องการสื่อเข้าไปในกิจกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่าน”ประสบการณ์” รวมถึงมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงบวกโดยดึงเอาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะเล่นเกมมาสรุป
3. กิจกรรมเพื่อนันทนาการ (Recreation Activity) เป็นประเภทกิจกรรมที่บางครั้งผู้จัดอบรม สัมมนา ให้ผมทำเพื่อวัตถุประสงค์นี้โดยตรง นั่นคือผ่อนคลายบรรยากาศการอบรมจากที่ตึงเครียด ให้สนุกสนาน อาจเป็นเกมคั่นการสัมนาก่อนเปลี่ยนเนื้อหาช่วงต่อไปประมาณ 10 – 15 นาที หรืออาจจะนานกว่านั้นตามความเหมาะสม
จากวัตถุประสงค์ 3 ข้อนี้เราจะนำมาลำดับเป็นกิจกรรมดังนี้
ช่วงที่ 1 : ละลายพฤติกรรม (อย่าลืมทักทายแนะนำตัวเองก่อนเริ่มกิจกรรมนะครับ)
“ เปิดด้วยการสอนCode “ ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คือ พวกปรบมือ 1 ครั้ง 2 ครั้ง , ร้องเพลง หากพวกเรากำลังสบายจงปรบมือพลัน อะไรทำนองนี้ซึ่งผมขอแนะนำให้คิดCodeใหม่ๆจะดีกว่าเพื่อให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่ากิจกรรมน่าสนใจ และแปลกใหม่ ข้อสำคัญคือต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป (ถ้ากิจกรรมแรกๆยุ่งยากเสียแล้วความร่วมมือต่อๆไปคงเกิดขึ้นได้ยาก)
จะแนะนำตัวขอเสียงปรบมือดังๆแล้วขอดูพลังเสียงก็ได้ โดยผู้นำกิจกรรมขานCodeที่ ตกลงกันไว้ อาจเป็นชื่อย่อหน่วยงาน ชื่อหลักสูตร หรืออะไรก็ได้ที่กล่าวรวมถึงทุกคนแบบไม่ยาว ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมชูมือขวาขึ้นพร้อมเปล่งเสียงดังๆว่า ”เฮ่”
Code มีสำคัญมากในการเรียกร้องความสนใจเพราะผู้นำกิจกรรมมักจะเป็นพวกชอบเรียกร้องความสนใจ(แซวเล่น) ประโยชน์จริงๆของCodeก็เพื่อให้เราควบคุมคนหมู่มากได้นั่นเอง เพราะเมื่อนำกิจกรรมไปแล้วผู้เล่นอาจจะสนุกจนหัวเราะ พูดคุยไม่หยุด ผู้นำกิจกรรมจะใช้codeเพื่อเรียกสมาธิและความสนใจมาอยู่กับตนเองอีกครั้ง ก่อนที่จะบอกกฎ กติกาในการเล่นเกมต่อไป
ตามด้วยเกมสนุกสนาน ไล่เรียงลำดับความสัมพันธ์จากย่อยไปหาใหญ่ โดยใช้เกมที่เล่นเป็นคู่ 2 คน 4 คน 8 คน กระจายให้รู้จักคนใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ช่วงนี้นอกจากเล่นเกมแล้วอาจให้ถามชื่อ แนะนำตัวเองสั้นๆร่วมไปด้วย
ช่วงที่ 2 : สร้างความเป็นทีม เมื่อทุกคนคุ้นเคยกันระดับหนึ่งแล้ว ก็เริ่มเล่นเกมรวมๆที่ต้องทำร่วมกันทั้งหมด เช่นจับกลุ่มตามวันเกิด ตามสีเสื้อ เรียงวงวันเกิด จากนั้นให้สมาชิกแต่ละคนได้ไปจับกลุ่มเพื่อสร้างทีมโดยจะจับกลุ่มแบบคละกัน หรือ คนสนิทอยู่ทีมเดียวกันก็ได้ ตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมว่าต้องการให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกลุ่มแบบไหน
ถ้าจะคละไม่ให้คนสนิทมาอยู่ด้วยกันแบบแยกชาย หญิง เท่าๆกันก็มีหลายวิธี
เช่น ให้คำสั่งในเกม จับกลุ่มกับคนที่สนิทที่สุดที่เป็นเพศเดียวกัน จำนวนเท่ากลุ่มที่ต้องการจะแบ่ง แล้วภายในกลุ่มที่จับกันนี้ให้เลือกว่าใครจะเป็น A B C D , หมู เห็ด เป็ด ไก่ อะไรก็ได้ แล้วค่อยแยกเป็นกลุ่มที่แท้จริงตามที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลือกอีกครั้ง เลือก A อยู่กลุ่มA ,เลือก B อยู่กลุ่มB เป็นต้น
เมื่อรวมกลุ่มเสร็จแล้วค่อยให้แต่ละทีมตั้งชื่อกลุ่ม จับมือกันบอกชื่อกลุ่มดังๆ ต่อด้วยเกมย่อยๆอุ่นเครื่องแข่งขันระหว่างทีม เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นทีม และรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีม
ช่วงที่ 3 : กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้เมื่อทุกคนเป็นตัวของตัวเอง และรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของทีม พฤติกรรมที่แสดงออกมาขณะเล่นเกมจะชัดเจนและ เป็นธรรมชาติซึ่งเมื่อดึงพฤติกรรมเหล่านี้มาสรุป ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะเรียนรู้และเข้าใจได้อย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนนี้ควรลำดับกิจกรรมตามเนื้อหาอย่างเหมาะสม ว่ากิจกรรมใดควรเริ่มก่อน หลัง กิจกรรมใดควรใช้สรุปปิด
ช่วงที่ 4 : สรุปกิจกรรมและภาพรวมถ้าเนื้อหาเยอะควรเล่นเกมและสรุปเป็นช่วง เช่นสรุปก่อนออกไปพักเบรก ส่วนการสรุปเนื้อหาในช่วงท้ายควรเป็นภาพรวมกิจกรรมทั้งหมดว่าเชื่อมโยงกันอย่างไร เนื้อหาความสำคัญคืออะไร ?
ลำดับกิจกรรมทั้งหมดนี้ จะเน้นไปในแนวการสร้างทีมงาน(Team Building)เป็นหลัก ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้แบบอื่นๆได้
ตอนต่อไปเราจะมีตัวอย่างเกมที่ใช้ตามลำดับกิจกรรมนี้มาให้ดูกันครับ
โฆษณา