8 ก.ย. 2019 เวลา 05:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หลังจากทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเบื้องต้นของเทคนิค SET ไปในตอนที่ 1 แล้ว สำหรับตอนที่ 2 นี้จะมาพูดถึงการใช้งานจริงของเทคนิคนี้
การประยุกต์ใช้เทคนิค SET ระหว่างการ Taxi ได้รับการยอมรับและใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเนื่องจากประโยชน์ทางตรงในการลดอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้กับอากาศยาน และประโยชน์ทางอ้อม เช่น การลดต้นทุนในการซ่อมบำรุง การลดโอกาสในการเกิดอากาศยานอุบัติเหตุ การลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในการเป็นองค์กรที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการด้านการบินของอากาศยานพาณิชย์ในหลายประเทศมีการสนับสนุนให้ผู้ใช้งานอากาศยานประยุกต์ใช้เทคนิคนี้กับอากาศยาน
อาทิเช่น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand: CAAT) มีแผนดำเนินการเพื่อลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการบินของราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.2561 (Thailand’s Action Plan to Reduce Aviation Emission 2018) โดยกำหนดให้เทคนิค SET เป็นการปฏิบัติปกติที่สามารถดำเนินการได้ (Normal Procedure) ตลอดจนกำหนดนโยบาย One Engine Taxi-in Campaign เป็นวิธีการหนึ่งในการดำเนินการ
ภาพจาก https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/1591910/sustainability-key-to-air-asias-success
นอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ในภาคเอกชน บริษัทผู้ผลิตอากาศยาน และสายการบินชั้นนำของโลกได้นำเทคนิค SET ไปประยุกต์ใช้งาน
เช่น บริษัท Boeing Company ได้ให้ความสำคัญในการใช้เทคนิค SET โดยในปี ค.ศ.2002 ได้มีแนะนำในการใช้เทคนิค SET กับอากาศยานของ Boeing เนื่องจากในระหว่างที่อากาศยานทำการ Taxi จะมีอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่สูงในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอากาศยานแบบ Boeing 747 ที่มีอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในห้วงเวลาดังกล่าวประมาณ 100 lb/min หรือประมาณ 45.4 kg/min
ทางด้านบริษัท Airbus S.A.S. มีผลการศึกษาว่าการใช้เทคนิค SET จะช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้อย่างมีนัยสำคัญและจะส่งผลโดยตรงในการลดต้นทุนหลักสำหรับการใช้งานอากาศยาน หากพิจารณาอากาศยานของ Airbus ในภาพรวม ทั้งแบบ A320, A330 และ A340 จะสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ 4, 6.25 และ 8 kg/min ตามลำดับ โดยในส่วนของอากาศยาน แบบ A320 อาจสามารถประหยัดได้มากถึง 15,000 USD ต่อเครื่องต่อปี
ในส่วนบริษัท ATR ได้แนะนำขั้นตอนในการ Taxi ของอากาศยานแบบ ATR72 ด้วยเทคนิค SET เพื่อความมุ่งหมายในการลดอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
นอกจากบริษัทผู้ผลิตอากาศยานแล้ว สายการบินต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลกได้มีการประยุกต์เทคนิค SET ด้วย เช่น สายการบิน Qantas และ Jetstar เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งมีอากาศยานในครอบครองมากกว่า 300 เครื่อง และมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงมากถึงวันละ 14 ล้านลิตร ได้ตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงร้อยละ 1.5 ภายในปี ค.ศ.2020 โดยใช้เทคนิค SET เป็นหนึ่งในวิธีดำเนินการ
สายการบิน Iberia Airlines ราชอาณาจักรสเปนได้ใช้เทคนิค SET กับเครื่องบิน Airbus แบบ A340 พบว่าสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงในขณะที่เครื่องบินอยู่ระหว่างการเคลื่อนที่บนพื้นดินได้ประมาณ 20% ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซ CO2 และ NOx ได้ประมาณ 40% และ 10 - 30% ตามลำดับ
สายการบิน United Airlines สหรัฐอเมริกา สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานได้เทียบเท่ากับปริมาณเชื้อเพลิงที่สามารถใช้ได้สำหรับรถยนต์ 9,000 คัน หรือเท่ากับปีละประมาณ 5,000,000 Gallons (ประมาณ 18.9 ล้านลิตร) จากการใช้เทคนิค SET
ไม่เพียงแต่ในภูมิภาคออสเตรเลีย ยุโรป หรืออเมริกาเท่านั้น แต่สายการบินชั้นนำในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เช่น สายการบินแอร์เอเชีย ที่มีการใช้งานในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอากาศยานมากกว่า 160 เครื่อง และทำการบินมากกว่า 340,000 เที่ยวบินต่อปี มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานตั้งแต่ ปี ค.ศ.2012 โดยได้ใช้เทคนิค SET เป็นหนึ่งในมาตรการประหยัดเชื้อเพลิง
นอกจากนี้ยังมีสายการบินชั้นนำอื่นๆ ที่ได้ใช้เทคนิค SET เพื่อช่วยลดอัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอากาศยาน อาทิเช่น Alaska Airlines, American Airlines, All Nippon Airways, Atlantic Southeast and Express Jet, British Air Cargo, ComAir, Delta Airlines, Kalitta Air และ Pinnacle Airlines เป็นต้น
ด้วยเหตุผลที่สามารถช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการทำการบิน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เทคนิค SET นี้ได้รับความนิยม นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการที่ค่อนข้างสะดวกเนื่องจากสามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องทำการ Modify หรือปรับปรุงเครื่องบินหรือเครื่องยนต์ จึงทำให้สายการบินชั้นนำทั่วโลกได้นำวิธีการนี้ไปใช้งานอย่างแพร่หลาย
References
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย. (2017). Thailand's Action Plan to Reduce Aviation Emission 2018.
D. Anderson. (2002). Fuel Conservation Operational Procedures for Environmental Performance. www.icao.int/Meetings/ EnvironmentalWorkshops/Documents/2002-Workshop-OperationalMeasures-for FuelEmissionsReduction/david_anderson.pdf
F. Hoyas. Single Engine Taxi for CDM. www.eurocontrol.int/sites/default/files/events/presentation/2-1-single-twin-engine-taxi-acdm-info-exchange-2016.pdf, 2016.
ATR Customer Service. Fuel Saving. Blagnac: ATR, 2014.
Chicago Department of Aviation. (2011). Iberia Airlines Taxiing Program To Reduce Emissions At ORD. www.aviationpros.com/ article/10467486/single-engine-taxi-program-will-reduce-emissions-and-save-fuel
United Airlines. (2018). Fuel Efficiency and Emissions. www.united.com/ual/en/us/fly/company/global-citizenship/
environment/fuel-efficiency-and-emissions-reduction.html
General Electric. (2018). Driving Success in Asian Aviation, Case Study: How data and analytics are driving customer outcomes in operational efficiency for Airasia. www.geaviation.com/sites/default/files/case-study-AirAsia.pdf

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา