3 ก.ย. 2019 เวลา 23:30 • การศึกษา
ทำไม"เม็ดเลือดแดง"ถึงมีแอ่งอยู่ตรงกลาง?
ทำไมเม็ดเลือดแดงถึงมีแอ่งอยู่ตรงกลาง?
เคยมีใครสงสัยไหมครับว่า ทำไมเซลล์เม็ดเลือดแดงถึงหน้าตาเป็นแอ่งแบบนั้น?
เพราะปกติแล้วเซลล์ส่วนใหญ่ที่เราๆคุ้นเคยกันดี
จะมีลักษณะเป็นแบบทรงกลม ตัวอ้วนๆหน่อย อย่างเม็ดเลือดขาว
พอมาดูหน้าตาของเม็ดเลือดแดงแล้วมันสวนทางกันเลย
ตัวไม่อ้วนไม่เป็นทรง แต่ออกไปทางแบนราบ
แล้วมีหลุมตรงกลางทั้งสองด้านเลย ไหงหน้าตามันเป็นแบบนี้?
แต่ตาม concept ของเพจนี้คือ"ทุกอย่างมีเหตุมีผล"
ฉะนั้นการที่เม็ดเลือดแดงมีหลุมเว้าลงไปตรงกลางก็ต้องมีที่มาอย่างแน่นอน
ว่าแต่ที่มาของหลุมนั้นคืออะไร?
ประวัติศาสตร์บอกเราได้หรือเปล่า?
ไปหาคำตอบกันครับ...
หลอดเลือด
คำตอบสั้นๆแบบชวนสงสัยก็คือ"เพราะเม็ดเลือดแดงไม่มีนิวเคลียสครับ"
ถ้าเหตุผลที่มันเว้าเป็นหลุมเพราะไม่มีนิวเคลียส
งั้นคำถามใหม่แกะกล่องก็คือ "ทำไมมันไม่มีนิวเคลียส"
นี่แหละครับ ประเด็นของเรื่องนี้...
ก่อนจะไปขอเล่าถึงนิวเคลียสก่อนสักหน่อย
นิวเคลียสเป็นส่วนประกอบนึงของเซลล์ทั่วๆไป
ตั้งอยู่ใจกลางของเซลล์
มีหน้าที่แบ่งตัวเองออกไป เหมือนกับการถ่ายสำเนานั่นแหละครับ
คอยเก็บข้อมูลทาง DNA ทุกอย่างถือว่าสำคัญมากๆ
แต่เม็ดเลือดแดงไม่มี...
ที่บอกไม่มีนี่เฉพาะสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมนะครับ
แต่สัตว์เลื้อยคลานกับนกกลับมี แต่ก่อนจะงงไปมากกว่านี้
ย้อนเวลาไปดูประวัติศาสตร์กันดีกว่าครับ
ยุคไดโนเสาร์(รูปก่อนหน้าไม่ค่อยมีครับ)
ย้อนกลับไปเมื่อ 300 ล้านปีที่แล้วก่อนหน้ายุคไดโนเสาร์ โลกนี้ถูกครองไปด้วยกองทัพของสัตว์เลือดเย็น อย่างสัตว์เลื้อยคลานยุคแรกเริ่มต่างๆ(คล้ายๆกิ้งก่า)
จนเมื่อประมาณ 250 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษของเราทุกคนที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นได้ถือกำเนิดขึ้นและมีชีวิตรอดอยู่ได้ ท่ามกลางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
(ขอเล่าแยกในตอนต่อๆไปนะครับ ยาวมากก)
ความพิเศษของสัตว์เลือดอุ่นที่สัตว์เลือดเย็นไม่มีคือ
"สร้างความร้อนได้เองครับ" ว่าแต่ มันเป็นแบบไหนหล่ะ?
ลองจับหน้าผาก จับรักแร้ แตะซอกคอดู รู้สึกว่ามันอุ่นๆไหมครับ ...
ความร้อนแบบนั้นแหละครับที่จระเข้หรือกิ้งก่าสร้างขึ้นมาไม่ได้
มันต้องอาศัยความร้อนนอกร่างกายช่วยอย่างเดียว หลักๆก็คือ"ดวงอาทิตย์"
การที่สัตว์เลือดอุ่นสร้างความร้อนเองได้
เหมือนเป็นการปลดปล่อยตัวเองจากดวงอาทิตย์
ไม่ต้องนอนอาบแดดทั้งวันเพื่อเอาความร้อนเข้าสู่ร่างกาย
สามารถไปทำอย่างอื่นได้เยอะแยะ(ล่าสัตว์อื่น ผสมพันธุ์)
แต่มีข้อดีก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย ...
ธรรมชาติวิวัฒนาการนาการเตาความร้อนส่วนตัวมาให้
ปลดพันธนาการเราจากดวงอาทิตย์
แต่ธรรมชาติไม่ได้ทำปุ่ม"ปิด"เตาความร้อนมาด้วยน่ะสิ
ตอนนี้ร่างกายเรา(เลือดอุ่น)เหมือนเตาความร้อนที่เปิดตลอดเวลา
เผาอาหารที่หาได้มาเรื่อยๆเพื่อแลกกับความร้อนและร่างกายที่อุ่น
(แม้บางครั้งเราจะไม่ต้องการ) กลายเป็นเปลืองอาหารเกินเหตุไปเลย
ประเด็นสำคัญก็คือ การจะเผาอาหารเพื่อให้ได้มาซึ่งความร้อน
ต้องเอา "ออกซิเจน" เข้ามาแจมด้วยครับ
การที่จะเอาออกซิเจนเข้ามาแจมในการเผาอาหาร
ก็ต้องมีระบบขนส่งออกซิเจน ซึ่งก็คือ
"ระบบหมุนเวียนเลือด"ของเราๆนี่แหละ
ส่วนตัวที่เป็นรถขนส่งในระบบหมุนเวียนเลือด
และเป็นพระเอกของเรื่องนี้ก็คือ "เม็ดเลือดแดง"นั่นเอง
อย่างที่เกริ่นไปว่าสัตว์เลือดอุ่นมีเตาความร้อนที่"ไม่มีปุ่มปิด"
เปิดการใช้งานทั้งวันทั้งคืน แปลว่าร่างกายต้องใช้"ออกซิเจน"
เผาไหม้อาหารเพื่อให้ได้มาซึ่งความร้อนทั้งวันทั้งคืนเช่นกัน
เมื่อออกซิเจนเป็นสิ่งที่ต้องใช้ตลอดเวลา
รถขนส่งต้องมีการปรับตัวให้ดีขึ้น รับออกซิเจนได้เยอะขึ้น
มีพื้นที่ว่างมากขึ้น และนั่นคือที่มาของการที่นิวเคลียสต้องหายไป...
ไขกระดูก(Bone marrow)
ด้วยความที่เม็ดเลือดแดงถูกสร้างที่ไขกระดูก
นั่นแปลว่ามันไม่ต้องแบ่งตัวเองอีกต่อไป
เหมือนมีอู่รถขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างรถได้เป็นล้านๆๆๆคัน
ถ้าเป็นแบบนั้น รถจะแบ่งตัวเองได้ไปเพื่ออะไร
พอมีโรงงานสร้างเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่(อู่รถ)
นิวเคลียสที่ใช้แบ่งเซลล์ก็หมดความจำเป็น
ซึ่งปัญหาและการปรับตัวตรงนี้ทำผมอึ้งไปเลยครับ
ตอนนี้รถขนส่งออกซิเจนของเราเจอสองปัญหา คือ
นิวเคลียสที่ไม่ได้ใช้แล้ว
กับพื้นที่เก็บออกซิเจนที่ยังต้องการอีก(ขนส่งให้เยอะๆ)
การปรับตัวของสัตว์เลือดอุ่นคือ ควักเอานิวเคลียสออกไป
เพิ่มโปรตีนที่จับกับออกซิเจนเข้าไปแทน
เพิ่มเยอะๆ เพิ่มให้เต็มพื้นที่เลย จะได้ขนออกซิเจนได้เยอะๆ
พอนิวเคลียสหายไป ตรงกลางก็เลยเว้าเป็นแอ่งอย่างที่เห็นกัน
แต่อีกสาเหตุที่มันเว้าเป็นแอ่งทั้งสองด้านอีกอย่างนึงก็คือ
เพิ่มพื้นที่ผิวครับ
เพราะยิ่งพื้นที่ผิวเยอะ ทางเข้าก็เยอะ
ออกซิเจนก็ไหลเข้าได้เร็ว เอาไปใช้ได้เยอะนั่นเอง ...
สรุปก็คือ เม็ดเลือดแดงไม่มีนิวเคลียสเฉพาะ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นสัตว์เลือดอุ่น
สัตว์เลือดอุ่นเผาอาหารตลอดเวลา
การเผาก็ใช้ออกซิเจน
ดังนั้นรถขนส่งออกซิเจนต้องส่งให้ได้เยอะๆ
เม็ดเลือดถูกสร้างที่ไขกระดูก
เลยไม่จำเป็นต้องมีนิวเคลียสมาแบ่งเซลล์
เมื่อต้องการ space เพิ่มขึ้น
ก็เลยเอานิวเคลียสที่ไม่ได้ใช้ออกไป
เลยกลายเป็นแอ่งแบบนั้น
และการเว้าเป็นแอ่งลงไป ก็ยังช่วยให้รับออกซิเจนได้มากขึ้นนั่นเอง
และนี่แหละครับ คำตอบของคำถามที่ว่า...
ทำไมเม็ดเลือดแดงถึงมีแอ่งอยู่ตรงกลาง?
ขอบคุณที่อ่านกันจนจบนะครับ😆
#WDYMean
ถ้าชอบหรือถูกใจก็ฝาก
#กดไลค์ 👍
#กดติดตาม✋
เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับบ😆
#อ้างอิงจาก
#รูปภาพประกอบจาก pixabay
โฆษณา