7 ก.ย. 2019 เวลา 16:00 • ปรัชญา
ซีรีส์แสงธรรม
ตอน 'ปลิโพธ (เครื่องห่วงกังวล) ๑๐
'การตัดปลิโพธ'
ที่มาภาพ: 84000.org
■■■■■■■■■■
สำนวนที่ ๑
■■■■■■■■■■
วันพฤหัสบดี ที่ 14 เมษายน 2554
หลักปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ ๑๓
ปลิโพธ (เครื่องกังวล) เหตุขัดขวางการปฏิบัติ
Posted by Ananda
💎 วิธีปฏิบัติ ๒ อย่าง 💎
จะเห็นว่าการที่จะบรรลุมรรคผลได้นั้นเมื่อรวมกันแล้วก็มี ๒ วิธี คือ สมถะและวิปัสสนา หรือบางทีเรียกว่า สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ส่วนวิธีที่ ๓ และ ๔ เป็นเพียงวิธีปฏิบัติที่แทรกเข้ามาในระหว่างเท่านั้น จึงจะขอกล่าวเฉพาะรายละเอียดของ ๒ วิธีข้างต้นเท่านั้น
สมถะ แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต ธรรมยังจิตให้สงบระงับจากนิวรณูปกิเลส การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “อุบายสงบใจ” กรรมฐาน แปลว่า ฐานเป็นที่ตั้งแห่งการงาน สมถกรรมฐานหมายถึงความสงบเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางจิต
ในการลงมือเจริญสมถกรรมฐานนั้น จะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติทั้งส่วนของความรู้ทางปริยัติเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป และการเตรียมตัวอื่น ๆ อีก ดังนี้
🌀 ขั้นการเตรียมตัว 🌀
เมื่อได้ศึกษาหลักธรรมมาเป็นอย่างดีแล้ว เมื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง การเตรียมตัวขั้นต่อไปจะต้องตัดความกังวล (ปลิโพธ) ในเรื่องต่าง ๆ ให้หมดเสียก่อน เพราะความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ที่เรามีอยู่น้นจะเป็นเหตุขัดขวางต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
๓.๑ ปลิโพธ
🌀 ปลิโพธ
แปลว่า เครื่องผูกพัน หรือหน่วงเหนี่ยว ซึ่งเป็นเหตุให้หวงกังวล ฉะนั้นจึงต้องตัดปลิโพธซึ่งเป็นความกังวลในเรื่องต่าง ๆ ให้หมดสิ้นก่อนลงมือปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องขัดขวางการปฏิบัติ ทำให้เกิดความล่าช้า หรืออาจทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ปลิโพธที่ท่านกล่าวไว้มี ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเรื่องที่อยู่
๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเรื่องตระกูล
๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเรื่องลาภสักการะ
๔. คณปลิโพธ ความกังวลเรื่องหมู่คณะ
๕. กัมมปลิโพธ ความกังวลเรื่องการงาน
๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเรื่องการเดินทาง
๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเรื่องญาติ
๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเรื่องความเจ็บป่วย
๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเรื่องการศึกษาเล่าเรียน
๑๐. อิทธปลิโพธ ความกังวลเรื่องการแสดงฤทธิ์
๑.
อาวาสปลิโพธ
ความกังวลเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น หมายถึง ความหวงกังวลสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่ตัวสะสมไว้ การงานที่คั่งค้างอยู่ หรือความสะดวกสบายที่ตนได้รับจากการอยู่ในอาวาสนั้น เหล่านี้เรียก อาวาสปลิโพธ แต่ถ้าใครสามารถตัดความยินดีในเรื่องนั้น ๆ เสียแล้วไม่ว่าจะเป็นการงาน สิ่งของหรือความสะดวกสบายอย่างไร ก็ไม่จัดว่าเป็นอาวาสปลิโพธ
๒.
กุลปลิโพธ
ความกังวลเรื่องตระกูล หมายถึง ความห่วงกังวลตระกูลญาติหรือตระกูลอุปฐากที่ตนเองชอบคลุกคลีด้วย เพราะความห่วงใยในความทุกข์สุขของตระกูลนั้นทำให้ไม่สามารถไปไหนได้ แม้แต่การจากไปเพื่อหาที่อันสงบวิเวกปฏิบัติธรรมก็ไม่อาจทำได้ นี้เรียกว่า กุลปลิโพธ
๓.
ลาภปลิโพธ
ความกังวลเรื่องลาภสักการะ หมายถึง ความห่วงกังวลถึงปัจจัย ๔ ที่ตนเคยได้รับเมื่ออยู่ในอาวาสนั้น เช่น มีกิจนิมนต์มาก มีญาติโยมมาถวายภัตตาหาร ถวายสังฆทาน และปัจจัย ๔ อื่นๆ เป็นประจำและจำนวนมาก จนเกิดความเสียดายไม่อยากจากไปไหน เพราะกลัวจะสูญเสียลาภเหล่านั้น นี่เรียกว่า ลาภปลิโพธ
๔.
คณปลิโพธ
ความกังวลเรื่องหมู่คณะ หมายถึง ความห่วงหมู่คณะเพื่อนฝูงที่รู้จักมักคุ้น หรือความห่วงกังวลในการสอนหนังสือ หรือการแสดงธรรม การอบรมสั่งสอนหมู่คณะต่างๆ ที่ตนต้องรับผิดชอบอยู่ จนไม่อาจตัดใจละทิ้งหมู่คณะเหล่านั้นไปได้ นี่เรียกว่า คณปลิโพธ
๕.
กัมมปลิโพธ
ความกังวลเรื่องการงาน หมายถึง ความห่วงกังวลในเรื่องงานที่ตนทำอยู่ เช่น การซ่อม การก่อสร้าง การดูแล การบูรณะ การปรับปรุงอารามที่ตนอยู่ หรือที่ต้องต้องรับผิดชอบ ความรับผิดชอบต้องคอยกำกับดูแลหรือลงมือทำงานต่างๆ เหล่นั้น ทำให้ไม่มีเวลาในการปฏิบัติธรรม นี้เรียกว่า กัมมปลิโพธ
๖.
อัทธานปลิโพธ
ความกังวลเรื่องการเดินทาง หมายถึง มีความจำเป็นจะต้องเดินทางไปทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เดินทางไปแสดงธรรม เดินทางไปเป็นอุปัชฌาย์ เดินทางไปเข้าปริวาสตามที่ต่างๆ จนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม นี้เรียกว่า อัทธานปลิโพธ
๗.
ญาติปลิโพธ
ความกังวลเรื่องญาติในวัด ได้แก่ พระอุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ร่วมอาจารย์กัน ญาติในบ้าน เช่น โยมพ่อ โยมแม่ พี่น้อง ญาติเหล่านี้ที่เจ็บป่วย เป็นเหตุแห่งความกังวลของภิกษุ นี้เรียกว่า ญาติปลิโพธ
๘.
อาพาธปลิโพธ
ความกังวลเรื่องการเจ็บป่วย หมายถึง ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในตน ทำให้เกิดความกังวลในการรักษา หรือทุกข์เวทนาจากความเจ็บป่วย ทำให้เกิดอุปสรรคในการปฺฎิบัติธรรม นี้เรียกว่า อาพาธปลิโพธ วิธีแก้ไขคือการรักษาอาการเจ็บป่วยเสียก่อนจนมีสุขภาพดีแล้ว หรือถ้าไม่สามารถรักษาให้หายได้ ก็ควรทำใจโดยคิดว่าเป็นธรรมดาชีวิต เอาความเจ็บป่วยนั้นเป็นอุปกรณ์ในการพิจารณา ก็สามารถบรรลุธรรมได้เช่นกัน
๙.
คันถปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน หมายถึง ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ต้องเอาเวลาทั้งหมดมาดูหนังสือ ทำรายงาน ค้นคว้าตำรับตำราต่าง ๆ จนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ต้องกังวลอยู่กับการศึกษาเล่าเรียน นี้เรียกว่า คันถปลิโพธ แต่สำหรับบางคนการศึกษาเล่าเรียนมีได้เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติ กลับเกื้อกูลแก่การปฏิบัติอีกด้วย โดยเฉพาะการศึกษาปริยัติธรรม ทำให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าในหลักธรรมยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาญาณเห็นแจ้งในสัจจธรรมบรรลุมรรคผลนิพพานได้เช่นกัน ดังเรื่องพระจูฬภยเถระ เป็นต้น
๑๐.
อิทธิปลิโพธ
ความกังวลเรื่องการแสดงฤทธิ์ หมายถึง พระภิกษุที่ได้ฌานอภิญญาจนสามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่นดำดิน เหาะไปในอากาศ หูทิพย์ ตาทิพย์ เป็นต้น ต้องกังวลในการระวังรักษาฤทธิ์นั้นไม่ให้เสื่อม จนต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ จนไม่มีเวลาเจริญวิปัสสนา ความกังวลในการรักษาฤทธิ์ที่มีในตนมิให้เสื่อม นี้เรียกว่า อิทธปลิโพธ
🌀 ปลิโพธ เครื่องกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ บุคคลผู้ต้องการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจะต้องกำจัดให้หมดไปเสียก่อนเป็นเบื้องแรก เพราะมิฉะนั้นจะเป็นเครื่องขัดขวางการปฏิบัติธรรม ทำให้ไม่เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติ และในที่สุดก็ต้องเลิกล้มการปฏิบัติลงเสียกลางคัน เป็นการเสียเวลาเปล่าอย่างน่าเสียดาย
เมื่อตัดความกังวลห่วงใยในเรื่องต่างๆ ได้หมดสิ้นแล้ว เป็นอันว่าพร้อมแล้วในการเดินทางไปแสวงหาครูอาจารย์ที่จะเป็นผู้สอนกรรมฐานต่อไป
■■■■■■■■■■
สำนวนที่ ๒
■■■■■■■■■■
ปลิโพธ สำหรับฆราวาส
July 20, 2017
นิมฺมโลตอบโจทย์
ถาม : อยากได้ข้อแนะนำเรื่อง ปลิโพธ สำหรับฆราวาส ควรทำอย่างไรครับ ?
ตอบ : ปลิโพธ แปลว่า เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยว เป็นเหตุให้ใจติดข้อง เป็นห่วง กังวล
ปลิโพธ มี ๑๐ อย่าง คือ
๑.
อาวาสปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับที่อยู่ ว่าจะต้องซ่อมต้องสร้าง แต่ถ้าอยู่แบบใจไม่ผูกพันก็ไม่เป็นไร
๒.
กุลปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับตระกูล ถ้าเป็นพระก็หมายถึงตระกูลอุปัฏฐาก ถ้าเป็นฆราวาสก็หมายถึงคนในครอบครัว ก็ควรวางใจให้ได้
๓.
ลาภปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับลาภ มีคนเลื่อมใสมาก ก็มีคนเอาของมาให้มาก มัววุ่นจัดของ หรือกังวลว่าจะรักษาของเหล่านั้น จนไม่มีเวลาเจริญกรรมฐาน ก็ควรหาโอกาสปลีกวิเวกบ้าง
๔.
คณปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับหมู่คณะ มีบริวารมาก ต้องกังวลในความประพฤติ หรือยุ่งกับงานสอน ต้องคอยตอบคำถาม ก็ควรมีผู้แบ่งเบาภาระบ้าง ให้มีหน้าที่กันเป็นลำดับชั้น ฝึกรุ่นพี่ให้มีความสามารถในการดูแลรุ่นน้อง อย่างนี้เป็นต้น
๕.
กรรมปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่นงานก่อสร้าง ก็ควรทำให้เสร็จ หรือมอบหมายให้ผู้ที่มีความสามารถช่วยรับงานไป หรือวางใจได้ว่า “เสร็จเท่าที่ทำได้”
๖.
อัทธานปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกล เพราะมีธุระต้องไปทำ ก็ทำให้เสร็จ ให้หมดกังวล
๗.
ญาติปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับญาติ ข้อนี้เน้นในแง่เจ็บป่วย ก็ควรไปช่วยขวนขวายรักษา จนกว่าจะหมดห่วง
๘.
อาพาธปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง ก็ควรรักษาไปตามโอกาส ถ้าไม่หาย ก็ควรระลึกไว้ว่า กายป่วยได้แต่ใจจะไม่ป่วยด้วย
๙.
คันถปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน วุ่นวายอยู่กับการท่องจำหรือค้นคว้าตำรา แต่ถ้าเรียนแบบไม่วุ่นก็ไม่เป็นไร เพราะปริยัติที่จำเป็นเพื่อความพ้นทุกข์สำหรับแต่ละคนนั้นมีไม่มาก
๑๐.
อิทธิปลิโพธ
ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ ข้อนี้สำหรับผู้ที่มีฤทธิ์ ฤทธิ์ของปุถุชนเป็นของเสื่อมได้ ถ้ามัวแต่กังวลหรือยุ่งอยู่กับการรักษาฤทธิ์ ก็กลายเป็นปลิโพธ เจริญวิปัสสนาต่อไปไม่ได้
๙ ข้อแรก เป็นเครื่องกั้นต่อการเจริญสมถะเท่านั้น ไม่เป็นเครื่องกั้นต่อวิปัสสนา เพราะการทำสมถะ ต้องอาศัยสัปปายะต่าง ๆ หลายข้อ รวมทั้งต้องปลอดจากปลิโพธเหล่านี้ด้วย จิตจึงสงบ
ส่วนข้อสุดท้าย เป็นเครื่องกั้นต่อการเจริญวิปัสสนา ไม่เป็นเครื่องกั้นต่อสมถะ เพราะก่อนจะได้ฤทธิ์ ก็ต้องเจริญสมถะจนได้ฌานมาอย่างชำนาญแล้ว
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีฤทธิ์ ดูเหมือนว่าไม่มีฤทธิ์ให้ห่วง แต่ก็อาจจะห่วงในแง่ที่ว่า อยากจะมีฤทธิ์ก่อน ก็เลยไม่ได้เจริญวิปัสสนาเสียที
ปลิโพธเหล่านี้ มีได้ทั้งพระและฆราวาส ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังมีโลภะ ก็เป็นธรรมดาที่จะมีความติดข้องในสิ่งใดสิ่งหนึ่งบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง มีแล้วใจไม่ปลอดโปร่ง ทำให้ปฏิบัติก้าวหน้าต่อไปได้ยาก ก็เพียงทำความรู้จักมัน แล้วละไปเสีย และไม่ต้องกังวลว่า “เรามีปลิโพธ ทำอย่างไรดี? ” กลายเป็น 'กังวลเรื่องความกังวล'! แค่รู้ว่าจิตเมื่อกี้กังวล ก็ใช้ได้
๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๐
เพจ 'ธรรมะเน้นๆ A Great Degree Dhamma'
วันอาทิตย์ที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา