14 ก.ย. 2019 เวลา 01:00 • บันเทิง
เมื่อการ์ตูนคือโลกของผู้ใหญ่
สุดยอดแอนิเมชั่น 4 เรื่องของซาโตชิ คอน
ในบรรดาสตูดิโอผู้สร้าง Animationของญี่ปุ่น
เราคงคุ้นเคยกับค่ายจิบลิ (Ghibli)
ชื่อของ "ฮายาโอะ มิยาซากิ"ก็เป็นที่คุ้นหูของแฟนๆชาวไทย
มีคำกล่าวว่าหากแอนิเมชั่นฝั่งจิบลิ(Ghibli)คือตัวแทนของโลกที่สวยงาม ความดีและแรงบันดาลใจในวัยเด็ก
โลกของซาโตชิ คอน คือ ตัวแทนของคู่ตรงข้ามกัน
ซาโตชิ คอน (Satoshi Kon)ผู้ผลิตแอนิเมชั่นค่าย Mad House เอกลักษณ์ผลงานของเขาคือการทำแอนิเมชั่นที่สร้างมาให้ผู้ใหญ่ดู ด้วยเนื้อหาหนักๆว่าด้วยเรื่องของชีวิต ความเสื่อมทรามของสังคม บางเรื่องก็เป็นแนวเขย่าขวัญจิตวิทยา
นิตยสาร Bioscope พูดถึงงานของเขาว่า หากอัลเฟรด ฮิตซ์ค็อค จะทำแอนิเมชั่น ผลงานของเขาคงออกมาไม่ต่างจาก ซาโตชิ คอน
(เครดิต : นิตยสาร "BIOSCOPE" ฉบับที่ 69 / สิงหาคม 2550)
แอนิเมชั่นของซาโตชิ คอน ไม่เคยทำให้คนดูผิดหวัง
เขาจะพาคนดูไปสัมผัสถึงก้นบึ้งของจิตใจตัวละคร
สำรวจเหตุการณ์อันหลากหลาย ปูมหลังที่นำพาให้ตัวละครเป็นไป
ขณะดูแอนิเมชั่นของเขา เราเหมือนถูกดูดเข้าไปในอีกมิติหนึ่ง มิติที่ตัวละครตรงหน้ามีชีวิตจิตใจราวกับมีตัวตนอยู่จริง
ซาโตชิ คอน ภาพจาก www.midnighteye.com
...อัจฉริยะมักจากไปเร็ว
ซาโตชิ คอน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ในวัย 46 ปี
นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแอนิเมชั่น
ผลงานตลอดชีวิตของเขา มี 7 เรื่อง ได้แก่
- Perfect Blue (1998)
- Millennium Actress (2001)
- Tokyo Godfathers (2003)
- Paranoia Agent (2004)
- Paprika (2006)
- Good Morning (part of Ani-Kuri15) (2008)
- The Dream Machine (2011)
ต่อจากนี้ขอเชิญผู้อ่านมาสำรวจโลกแอนิเมชั่นของ
"ซาโตชิ คอน" ผ่านสุดยอดแอนิเมชั่น 4 เรื่องของเขา
(โดยเพจหนังหลายมิติ)
1. Perfect Blue (1998)
เรื่องราวของมิมะ ไอดอลสาวชื่อดังที่ผันตัวมาเป็นนักแสดง เธอมุ่งมั่นตั้งใจกับงานแสดงอย่างเต็มที่แม้ว่าบทที่ได้รับจะขัดกับภาพลักษณ์ของเธอ เธอต้องแสดงในบทที่เปลืองเนื้อเปลืองตัว มีความรุนแรงทางเพศ เพื่อแลกกับชื่อเสียงและการยอมรับในวงการ ทำให้แฟนๆที่ติดตามเธอมาตั้งแต่ยังเป็นไอดอลผิดหวังอย่างมาก
มีแฟนคลับโรคจิตคนหนึ่ง ตามฆ่าคนรอบตัวมิมะเพราะเชื่อว่าคนเหล่านั้นมีส่วนทำให้มิมะเปลี่ยนไป
ในส่วนของมิมะเองก็ถลำลึกในโลกของการแสดง จนแยกไม่ออกระหว่างการแสดงกับชีวิตจริง
บางครั้งเกิดภาพหลอนเป็นตัวละครที่เธอแสดง บางทีก็เห็นภาพตัวเองตอนยังเป็นนักร้อง คล้ายมีอาการทางจิต
แอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นแนวเขย่าขวัญจิตวิทยา ทิ้งปมให้เราสับสน สงสัย ว่าใครเป็นฆาตกร ? คู่ไปกับประเด็นทางจิต และภาวะต่างๆที่ตัวละครต้องเจอ
หนังยังเผยให้เราเห็นด้านมืดของวงการบันเทิง การล่อลวง โกหก ความลุ่มหลงจนไร้เหตุผล ความทะยานอยากเพื่อชื่อเสียงเงินทอง
แท้จริงแล้วตัวละครอย่างมิมะ คือ ผลผลิตของความบันเทิงที่ใช้เรื่องทางเพศของเด็กสาวมาเป็นจุดขาย และให้ผู้คนร่วมกันฉกฉวยผลประโยชน์จากความไร้เดียงสาของเธอ บรรดาแฟนคลับและคนที่ชอบมิมะก็เป็นหนึ่งในวงจรอุบาทนี้ ความชอบที่มีมากเกินไป ลุกลามจนล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของเธอ
แม้จะเป็นผลงานเรื่องแรกของซาโตชิ คอน แต่หนังถ่ายทอดอารมณ์และนำเสนอประเด็นต่างๆออกมาได้อย่างน่าสนใจ
2. Millennium Actress (2001)
นี่คืออนิเมะเรื่องแรกที่ทำให้ผมรู้จักซาโตชิ คอน ความรู้สึกหลังดูคือ นี่มันใช่การ์ตูนจริงๆเหรอ
ทำไมดีงามแบบนี้ ครบรสทุกอารมณ์
1
ผลงานลำดับที่สองของซาโตชิ คอน ยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องของนักแสดง เมื่อผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีไปขอสัมภาษณ์ "ชิโยโกะ ฟูจิวาระ" อดีตนักแสดงสาวชื่อดังที่ห่างหายจากวงการไป 30 ปี
เรื่องในหนังจะเป็นภาพชีวิตของชิโยโกะในแต่ละช่วงวัย เริ่มตั้งแต่ตอนที่เธอได้พบกับชายหนุ่มคนหนึ่งในวัยเด็กและรู้สึกผูกพัน เธอติดตามค้นหาเขาตลอดชีวิต เพื่อหวังจะได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งแม้เธอจะโด่งดังเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง แต่ก็ยังไม่พบชายคนนั้น
ท้ายที่สุดเธอตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง และเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบเพียงลำพัง
ใครจะคิดว่าโครงเรื่องง่ายๆแบบนี้ ซาโตชิ คอน จะเล่าออกมาได้สนุก เสน่ห์ของ Millennium Actress ที่นักวิจารณ์หลายคนพูดถึงคือ ความโดดเด่นในการเล่าเรื่อง
หนังตัดสลับชีวิตของชิโยโกะและบทบาทการแสดงของเธอได้อย่างลงตัว เป็นการสะท้อนความทรงจำคู่ขนานไปกับชีวิตจริง
" ชีวิตที่ดิ้นรนจากความฝัน เดินทางตามหาเพื่อทำให้ฝันเป็นจริง จนนำไปสู่การค้นพบความหมายของชีวิตในท้ายที่สุด "
นี่คืออนิเมะทรงคุณค่าที่ควรหามาชมให้ได้สักครั้ง
สำหรับท่านที่สนใจผลงานของซาโตชิ คอน ผมแนะนำว่าควรเริ่มจาก Millennium Actress เป็นเรื่องแรก
3. Tokyo Godfathers (2003)
สำหรับใครที่เคยอ่านบทความ "20 หนังโปรดของผม" คงได้รู้จักหนังเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว
Millennium Actress และ Tokyo Godfathers คือหนังแอนิเมชั่นของซาโตชิ คอน ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์
เรื่องราวของคนจรจัดสามคน ที่พบเด็กทารกคนหนึ่งในกองขยะคืนวันคริสต์มาสอีฟ
จากคนที่แม้แต่ชีวิตของตัวเองยังจัดการไม่ได้ ต้องมาดูแลรับผิดชอบอีกหนึ่งชีวิต การตามหาพ่อแม่ของทารก มอบบทเรียนบางอย่างแก่พวกเขา ทำให้ได้เห็นคุณค่าในตนเอง
เมื่อชีวิตที่ต้องดูแลกลายเป็นของขวัญสุดวิเศษที่ช่วยลบปมในชีวิตของคนทั้งสามออกไป
เป็นปาฏิหารย์ที่พระเจ้าประทานผ่านเด็กน้อย
นี่น่าจะเป็นหนัง Feel good ที่สุดของซาโตชิ คอน
หนังดูง่ายที่มาพร้อมกับประเด็น "คนไร้บ้าน"
คนไร้บ้านในสังคมญี่ปุ่นมีจำนวนมาก เป็นคนที่ไม่สนใจอะไรในชีวิต คนที่ละทิ้งความวุ่นวาย อยากออกจากการแข่งขัน และ หนีไปจากความกดดันของสังคม แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้จะตัดขาดความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับความรัก ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม
4. Paprika (2006)
หนังSci-Fiที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับหนังออลลีวู้ดชื่อดังอย่าง "Inception"
1
Paprika เป็นเรื่องของอนาคตเมื่อมีการคิดค้นเครื่อง DC mini อุปกรณ์รักษาผู้ป่วยทางจิตด้วยการรักษาผ่านความฝัน อุปกรณ์ชนิดนี้สามารถทำให้เราเห็นความฝันของคนอื่นและเข้าไปมีส่วนร่วมในความฝันนั้นได้ ใช้เพื่อค้นหาปมในใจผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยและรักษา
โครงการนี้อยู่ในขั้นทดลองของ ดร.ชิบะ
อยู่มาวันหนึ่งเครื่อง DC mini ถูกขโมยไป
ความน่ากลัวของคนที่นำเครื่องนี้ไปใช้คือ
เขาสามารถบิดเบือนความฝันของใครก็ได้แม้ในขณะตื่น ทำให้โลกความฝันกับความจริงปะปนกันจนแยกไม่ออก ดร.ชิบะ หรือ สาวน้อยปาปริก้า (ตัวแทนในโลกความฝัน) จึงต้องนำเครื่องมือนี้กลับมาให้ได้ก่อนที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
Paprika คือ แอนิเมชั่นที่ภาพสวยมาก (โดยเฉพาะฉากในความฝัน) ความอลังการของงานภาพพาเราออกจากโลกความจริงจมดิ่งสู่ความฝันแม้กำลังตื่น (เหมือนเครื่อง DC mini เลย)
หนังมีส่วนผสมเชิงปรัชญาอยู่ในเนื้อเรื่องคล้ายๆ The matrix หากใครเคยดูหนังเรื่อง The cell แอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ให้อารมณ์ใกล้เคียงกัน
แม้เราจะไม่ได้เห็นภาพจิตใจของฆาตกรแบบ The cell แต่ภาพฝันของมนุษย์ธรรมดาก็แอบน่ากลัวอยู่
ความฝันคือภาพจากจิตใต้สำนึกของเรา เป็นประสบการณ์ที่ถูกเก็บไว้ภายใน เป็นพื้นฐานของบางสิ่งบางอย่าง เป็นส่วนเล็กๆที่มีผลต่อการตัดสินใจรวมถึงพฤติกรรมของเรา ประหนึ่งว่าความฝันเองก็เรียกร้องที่จะออกมาสู่โลกความจริง
จริงๆแล้ว เราคือเจ้าของฝัน หรือ ฝันคือเจ้าของเรากันแน่ ....
ผมเชื่อว่าหากซาโตชิ คอน ไม่เสียชีวิตไปก่อน
งานยุคหลังๆของเขาจะถูกนำไปต่อยอดขยายเรื่องราวได้อีกมากมาย
ความลุ่มลึกในประเด็นที่เขานำเสนอออกมานั้น สะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ผ่านภาพการ์ตูนได้อย่างสมจริง
ซาโตชิ คอน ใส่"จิตวัญญาณ" ลงไปในทุกภาพ ทุกขั้นตอน ไม่แปลกใจที่ใครๆต่างพากันยกย่องและชื่นชมผลงานของเขา
" ผมไม่ชอบนั่งคิดว่าตนเองทำอะไรได้ดีที่สุด
ผมชอบคิดว่าอะไรที่ยังทำได้ไม่ดีพอมากกว่า "
(ซาโตชิ คอน October 12,1963 – August 24,2010)
รูปภาพซาโตชิ คอน จาก : http://www.midnighteye.com/interviews/satoshi-kon-2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา