5 ก.ย. 2019 เวลา 06:51 • ธุรกิจ
เกิดอะไรขึ้นที่โรงแรมพลาซ่า กรุงนิวยอร์ก ในปี ค.ศ.1985 ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นเกิดปัญหาครั้งใหญ่มาจนกระทั่งทุกวันนี้?
เครดิตคุณ Keisuke Honda, Pantip.com
ในปี ค.ศ.1985 ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าและดุลการชำระเงินกับประเทศคู่ค้าเกือบทั้งโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบด้านการค้ากับประเทศญี่ปุ่นมาก สินค้าญี่ปุ่นขายดีมากในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา แต่สินค้าของสหรัฐอเมริกาไม่เป็นที่นิยมและขายในตลาดญี่ปุ่นไม่ได้
ญี่ปุ่นส่งออกอันดับสองของโลกในตอนนั้น
สหรัฐอเมริกาจึงจัดประชุมประเทศ G5 คือ ประเทศที่แข็งแรงทางเศรษฐกิจที่มี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ที่โรงแรมพลาซ่า กรุงนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1985 เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินครั้งแรกของโลก โดยสหรัฐอเมริกาบังคับให้ญี่ปุ่นต้องแข็งค่าเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน 250 เยน ต่อ 1 USD ให้แข็งขึ้นเป็น 150 เยน ต่อ 1 USD เท่ากับแข็งค่าขึ้นเกือบ 70 เปอร์เซนต์ ภายในเวลาเพียง 10 เดือน ปรากฏการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกว่า "พลาซ่า แอคคอร์ด" (Plaza Accord)
จนถึงทุกวันนี้ ค่าเงินที่แข็งขึ้นทำให้ราคาสินค้าญี่ปุ่นในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นทันทีทันใด 70 เปอร์เซนต์ ผลกระทบด้านลบยังไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด เพราะสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่นขณะนั้นมีคุณภาพที่โดดเด่นมาก แม้ราคาจะสูงขึ้นผู้ซื้อก็ยังจำเป็นต้องซื้อ เพราะยังหาสินค้าที่ผลิตขึ้นจากประเทศอื่นที่มีคุณภาพอย่างเดียวกันมาทดแทนไม่ได้ แต่ผลกระทบด้านบวกเกิดขึ้นกับคนญี่ปุ่นเกิดขึ้นทันทีทันใด คือ ชาวญี่ปุ่นรวยขึ้นทันที 70 เปอร์เซนต์
1
เศรษฐีชาวญี่ปุ่นสมมุติว่ามีเงิน เมื่อคำนวณมูลค่าเป็นเงิน USD (เหรียญอเมริกัน) จะเพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซนต์ คือ รวยขึ้น 70 เปอร์เซนต์ และคนญี่ปุ่นจะใช้เงินซื้อสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่นได้ในราคาถูกกว่าเดิม 70 เปอร์เซนต์ หรือคนญี่ปุ่นไปท่องเที่ยวต่างประเทศจะพักโรงแรม ซื้อข้าวของได้ถูกลง 70 เปอร์เซนต์ เพราะค่าเงินแข็งขึ้น เพราะฉะนั้น คนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นติดใจในการทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 – 1990 ค่าเงินญี่ปุ่นจึงแข็งขึ้นทุกปี จนกระทั่ง 1 USD เท่ากับ 75 เยน ซึ่งหมายถึง แข็งค่าจาก 250 เยนต่อ 1 USD มาเป็น 75 เยนต่อ 1 USD คือ แข็งค่าขึ้นประมาณ 300 เปอร์เซนต์
คนญี่ปุ่นหลงมีความสุขกับค่าเงินที่แข็งขึ้นทั้งประเทศ เศรษฐีญี่ปุ่นกลายเป็นเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ธนาคารญี่ปุ่นก็กลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะทรัพย์สินมีราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่า บริษัทของคนญี่ปุ่นมีเงินไปซื้อตึกเอ็มไพร์สเตทในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตึกสูงที่สุดในโลกขณะนั้น บริษัท โซนี่ ไปซื้อกิจการสร้างภาพยนตร์ใน Hollywood เปลี่ยนชื่อเป็น Sony Entertainment มาจนถึงทุกวันนี้
มหาเศรษฐีญี่ปุ่นรวยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปซื้อปราสาทราชวังเก่าๆ ในยุโรป รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ ร่าเริงสดใสมีความสุขมาก (เหมือนประเทศไทยก่อนปี พ.ศ.2540 ไม่มีผิด) พอ 10 ปีผ่านไป ปี ค.ศ.1995 เป็นต้นมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ทรุดตัว สินค้าทุกอย่างที่ผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่นขายในตลาดโลกไม่ได้ สินค้าทุกอย่างที่ผลิตขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมีราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่สูงมาก นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นลดลงมาก โรงงานผลิตสินค้าต้องย้ายฐานการผลิตไปผลิตที่ประเทศอื่น ใช้แรงงานประเทศอื่นผลิตสินค้าจึงจะสามารถแข่งขันได้ แรงงานในประเทศญี่ปุ่นเริ่มจะตกงาน บริษัทญี่ปุ่นระดับโลกไม่ว่าจะเป็นบริษัทโตโยต้า มาสด้า อีซูซุ โซนี่ พานาโซนิค หลายบริษัทต้องปลดคนงานญี่ปุ่นลง 1 ใน 3 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นที่มีปรัชญาการจ้างแรงงานตลอดชีวิต
บริษัทภาคการผลิตจริง (Real Sector) ใหญ่น้อยในประเทศญี่ปุ่นเริ่มขาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจผลิตสินค้าภายในประเทศ และส่งออกขาดทุนหมด ธนาคารญี่ปุ่นไม่สามารถปล่อยกู้กับธุรกิจส่งออก และธุรกิจผลิตสินค้าขายให้คนญี่ปุ่นกินและใช้ในประเทศได้ ธนาคารญี่ปุ่นหันมาปล่อยกู้กับธุรกิจเก็งกำไร (Speculation) อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และธุรกิจเก็งกำไรในตลาดหุ้น
คนญี่ปุ่นและบริษัทธุรกิจหันมาเล่นหุ้นลงทุนทำธุรกิจเก็งกำไรที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ บ้านในชนบท คอนโด ตึกสูงในเมืองได้กำไรดีกว่าเร็วกว่าจนขยายตัวราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาบ้าน ราคาที่ดิน และราคาหุ้นในตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นมาก เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วประเทศ และแล้วฟองสบู่ญี่ปุ่นก็แตกเหมือนประเทศอื่นๆ ราคาหุ้น ราคาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ตกอย่างรุนแรง
เศรษฐกิจ ธุรกิจญี่ปุ่นขาดทุนล้มละลาย ซบเซาและถดถอยเป็นเวลายาวนานมากติดต่อกันถึง 20 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 – 2010 ที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักกันในนาม “The Lost 2 Decades” หรือ “2 ทศวรรษที่หายไป” ของญี่ปุ่น
ระหว่างปี ค.ศ.1995 – 2007 12 ปีแห่งความย่ำแย่ GDP ของญี่ปุ่นได้ลดลงอย่างมหาศาลจาก 5.33 ล้านล้าน USD เหลือแค่ 4.36 ล้านล้าน USD เท่ากับลดลง 18.2 เปอร์เซนต์ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศลดลง เกิดภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจถอดถอยเรื้อรังมาเป็นเวลานานติดต่อกันถึง 20 ปี
เมื่อประชาชนญี่ปุ่นมีรายได้ลดลง การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้บริษัทต่างๆ มียอดขายลดลง จำเป็นต้องไล่พนักงานออกและปรับราคาสินค้าลง โซนี่และโตโยต้าลดพนักงานประจำลง 1 ใน 3 หันมาจ้างพนักงาน Part Time แทน เมื่อประชาชนญี่ปุ่นคาดว่าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มจะลดลง ถูกลงในอนาคต ประชากรญี่ปุ่นขาดความมั่นใจในชีวิตอนาคตเลือกที่จะเก็บออมมากขึ้นแทนการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นนับวันยิ่งถดถอย
ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 – 2013 ญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกี่คน ใช้นโยบายการเงินการคลังหลายรูปแบบก็ยังไม่สามารถแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้
ที่มา: เทปรายการสภากาแฟ เวทีชาวบ้าน การฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกสอนอะไรเรา ช่วงที่2-2 20-11-2015
มาจนถึงปัจจุบัน จีน ก้าวขึ้นมาเทียบรัศมีสหรัฐฯ (ปัจจุบัน จีนส่งออกแซงสหรัฐฯ ไปเรียบร้อย) ไม่แปลกใจที่สหรัฐฯ จะอยู่นิ่งไม่ได้
จีนส่งออกแซงสหรัฐฯ
จริงๆ แล้ว สหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนเลิกการแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อน ตั้งแต่ยุครัฐบาลโอบาม่า แต่ไม่เป็นผล มาถึงยุคทรัมป์ ต้องเล่นยาแรง ขึ้นภาษีมันซะเลย แต่นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันหลายท่าน วิเคราะห์ว่าขึ้นภาษีไปก็ไม่เป็นผล ยังไงสหรัฐฯก็ขาดดุลการค้าอยู่ดี ไม่ซื้อของจากจีนก็ต้องซื้อจากประเทศอื่นอยู่ดี
ตอนต่อไป ผลของ Plaza Accord ต่อประเทศอื่นๆ ในโลกนี้
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ
ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า" ได้หลายช่องทาง
✌️Blockdit (อ่านสนุกกว่า): https://www.blockdit.com/pages/5cf403f48a04c80fff7950bb
👌Line openchat (พูดคุยแลกเปลี่ยน ระหว่างผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก): https://line.me/ti/g2/hxcbVyO45-1yxNkh-vKf1g

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา