8 ก.ย. 2019 เวลา 00:00 • การศึกษา
ความลับการบินได้นานๆของ"นก"
3
เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมนกบนฟ้าถึงบินได้นานขนาดนั้น?
ทำไมหน่ะหรอ ก็การจะบินขึ้น การจะกระพือปีกแต่ละครั้ง ใช้พลังงานมหาศาล แล้วนกตัวน้อยๆไปเอาพลังงานนั้นๆมาจากไหนกัน?
ยิ่งบินนานๆนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย อาหารที่นกกินก็ไม่ได้มีพลังงานสูงอะไรมากมาย ไม่น่าจะให้พลังงานพอ และนกก็ไม่น่าจะบินได้นาน
แต่ทุกวันนี้นกบินบนท้องฟ้าได้นานตราบเท่าที่มันต้องการเลย แสดงว่า..
ถ้าไม่ใช่อาหารที่เป็นพระเอกของเรื่องนี้ ก็ต้องมีกลไกอะไรสักอย่างที่ทำให้นกใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แล้วกลไกที่ว่านั้นคืออะไร?
สาเหตุที่ทำให้นกบินได้นานคืออะไร?
นกไปเอาพลังงานมาจากไหน?
เนื่องจากว่าประเด็นหลักตอนนี้เกี่ยวกับเรื่องเม็ดเลือดแดง ผมเลยจะขอข้ามเรื่องของปอดและระบบหายใจนะครับ(เนื้อหายาวมากก)
ถ้าพร้อมจะไปกันแล้วละก็...
ลุยกันเลยครับ
ในตอนที่แล้วผมเล่าถึงเรื่องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกับเม็ดเลือดแดง เหตุผลที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีพลังงานใช้ และเม็ดเลือดแดงบุ๋มตรงกลางทั้งสองด้าน
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสร้างพลังงานได้เอง แต่สร้างไม่พักทำให้สิ้นเปลืองพลังงานเกินไป
เดือดร้อนถึงเม็ดเลือดแดงที่ขนออกซิเจนไปสร้างพลังงาน ต้องทำยังไงก็ได้ให้ขนได้เยอะขึ้น เลยต้องควักนิวเคลียสออก เพื่อเพิ่มพื้นที่รับออกซิเจน
หน้าตาเม็ดเลือดแดงก็เลยออกมาเป็นบุ๋มๆสองข้างนั่นแหละครับ
ถามว่าทำไมต้องย้อนถึงตอนที่แล้ว เพราะเรื่องของนกในตอนนี้มีเรื่องแปลกๆอยู่นิดหน่อย
เรารู้แล้วว่าร่างกายของนกจะบินนานๆ กระพือปีกบ่อยๆได้ มันต้องใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ
นั่นแสดงว่ารถขนออกซิเจนของนก(เม็ดเลือดแดง) ก็ต้องขนออกซิเจนให้ได้เยอะๆ จะได้เอาไปสร้างพลังงานในการบินได้ทัน
แล้วการที่จะขนเยอะๆได้ นกก็ต้องเอานิวเคลียสที่อยู่ตรงกลางเม็ดเลือดแดงออกไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ขนออกซิเจน..
แสดงว่านกก็จะไม่มีนิวเคลียสในเม็ดเลือดแดงถูกไหมครับ?
ตามจริงมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่กับนกทั้งหลายที่เราเห็นกัน มันไม่เป็นอย่างนั้นหน่ะสิ
เพราะเม็ดเลือดแดงของนกนั้นมี"นิวเคลียส"อยู่ภายในด้วย ในเมื่อนกต้องการใช้พลังงานในการบินมหาศาล คำถามที่จะตามมาก็คือ
ทำไมไม่เอานิวเคลียสออกไป?
มันจะมีที่ว่างขนออกซิเจนพอหรอ?
นิวเคลียสไม่กินพื้นที่หรอ?
อันนี้แหละครับ คำถามจริงๆของเรื่องนี้...
การที่นิวเคลียสยังอยู่ได้ แสดงว่ามันต้องทำประโยชน์อะไรสักอย่างให้กับร่างกายของนก ไม่งั้นคงถูกกระบวนการวิวัฒนาการคัดออกไปแล้ว
ส่วนใหญ่แล้วในเซลล์ทุกเซลล์ถ้ามีนิวเคลียส ก็จะมาคู่กับโรงงานที่ใช้สร้างพลังงาน(ไมโทคอนเดรีย) ผมขอเรียกสั้นๆว่าโรงงานละกัน
เจ้าโรงงานกับนิวเคลียสผูกพันกันมากๆ ส่วนนึงของแต่ละคน(อัน)อยู่ในตัวซึ่งกันและกัน เหมือน ปตท.กับ แอมะซอน แยกจากกันไม่ได้
แล้วเจ้าโรงงานนี้นี่แหละที่อยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อในการบิน ในการกระพือปีก หรือในส่วนต่างๆของร่างกายทั้งหมด
การที่นกจะบินได้ก็เพราะโรงงานในส่วนต่างๆเหล่านี้ รับออกซิเจนเข้าไปสร้างพลังงาน พอได้พลังงาน ปีกก็ขยับได้ พอปีกขยับได้ ก็บินได้
จริงๆเจ้าโรงงานสร้างพลังงานนี้ควรจะเจอในเซลล์กล้ามเนื้อในปีก หรือส่วนอื่นๆของร่างกาย แต่ไม่น่าจะมาเจอในเม็ดเลือดแดง
สรุปก็คือเม็ดเลือดแดงของนกมีนิวเคลียส พอมีนิวเคลียสก็เลยมีโรงงาน(ไมโทคอนเดรีย)
คำถามสุดท้ายละครับก็คือ เจ้า"โรงงาน"พลังงานที่อยู่ในเม็ดเลือดแดงนี้ มีไว้เพื่ออะไร?
คำตอบก็คือ เพราะ"การบิน"ใช้พลังงานเยอะมาก มากเกินกว่าที่โรงงานในเซลล์กล้ามเนื้อในปีกจะสร้างได้ทัน
ผลก็คือ เม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวรับออกซิเจนที่จะเอาไปให้โรงงาน ไม่สามารถมีวิวัฒนาการแบบควักนิวเคลียสออก อย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้
เพราะถ้าทำแบบนั้น พลังงานที่สร้างได้จะไม่พอ แล้วถ้าพลังงานไม่พอ หายนะจะเกิดขึ้นกับการบินทันที อาจจะหมดแรงแล้วร่วงลงมาโดยไม่รู้ตัว
มีข้อดีที่ได้พลังงานมาก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย ผลจากการทำงานอย่างหนักในเม็ดเลือดแดง ทำให้อายุการใช้งานสั้นลงมากๆ อยู่ที่ 20 ถึง 45 วัน แต่เม็ดเลือดแดงของเราๆที่กำลังอ่านกันอยู่ อยู่ที่ 100 ถึง 120 วัน
สรุปเรื่องราวทั้งหมดก็คือ นกต้องการพลังงานในการบินอย่างมาก กลไกนึงที่ทำให้นกมีพลังงานใช้ก็คือ เก็บนิวเคลียสเอาไว้ เพราะถ้ามีนิวเคลียส ก็จะมีโรงงานคอยช่วยสร้างพลังงาน ช่วยให้มันยังบินได้ต่อไปได้นานๆ
งั้นคำถามที่ว่า นกไปเอาพลังงานจากไหนมาใช้ในการบิน คำตอบคือ ส่วนนึงมาจาก"เม็ดเลือดแดง"นั่นเอง
ขอบคุณทุกคนที่อ่านกันจนจบนะครับ😆
#WDYMean
***ตอนต่อไป***
ในตอนหน้าผมจะพาไปดูสัตว์ชนิดนึงซึ่งก็คือ"อูฐ"ครับ
เราทุกคนรู้ดีว่า ถ้าพูดถึงสัตว์ที่เก็บน้ำไว้ในร่างกายได้ดีต้องเป็นอูฐ
แต่..ทำไมกันหล่ะ ทำไมต้องเป็นอูฐ?
ทำไมอูฐถึงเก็บน้ำเอาไว้ใช้ได้ในยามขาดแคลน?
มีความลับอะไรซ่อนอยู่เรื่องนี้?
คำใบ้ก็ยังคงเกี่ยวกับเรื่องของเลือดครับ แต่เลือดของอูฐมาเกี่ยวอะไร...
...ตอนหน้ามีคำตอบครับ...
ถ้าชอบหรือถูกใจก็ฝาก
#กดไลค์ 👍
#กดติดตาม✋
เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับบ😆
#อ้างอิงจาก
Wikipedia : Bird
metabolism of the avian erythrocyte
#รูปภาพประกอบจาก pixabay
โฆษณา