10 ก.ย. 2019 เวลา 03:17
การฉีดสีคือการผ่าตัด??
หลายท่านอาจตกใจ เมื่อได้ยินคุณหมอแจ้งว่า ต้องได้รับการฉีดสี (สวนหัวใจ)อย่างเร่งด่วน
คำถามแรกที่เกิดขึ้นในสมองของคนไข้และญาติทุกคน ก็คือ ต้องผ่าตัดเลยหรอ?
วันนี้ พยาบาลจะเล่าให้ฟังค่ะ
1.การฉีดสี คือการผ่าตัดใช่หรือไม่?
ตอบ:การฉีดสี ไม่ใช่การผ่าตัดค่ะ เป็นการทำหัตถการในห้องตรวจสวนหัวใจ( Cardiac catheterization) ทำโดยแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจ และทีมเฉพาะทางด้านโรคหัวใจ
แพทย์จะฉีดยาชาบริเวณผิวหนังที่จะสอดสายสวน
จากนั้นแพทย์จะใส่สายขนาดเล็ก(เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 0.2mm ) สอดไปตามหลอดเลือดจนถึง หลอดเลือดหัวใจ
ทำการฉีดสี และเอ็กซเรย์ดูว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบหรือไม่
2.การฉีดสี ต้องวางยาสลบไหม
ตอบ:การฉีดสีไม่ได้วางยาสลบค่ะ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลาที่ทำหัตถการ
คุณหมอจะฉีดยาชาที่บริเวณผิวหนังที่จะทำการสอดใส่สายสวนเท่านั้น
3.ทำไมต้องให้งดน้ำงดอาหาร
ตอบ:อย่างที่แจ้งค่ะ การตรวจสวนหัวใจเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงในระหว่างที่ทำหัตถการ ได้แก่ อาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้นจนต้องช่วยปั๊มหัวใจหรือฟื้นคืนชีพ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ
การงดน้ำงดอาหารเป็นเหตุผลเพื่อป้องกันการสำลักในกรณีที่มีภาวะฉุกเฉินค่ะ
4.การฉีดสีใช้เวลานานเท่าไร
2
ตอบ:ใช้เวลาประมาณ30-60นาที ในรายที่ไม่ได้ทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ
ส่วนในรายที่ต้องขยายหลอดเลือดหัวใจหรือใส่อุปกรณ์ช่วยชีวิต อาจใช้ระยะเวลานานขึ้น
5.ทำไมต้องให้ญาติไปพร้อมกับผู้ป่วย
ตอบ:การฉีดสีหรือตรวจสวนหัวใจเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เลือดออกผิดปกติ อัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเฉียบพลัน
การทำหัตถการใดๆต้องได้รับการยินยอมจากผู้ป่วย(อายุต่ำกว่า 18ปี ต้องมีผู้ปกครอง)
และมีญาติร่วมเป็นพยานในการตัดสินใจ ซึ่งหมายถึง เมื่อเกิดความเสี่ยงจากการทำหัตถการ ผู้ป่วยและญาติรับทราบและยอมรับผลที่อาจเกิดขึ้นในการรักษาของแพทย์ผู้ทำหัตถการด้วย
(ก่อนการเซ็นต์ยินยอมต้องรับทราบข้อมูลอย่างละเอียด)
6.แพ้อาหารทะเล ฉีดสีได้ไหม?
ตอบ:เนื่องจากสารสีที่ใช้ในการฉีดสี เป็นไอโอดีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารทะเล
ดังนั้นผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารทะเล โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
โดยสามารถเข้ารับการฉีดสีได้ ซึ่งจะได้รับยาแก้แพ้ก่อนการฉีดสี เพื่อป้องกันอาการแพ้ที่รุนแรง โดยท่านอาจมีอาการหนาวสั่น หรือคลื่นไส้อาเจียน ขณะหรือหลังจากทำหัตถการได้
7.ฉีดสีเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลยหรือไม่
ตอบ:หลังจากฉีดสีเสร็จ ท่านจะถูกส่งเข้าห้องสังเกตอาการซึ่งอาจเป็นแผนกผู้ป่วยหนักด้านโรคหัวใจ หรือห้องสังเกตอาการหลังทำหัตถการเพื่อสังเกตภาวะแทรกซ้อนหลังการตรวจสวนหัวใจ ได้แก่ ติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ความดันโลหิต ตรวจสอบดูแผลที่ได้รับการฉีดสีว่ามีความผิดปกติหรือไม่ มีก้อนเลือดใต้ผิวหนังหรือไม่
หากท่านได้รับการเจาะผิวหนังบริเวณขาหนีบ จะต้องนอนราบต่ออีก6 ชั่วโมง หลังเอาสายสวนออก(บางรายมีสายสวนคาไว้ที่ขาหนีบ ต้องนอนราบต่อถึง12ชั่วโมง)
หากท่านได้รับการแทงสายสวนที่ข้อมือ ท่านจะมีสายรัดข้อมือ รัดเพื่อห้ามเลือดไว้
ท่านสามารถลุกนั่งหรือทำกิจกรรมบนเตียงได้ แต่ไม่ให้ขยับข้อมือหรืองอข้อมือ ซึ่งระหว่างนี้พยาบาลจะคอยสังเกตความผิดปกติเป็นระยะ
1
และเมื่อหลังนำสายรัดข้อมืออก พยาบาลจะทำแผล
และแนะนำไม่ให้ผู้ป่วยงอข้อมือต่ออีก 4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะเลือดออก
อย่างไรก็ดี หลังการฉีดสี ท่านจะได้รับสารทึบรังสี ซึ่งมีผลต่อการทำงานของไต
โดยสารทึบรังสีจะถูกขับออกทางไต ในผู้ป่วยบางรายจะได้รับการเจาะเลือดเพื่อติดตามการทำงานของไตในวันต่อมา
ดังนั้น การจะพิจารณาระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะพิจารณาให้กลับบ้านในวันที่ 3 ของการนอนโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆแน่นอน
ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงค่ะ
ด้วยรัก
#พยาบาลสมานใจ
โฆษณา