14 ก.ย. 2019 เวลา 02:15
อาชีพนักบิน กำลังตกงาน
แค่บินได้ อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด นักบินใหม่ล้นตลาด ตกงานกว่าพันคน เพราะอะไร นักบินขาดแคลน แต่ทำไมยังตกงาน..?
หลังจากไปเปิดเจอข่าวนักบินใหม่ตกงานเป็นจำนวนมาก จนทำให้นายกสมาคมนักบินไทย ต้องรีบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์ เพราะมิเช่นนั้น อาชีพในฝัน อาจจะกลายเป็นเพียงอาชีพขายฝันของใครหลายๆคน
ทำไมอาชีพนักบินที่ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ จึงกลายเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงในยุคนี้
แอร์ป้าจะเล่าให้ฟัง..
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 30-40 กว่าปีก่อน การจะเป็นนักบินได้ จะต้องเป็นทหาร หรือสอบเป็นนักบินฝึกหัดของสายการบินไทยให้ได้ เพียงเท่านั้น
การผลิตบุคลากรนักบิน จึงมีจำนวนจำกัด และเป็นที่ต้องการมากของธุรกิจการบิน
แปลว่า การที่คนธรรมดาหรือพลเรือนอย่างเราจะมีโอกาสเป็นนักบินได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะนอกจากจะต้องเก่งแล้ว ก็ต้องฝ่าด่านอรหันต์แข่งขันกับคนอีกนับพัน สำหรับการคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นนักเรียนการบินของสายการบินแห่งชาติ
อาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนการบินเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ณ เวลานั้นคือ สถาบันการบินพลเรือน ที่ใช้สนามบินหัวหินในการฝึกสอน
ในอดีตสถาบันการบินพลเรือน "ไม่รับทุนส่วนตัว" ซึ่งผู้ที่ได้เรียนจะต้องมาจากหน่วยงานเท่านั้น เช่น การบินไทย หรือกองบินตำรวจ กองบินเกษตร ฯลฯ
หลังจากนั้น สถาบันการบินพลเรือนจึงเริ่มเปิดกว้าง ด้วยการรับนักเรียนการบินด้วยทุนส่วนตัวเป็นที่แรกในประเทศไทย และตามมาด้วยโรงเรียนการบินอื่นๆอย่าง BAC หรือโรงเรียนการบินกรุงเทพ
เมื่อเริ่มเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้พลเรือนสามารถสานฝันของตัวเองด้วยทุนส่วนตัว จำนวนการผลิตนักบินก็เริ่มมีมากขึ้น...
อีกทั้งสถาบันอุดมศึกษา ก็เริ่มเปิดโอกาสนี้เช่นกัน อาทิเช่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งสามารถผลิตบัณฑิตปริญญาตรีพร้อมกันกับใบอนุญาตินักบินพาณิชย์ตรี หรือ Commercial pilot license
ยังไม่รวมสถาบันการบินนอกประเทศอื่นๆอีกมาก ที่ทำให้การแข่งขันของบุคคลากรนั้น มีมากขึ้นไปอีก..
แล้วอะไรทำให้นักบินจบใหม่ต้องตกงาน?
หากไม่นับนักบินที่เป็นนักเรียนทุนของสายการบิน(Student Pilot) เช่นการบินไทย แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ และ ไทยไลอ้อนแอร์ ก็คงจะไม่ต้องประสบปัญหานี้ แต่ก็ต้องแลกมากับการแข่งขันที่สูงมาก จากผู้สมัครจำนวนหลายพันคน แต่รับจำนวนเพียงหลักร้อย
คำตอบคือ...ชั่วโมงบิน
เพราะยิ่งบินมาก ยิ่งได้เปรียบ..
ธุรกิจการบินที่กำลังเติบโต ใครๆก็บินได้ สายการบินต้นทุนต่ำที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก การที่สายการบินกำลังขยายตัว ทั้งเส้นทางการบินที่เปิดเพิ่มขึ้น มีการเพิ่มปริมาณเครื่องบิน จึงทำให้เกิดภาวะ"นักบินขาดตลาด"
นักบินขาดตลาด และเป็นที่ต้องการนั้น เป็นเรื่องจริง
แต่นักบินที่สายการบินต้องการ กลับไม่ใช่นักบินจบใหม่ แต่คือนักบินที่มีประสบการณ์ หรือมีชั่วโมงบินมามากพอแล้วนั้นเอง
1
ด้วยภาพลักษณ์เหล่านี้ จึงทำให้สิบปีที่ผ่านมาเกิดการผลิตนักบินใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก
นักบินใหม่ที่ประสบการณ์ และชั่วโมงบินยังมีไม่มากพอ จึงต้องว่างงาน เพราะการแข่งขันจากนักบินจบใหม่ด้วยกันเอง
ไหนจะนักบินที่จบจากต่างประเทศที่อาจมีข้อได้เปรียบกว่าในด้านภาษา
ปัจจุบันจึงต้องมีนักบินที่เรียนด้วยทุนตัวเองอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องว่างงาน หรือรอคอยงาน ที่ไม่รู้ว่าจะได้งานเมื่อไหร่..
แต่ถึงอย่างไรด้วยสภาวะเศรษฐกิจ มีเกิดก็ต้องมีดับตามวัฏจักร แม้สายการบินจะขยายตัวมาก แต่อีกหลายสายการบินก็ต้องปิดตัวลง
นาทีนี้คงไม่ใช่เพียงแต่นักบินใหม่ที่ต้องพบกับปัญหาว่างงาน แต่คงมีอีกหลายตำแหน่งงานที่ก็ต้องพบกับปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน
การอยู่บนโลกของความเป็นจริง ไม่เพียงแค่เดินตามฝัน จึงต้องกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุด
แม้โอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น จะมาพร้อมกับปัญหาการว่างงาน แต่หากมองปัญหาให้เป็นโอกาส เราก็อาจจะพบทางออกได้ไม่ยากเช่นกัน
แอร์ป้าขอเป็นกำลังใจและเอาใจช่วยนะคะ✌
Have a safe flight✈
#แอร์ป้า⭐ห้าดาว
Reference
โฆษณา