Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักเล่านิทรา
•
ติดตาม
15 ก.ย. 2019 เวลา 04:20 • ประวัติศาสตร์
“ใต้หล้า สุริยาเดียว” พระเจ้าติโลกราช-พระบรมไตรโลกนารถ
ตอนที่ 2 แสงยานุภาพ
ดังที่เล่าในตอนแรกไปแล้วว่าหลังสงครามชิมลางที่ฝ่ายอยุธยาแพ้ย่อยยับ และใช้เวลา 6 ปีเตรียมทัพใหม่ แต่เจ้าสามพระยาก็สิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทัพ ทำให้ศึกใน พ.ศ. 1991 เป็นอันยกเลิกก่อนจะได้รบจริง เป็นเหตุให้ช่วงนั้นเองทางล้านนาพอมีเวลาได้สร้างสมแสงยานุภาพของตนเช่นกัน ขณะที่อยุธยาเองก็เพิ่งจะผลัดแผ่นดิน ได้กษัตริย์วัยหนุ่มอายุเพียง 18 ปี พระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(แปลว่าพระราชผู้เป็นใหญ่ในสามโลกเช่นเดียวกับพระเจ้าติโลกราช) ตรงนี้ทำให้ช่วงแรกฝ่ายอยุธยาดูเสียเปรียบมิใช่น้อย การจัดการความสงบภายในโดยเฉพาะพระประสงค์จะปฏิรูปการปกครองของราชันหนุ่ม ทำให้แรกที่ครองราชย์สงครามล้างแค้นล้านนาจึงยังไม่ปะทุ คงเป็นเพียงเชื้อไฟที่รอลมเป่าให้กระพือขึ้นเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลานั้นเองที่พระเจ้าติโลกราชได้อาศัยความสงบจากสงครามใต้ รวบรวมกำลังพลปราบแพร่และน่านเอาไว้ได้ เป็นการรวมหัวเมืองล้านนาได้สำเร็จครั้งแรกของประวัติศาสตร์ทีเดียว แล้วยังสามารถเอาชนะกองทัพล้านช้างหลวงพระบางที่ยกมาตีน่านได้สำเร็จ รวมไปถึงยึดเอาเมืองยอง ของฝ่ายเชียงตุง(รัฐฉาน พม่า ในปัจจุบัน) เอาไว้ได้อีกด้วย
ที่จริงความสงบของสิงห์เหนือ-เสือใต้อาจจะคงสภาพไปอีกระยะ หากแต่มันมีเชื้อถ่านเล็กๆ ก้อนหนึ่งที่ปลิวออกจากกองเถ้าถ่าน ได้กลายเป็นตัวเร่งให้ไฟสงครามลุกโหมอีกครั้ง ซึ่งเชื้อไฟนั้นไม่ใช่ใคร แต่เป็นพระญาติสนิทของพระบรมไตรโลกนาถนั้นเอง
บุคคลผู้นั้นมีชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ว่าพระยายุทธิเสถียรหรือพระยายุทธิถิระ ทรงเป็นเจ้านายในเชื้อวงศ์พระร่วงแห่งสุโขทัย นับแล้วเป็นหลานตาของพระมหาธรรมราชาที่ 4 กษัตริย์องค์สุดท้ายของสุโขทัยเช่นเดียวกับพระบรมไตรโลกนาถ คือเป็นลูกพี่ลูกน้องกันนั้นเอง แถมยังสนิทจนเป็นเพื่อนเล่นมาแต่วัยเยาว์ ยิ่งตอนพระบรมไตรโลกนาถยังเป็นเพียงเจ้าฟ้าอุปราชย์ครองพิษณุโลก พระยายุทธิเสถียรก็เป็นเจ้าเมืองครองเมืองเชลียง(ศรีสัชนาลัย เมืองลูกหลวงของสุโขทัย) ซึ่งไม่ไกลกันมากก็ไปมาหาสู่กันเป็นนิจ จนเจ้าฟ้าอุปราชราเมศวรสัญญาแก่พระญาติว่าเมื่อเป็นกษัตริย์ จะตั้งพระญาติผู้นี้เป็นอุปราชแห่งสองแคว แต่แล้วในทางความเป็นจริง การเมืองมันไม่มีอะไรง่ายเช่นนั้น พระยายุทธิเสถียรจึงคงได้รับแต่งตั้งเป็นเพียงพระยาสองแควเท่านั้น
ซึ่งแม้จะได้ครองเมืองใหญ่อันดับสองรองจากอยุธยา หากแต่พระยศนั้นลดต่ำกว่าอุปราชมาก อีกทั้งยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าราชาแห่งสุโขทัยอย่างพระมหาธรรมราชาที่ 4 ผู้เป็นตาเลย จึงทำให้พระยายุทธิสเถียรผิดหวังและชิงชังเรื่อยมา แต่ในช่วงแรกก็ยังเก็บงำความรู้สึกเอาไว้ จนเมื่อ พ.ศ.1994 ในช่วงที่พระบรมไตรโลกนาถเพิ่งจัดระเบียบในกรุงศรีอยุธนาเสร็จ ทางเจ้าเมืองฝ่ายเหนือต่างแก่งแย่งเป็นใหญ่กันเอง พระยายุทธเสถียรถือโอกาสแปรพักตร์เข้าร่วมกับพระเจ้าติโลกราชอย่างไม่มีใครคาดคิด
การเกณฑ์ไพร่พลครัวเรือนนับหมื่นไปสนับสนุนล้านนานั้นถือว่ามีความดีความชอบ ทั้งยังเป็นการหักหน้าอยุธยาคู่ปรับสำคัญ พระเจ้าติโลกราชจึงรับพระยายุทธิเสถียรไว้ ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองพะเยา เมืองสำคัญของล้านนา และเลี้ยงดูประหนึ่งพระโอรสบุญธรรม ฝ่ายพระยายุทธิเสถียรก็ตอบแทนให้ด้วยการแนะนำและร่วมทัพตีเมืองปากยม(จ. พิจิตร) เชลียง(อ ศรีสัชนาลัย) เชียงชื่น(สวรรคโลก) ชากังราว(กำแพงเพชร) นอกจากนั้นทัพม้ารุกมาถึงชัยนาทกวาดต้อนผู้คนได้มาก รวมไปถึงจะยึดเอาสุโขทัย หากแต่ขณะเข้าตีสุโขทัยทางพระเจ้าล้านช้างยกทัพมาประชิดเมืองน่านอีกครั้ง จึงต้องถอยทัพไปรั้งศึกล้านช้างเสียก่อน ถือว่าการฉวยโอกาสของล้านช้างทำให้ฝ่ายอยุธยาได้ตั้งหลักตั้งตัวจัดทัพรับศึกทุรยศอย่างโชคช่วย
1
แน่นอนว่าพระบรมไตรโลกนาถก็ไม่ปล่อยโอกาสให้เปล่าประโยชน์ พระองค์ส่งกองทัพอยุธยาติดตามการถอยทัพของล้านนาไปทันที่เมืองเทิง(อ. เทิง จ. เชียงราย) แล้วไล่ตีจนทัพล้านนาที่กำลังถอยทัพอย่างพะว้าพะวงแตกพ่ายไม่เป็นกระบวน ศึกนี้พอจะถือว่าเป็นการล้างแค้นให้พระบิดาได้อย่างดี รวมทั้งเอาคืนญาติตัวแสบได้เช่นกัน
ช่วงเวลาหลังจากนั้น ทั้งสองอาณาจักรอาจจะมีศึกเล็กๆ ย่อยๆ ตามแนวเขตชายแดน แต่ไม่เคยเกิดสงครามใหญ่ เพราะทางพระเจ้าติโลกราชมุ่งหวังปราบดินแดนทางเหนืออย่างเชียงตุง(ไทเขิน) เมืองเล็กเมืองน้อยของชาวไทยใหญ่(เขตรัฐฉาน พม่า)และหอคำเชียงรุ่ง(ปัจจุบันคือสิบสองปันนาในจีน) ซึ่งพระองค์ก็สามารถเอาชนะไว้ได้ โดยได้กวาดต้อนผู้คนจากไทยลื้อ ไทยใหญ่มาได้ถึงหมื่นสองพันกว่าคนเข้ามาอาศัยในลำพูน
จนถึง พ.ศ. 2003 พระยาเชลียงแปรพรรค ย้ายไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช ทำให้ล้านนายกทัพเข้าตีหัวเมืองเหนือของอยุธยาอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันไรพวกจีนฮ่อยกทัพเข้าตีทางเหนือ เลยต้องถอยทัพเช่นเดิม แต่ในระหว่างนั้นล้านนาก็พยายามเข้าตีหัวเมืองเหนือของอยุธยาอยู่เนืองๆ จนทำให้พระบรมไตรโลกนาถเปลี่ยนยุทธวิธีเสียใหม่ ทรงย้ายมาครองราชย์ที่พิษณุโลก ยกฐานะเป็นเมืองหลวง ให้อยุธยาเป็นเพียงเมืองลูกหลวงแทน เพื่อที่ทัพใหญ่จะสามารถรับศึกเหนือได้ทันท่วงที ซึ่งเหตุการณ์สำคัญนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2006
และทันทีที่การย้ายเมืองหลวงขึ้นเหนือก็เกิดสงครามใหญ่ เมื่อฝ่ายล้านนายกทัพมาล้อมพิษณุโลกทันที ซึ่งความส่วนนี้ว่าเอาเฉพาะตำนานฝ่ายเหนือได้ระบุว่าล้านนาได้เปรียบเป็นอย่างมาก จนฝ่ายพระบรมไตรโลกนาถ ต้องใช้อุบายหลบหนีจากเมืองในคืนเดือนมืด อาศัยปลอมตัวทางเรือและตีกลองในสัญญาเลียนแบบเรือพระที่นั่งมหาราชเวียงพิงค์ ทางทหารที่ล้อมเมืองจึงไม่ทันสังเกต เมื่อพระเจ้าติโลกราชรู้ว่าศัตรูสำคัญหนีไปได้จึงพิโรธจะสั่งควักลูกตาทหารทั้งหมด ต้องอาศัยหมื่นด้งนครขอรับพระราชอาญาแต่เพียงผู้เดียว จึงเห็นแก่ขุนพลคู่พระทัย ไม่ลงโทษใคร
นอกจากนี้ตำนานฝ่ายเหนือยังเล่าต่อว่ากองทัพล้านนาตามทัพของพระบรมไตรโลกนาถได้ทันที่เมืองปากยม(พิจิตร) หมื่นด้งนครได้ล้อมไว้แต่ได้รับพระราชโองการจากพระเจ้าติโลกราชว่ามันก็พระยา กูก็พระยาดังนั้นอย่าไปทำมันเลย หมื่นด้งนครจึงปล่อยทัพพระบรมไตรโลกนาถไป (ตรงนี้ทางอยุธยาไม่มีบันทึก ส่วนความน่าเชื่อถือก็ขอให้รับฟังเป็นไปในเชิงตำนานครับ เพราะฟังแล้วทั้งการหนีจากพิษณุโลกและเหตุการณ์ที่ปากยมมีข้อสงสัยพอสมควร)
จากนั้นมหาราชเมืองเหนือมีคำสั่งให้เข้าตีกำแพงเพชรทันที นัยว่าจะลองพระเดชานุภาพกันอีกครั้ง ทางพระบรมไตรโลกนาถยกทัพพร้อมพระอินทร์ราชาราชบุตรปะทะทัพหน้าคือพระยายุทธิเสถียรตัวแสบ พระอินทร์ราชาตีทัพหน้าแตกพ่าย ไล่ตามจนหลงไปเผชิญทัพใหญ่ที่นำโดยหมื่นด้งนคร กลับตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ฝีมือเชิงรบก็มิใช่น้อย ทางล้านนาต้องใช้แม่ทัพถึงสี่คนในการเข้ารุมทำยุทธหัตถีกันก็ยังเอาชนะพระอินทร์ราชาไม่ได้ จนสุดท้ายพระอินทร์ราชาต้องพระแสงปืนที่พระพักตร์ สงครามครั้งนี้จึงเป็นอันเลิกไป
(อนึ่งตำนานฝ่ายเหนือเล่าว่าศึกครั้งนี้คงมีเพียงแต่หมื่นด้งนครยกไปตีกำแพงเพชรแต่ไม่สำเร็จ แล้วฝ่ายอยุธยาได้ทียกทัพไปตีเชียงใหม่ แต่เป็นกลศึกเพราะล้านนาจับสายลับของอยุธยาได้ จึงแกล้งส่งข่าวว่าล้านนาจะไปทำศึกทางเหนือ อยุธยาได้ทีจึงจัดทัพไปตีเชียงใหม่ แต่ถูกดักโจมตีที่ดอยขุนตาล(รอยต่อลำปางกับลำพูน) และรบกันที่นั่นมิใช่กำแพงเพชรแต่เหตุการณ์สิ้นพระอินทร์ราชาสอดคล้องกัน)
เรียกได้ว่าช่วงต้นของสงครามแห่งสองจักรพรรดิราชนี้มีผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ มีทั้งเล่ห์ทั้งกล ทั้งการฉวยประโยชน์จากวิกฤติและเหตุการณ์เฉพาะหน้า ถือว่าเป็นสุดยอดพิชัยสงครามให้ลูกหลานได้ศึกษาทั้งสิ้น บทต่อไปจะเข้าสู่ช่วงสงครามอย่างแท้จริงแล้ว ฝากติดตามกันต่อด้วยครับ
ภาพประกอบคืออนุสาวรีย์พระเจ้าติโลกราช จ. เชียงใหม่
4 บันทึก
22
4
5
4
22
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย