5 ก.ย. 2019 เวลา 08:31
ตามล่า! หาบัตรประชาชน ตอนจบ
พบกับบทสรุปของความพยายามในการทำบัตรประชาชน เพื่อเก็บกู้ชีวิตของชายผู้โชคร้าย
เมื่อไปถึงที่ว่าการเขต ผมก็พาผู้ป่วยลงจากแท็กซี่ นั่งรถเข็นไปติดต่อทำบัตรประชาชนให้ผู้ป่วย
เจ้าหน้าที่ทั้งหลายจ้องมองมาแบบแปลก ๆ รู้แต่ว่าไม่ใช่สายตาที่มองด้วยความชื่นชมแน่ ๆ
1
มีคำถามมาบ้างว่า ทำไมหมอต้องทำถึงขนาดนี้ รวมไปถึงคำขู่ว่า เกิดคนนี้ไม่ใช่คนไทยจริงแล้วมาสวมสิทธิ์ หมอจะซวยเอานา
1
ผมก็ทำหูทวนลม ยื่นสูติบัตรที่บิดาผู้ป่วยอุตส่าห์คัดลอกจากอีสานมาให้ กับ เอกสารยืนยันตัวตนว่าผู้ป่วยเป็นคนไทยจริง ที่ผมเขียนขึ้นมาเอง มีอาจารย์กับตัวผมเป็นผู้เซ็นต์รับรอง
1
ผมพยุงผู้ป่วยไปถ่ายรูป ไม่นานนัก บัตรประชาชนของผู้ป่วยที่เฝ้ารอก็เสร็จสมบูรณ์
1
บัตรประชาชนธรรมดาใบหนึ่งที่อยู่ในมือผมตอนนี้ มันดูระยิบระยับงดงามเป็นประกายอย่างไม่น่าเชื่อ
หลังจากเอาชื่อผู้ป่วยเข้าทะเบียนบ้านของหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยก็ได้สิทธิ 30 บาท ของโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
2
ผู้ป่วยก็อาการดีวันดีคืน จนในที่สุดก็ได้กลับบ้าน
เนื่องจากเป็นเคสที่ยากและซับซ้อน ผู้ที่จะนัดติดตามผู้ป่วย จึงไม่ใช่ผม แต่เป็นพี่หมอโรคติดเชื้อ ซึ่งก็ได้เขียนบันทึกข้อความให้ผู้ป่วยนำไปขอให้ทางโรงพยาบาลเอกชนตามสิทธินั้นส่งตัว (refer) ผู้ป่วยมาโรงเรียนแพทย์ที่ผมและพี่หมออยู่เพื่อการติดตามรักษาและเริ่มยาต้านไวรัส
3
เรื่องการทำบัตรประชาชนของผมตอนนั้นก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้แพทย์ทั้งหลายตื่นตัวเรื่องสิทธิการรักษาของผู้ป่วยมากขึ้น
2
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีรุ่นน้องที่สร้างวีรกรรม เรียกเจ้าหน้าที่จากเขตมาจดทะเบียนสมรสถึงเตียงผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหญิง สามารถใช้สิทธิเบิกได้ของของแฟนที่เป็นข้าราชการ ที่อยู่กินด้วยกันมานาน แต่ไม่ได้จดทะเบียน ทำให้สามารถใช้ยาบางตัวที่แพงมาก และสิทธิ 30 บาทในยุคนั้นยังไม่อนุญาตให้ใช้
1
ต่อมาผมก็ย้ายไปปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยอื่น หมุนเวียนไปตามเดือน บางช่วงก็ออกต่างจังหวัด ซึ่งผมก็ไม่ได้ยินข่าวคราวของผู้ป่วยรายนี้อีกเลย
จนกระทั่ง
1
....
....
1 ปีถัดมา ผมได้พบกับพี่หมอโรคติดเชื้อที่ติดตามผู้ป่วยรายนี้ เมื่อผมถามถึงผู้ป่วยรายนี้ พี่เขาก็บอกว่า...
"ตายไปแล้ว"
2
ระหว่างที่ผมยังงุนงงอยู่ พี่เขาก็ระบายความคับแค้นออกมายาวเหยียดแต่จับใจความได้ว่า
1
โรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ป่วยรายนี้ได้สิทธิ 30 บาทไป ไม่ยอมส่งตัวผู้ป่วยมา แต่ทำการรักษาเองโดยไม่มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ อาการผู้ป่วยก็ทรุดลงเรื่อย ๆ จนกู่ไม่กลับจึงยอมส่งตัวมาโรงพยาบาลเรา มาถึงได้ไม่นานผู้ป่วยก็เสียชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย
1
ทำไมทางโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่ส่งตัวผู้ป่วยตามที่เราขอ นั่นก็เพราะ สิทธิ 30 บาท ที่เป็นความหวังของผู้ป่วย กลับกลายเป็นสิ่งที่ย้อนมาสังหารตัวเขาเอง
สิทธิ 30 บาท ในยุคนั้น​มันถูกออกแบบมาให้เจ๊งแต่แรก​ (ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว)​ เนื่องด้วยงบประมาณให้มาเป็นรายหัวต่อจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ ยุคนั้นน่าจะประมาณ 1,000 กว่าบาทต่อคนต่อปี ซึ่งทุกคนในวงการพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีทางพอ
กำไรแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะรายได้ต่ำคงที่ มีแต่จะทำยังไงให้ขาดทุนน้อยที่สุด ทางเดียวที่ทำได้ คือลดค่าใช้จ่ายลง นั่นหมายถึงค่ายา ค่าตรวจ ค่าบริการต่าง ๆ จะต้องถูกตัดออกให้มากที่สุด
3
จริง ๆ แล้วยังมีการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลตามกลุ่มโรค (DRG: Diagnosis-Related Group) ด้วย แต่ตัวเงินที่เบิกคืนได้ก็ไม่เคยพอกับค่าใช้จ่ายจริง
ถ้าจัดว่านี่เป็นโมเดลทางธุรกิจคงเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันเจริญ เพราะยิ่งคุณมีลูกค้า (ผู้ป่วย) เยอะ ก็ยิ่งขาดทุน ยิ่งคุณทำงานหนัก บริการดี รวดเร็ว มีชื่อเสียง ฝีมือดี ก็ยิ่งมีลูกค้ามาหาเยอะ ก็ยิ่งเจ๊งหนักขึ้น​
1
ผมเคยอยู่เวรห้องฉุกเฉินทำงานจนถึงตี 3 คนไข้หมดแล้ว จึงได้ไปงีบในห้องพักแพทย์เวร นับเป็นโชคดีมาก (เราถือคติว่า ได้นอนคือกำไร ไม่ได้นอนเลยคือเท่าทุน)
2
ตี 4 ก็มีโทรศัพท์จากพยาบาลเรียกให้มาดูคนไข้ที่มาห้องฉุกเฉิน ผมก็งัวเงียออกมาสอบถามได้ความว่า เช้านี้มาวิ่งจ็อกกิ้ง รู้สึกเมื่อยน่องหน่อย ๆ ก็เลยมาขอยานวด (ฟรี) ประหนึ่งว่าห้องฉุกเฉินเป็น 7-11
1
เขาคงไม่ได้รู้ว่าหมอเมืองไทยเวลาอยู่เวร ถึงไม่ได้นอนเลยวันถัดไปก็ยังต้องไปทำงานเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตามนโยบาย ห้ามลา ห้ามป่วย ห้ามตาย
เนื่องจากค่ารักษาแทบจะเรียกได้ว่าฟรี คนไข้เป็นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ แทนที่จะไปซื้อยาตามร้านขายยาหรือคลินิกตามเดิม ก็แห่กันมาเอายาฟรีจากโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิไปตุนที่บ้านจนยาเน่า ทำให้ทุกโรงพยาบาลมีคนไข้ล้น และ ยิ่งขาดทุนหนัก
พวกโรงพยาบาลรัฐบาลก็ต้องยอมขาดทุนไปเรื่อย ๆ แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ยอมลดมาตรฐานการรักษาเพื่อความประหยัด ส่วนหนึ่งก็เพราะการขาดทุนไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน
แต่โรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่องค์กรการกุศล กำไรต้องมาก่อน
โรงพยาบาลเอกชนเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีกลุ่มลูกค้าเป็นคน (โคตร) รวย ก็จะถูกแย่งลูกค้าด้วยนโยบาย 30 บาท เพราะคนไข้ที่ฐานะไม่ได้รวยล้นฟ้าก็จะไปรักษาตามสิทธิเป็นส่วนใหญ่ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ต้องรับคนไข้ 30 บาทด้วยเพื่อความอยู่รอดด้วยเงินเหมาจ่ายจากรัฐบาล
1
เมื่อไหร่ที่เป็นคนไข้ 30 บาท แพทย์โรงพยาบาลเอกชนจะถูกกดดันให้ประหยัดมากกว่าโรงพยาบาลรัฐบาล เพราะถ้าขาดทุนมากเข้า โรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ โรงพยาบาลเหล่านี้ก็จะไม่ค่อยอยากตามไปจ่ายเงินให้กับผู้ป่วยที่ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่นซึ่งควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้
โรคเดียวกันค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของโรงพยาบาล ด้วยปัจจัยด้านบุคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ ฯลฯ
1
การส่งตัวไปโรงเรียนแพทย์จัดได้ว่าเป็นฝันร้ายของโรงพยาบาลเอกชนเล็ก ๆ ที่ต้องตามมาจ่ายเงิน เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก อาจารย์แพทย์บางคนอาจจัดเต็ม ให้ยาที่ดีสุด แพงสุด หลักแสน หลักล้าน กันเลยทีเดียว
1
จึงไม่แปลกนักที่ผู้ป่วยของผมจะขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลเอกชนที่รับเขาในฐานะคนไข้ 30 บาทไม่สำเร็จ แพทย์ที่นั่นอาจจะคิดจริง ๆ ว่าตัวเองพอดูไหว จึงไม่อยากส่งตัว เพราะรู้ว่าค่าใช้จ่ายจะบานปลายแน่ ๆ
1
ด้วยที่ในยุคนั้น นโยบาย 30 บาทพึ่งโผล่มาได้ไม่นาน เรายังไม่ค่อยเข้าใจผลกระทบในแง่ต่าง ๆ แต่บทเรียนจากผู้ป่วยรายนี้ ทำให้เราต้องรัดกุมยิ่งขึ้นในการส่งตัวไปรักษาต่อหรือให้ไปขอใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ซับซ้อนรักษายาก เราต้องสืบหาและติดต่อแพทย์ที่เรารู้จักในโรงพยาบาลนั้น ๆ ไม่ว่าจะเพื่อน รุ่นพี่ ศิษย์ รุ่นน้องหรืออาจารย์ ที่เราไว้ใจได้ ถึงจะส่งผู้ป่วยไปหา
3
อันที่จริงตอนที่ผมเอาบัตรประชาชนที่ผมต้องทุ่มเทกว่าจะได้มาให้ผู้ป่วยรายนี้ ผมก็นึกว่าเขาจะดีใจ แต่เขากลับมีสีหน้าเฉยเมยมาก ไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร ไม่ได้ขอบคุณผมด้วยซ้ำ
บางทีเขาอาจจะไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ ไม่เข้าใจว่าบัตรประชาชนจะช่วยอะไรเขาได้ และเขาก็ไม่เคยเห็นตอนที่ผมพยายามติดต่อหาทางทำบัตรให้เขาต่อเนื่องกันมาเกือบเดือน
คงไม่ต่างอะไรกับที่ผู้ป่วยไม่ทราบว่า แพทย์ต้องลำบากเขียนใบฏีกายาว ๆ ขออนุมัติใช้ยาแพง ๆ นอกสิทธิการรักษาจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือต้องไปตามล่าลายเซ็นต์อาจารย์เพื่อขออนุมัติการใช้ยาที่ถูกควบคุมให้กับผู้ป่วย
1
ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่า เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่คิวในโรงพยาบาลรัฐยาวเหยียด นัดทำได้ปีหน้า อยู่ดี ๆ ก็ได้ทำเลยพรุ่งนี้ เพราะแพทย์เจ้าของไข้ไปคุยกับแพทย์รังสีโดยตรงถึงความเร่งด่วน และแพทย์รังสีก็ยอมเหนื่อยแทรกคิวทำเพิ่มให้
"งานหลังฉาก" เหล่านี้ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครชื่นชม
6
คุณไม่จำเป็นต้องทำงานหลังฉากพวกนี้ และถึงคุณจะไม่ทำก็อาจไม่มีใครรู้เช่นกัน
ตอนนี้ผมเป็นอาจารย์แล้ว ลูกศิษย์มาเล่าให้ฟังว่า เคยท้อแท้กับงานหลังฉากพวกนี้ ที่ต้องไปช่วยผู้ป่วยทำเรื่องสิทธิ ติดต่อขอประวัติ ขอผลตรวจจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ขอชิ้นเนื้อ บุกไปห้องปฏิบัติการเพื่อเร่งผลตรวจ หรืองานอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้ป่วย งานพวกนี้ค่อนข้างน่าหงุดหงิด กินแรงกายแรงใจมาก และจริง ๆ แล้วไม่ใช่หน้าที่ของหมอด้วยซ้ำ
2
แต่ลูกศิษย์อีกคนที่เป็นรุ่นพี่ ก็ให้แง่คิดแก่รุ่นน้องคนนั้นว่า ขนาดเราเป็นหมอรู้ระบบต่าง ๆ เป็นอย่างดี ใคร ๆ ก็เกรงใจ ยังลำบากขนาดนี้ ถ้าให้คนไข้หรือญาติที่ไม่รู้อะไรเลยไปทำเองโดยเราไม่ช่วยจะลำบากขนาดไหน
6
เราเสียเวลาไปหนึ่งชั่วโมงอาจช่วยประหยัดเวลาให้คนไข้ได้หลายเดือน หรือแม้แต่ช่วยต่อชีวิตให้เขาได้อีกหลายปีก็เป็นได้
3
หากคุณหยุดสังเกต คุณอาจจะพบว่ามีงานหลังฉากเหล่านี้ซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวันของคุณ มีคนที่ยอมลำบากเพื่อให้ความช่วยเหลือคุณโดยไม่ได้บอกหรือแสดงให้คุณรับรู้
ในชีวิตเรา พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเรามาคงเป็นคนที่ทำงานหลังฉากให้เรามากที่สุด ตั้งแต่ก่อนเราจะจำความได้ จนถึงเราโต จัดเตรียมบ้านให้เราอยู่ หาเงินให้เราใช้ หาโรงเรียน อาหาร เสื้อผ้า
4
เล่นกับเราตอนเด็ก ๆ เหมือนพวกท่านไม่มีภาระอะไร แต่พอกล่อมเรานอนเสร็จ ก็แอบย่องไปทำงานบ้าน หรือหารายได้อย่างอื่นต่อในระหว่างที่เราหลับไม่รู้เรื่อง
ชีวิตเราทุกคนก็เติบโตมาได้ด้วยงานหลังฉากเหล่านี้ นอกจากพ่อแม่แล้ว พี่น้อง ครู อาจารย์ เพื่อน แฟน ผู้ร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง เจ้าหน้าที่บางคนของทางราชการหรือบริษัทที่เราไปติดต่อ ก็น่าจะเคยทำงานหลังฉากให้คุณมาบ้างไม่มากก็น้อย
แล้วคุณล่ะได้ทำ "งานหลังฉาก" เพื่อใครบ้างหรือยัง?
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา