15 ก.ย. 2019 เวลา 12:08 • การศึกษา
ดวงจันทร์นั้นสำคัญไฉน
1
ภาพสถานีอวกาศนานาชาติผ่านดวงจันทร์ ISS Moon Transit โดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
ดวงจันทร์อยู่คู่กับโลกมานับสี่พันล้านปี ตั้งแต่เมื่อมีการกำเนิดระบบสุริยะใหม่ๆ สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนได้รับอิทธิพลจากดวงจันทร์ สำหรับมนุษย์แล้วเราคงจะแหงนหน้ามองดวงจันทร์มานับตั้งแต่มีเผ่าพันธุ์มนุษย์ถือกำเนิดขึ้น ตั้งแต่เรานับถือดวงจันทร์เป็นเทพเจ้ามาจนวันที่เราสำรวจดวงจันทร์กันแทบทุกหลุมอุตกาบาต มีเรื่องเล่า มีเพลง มีดนตรี มีวรรณกรรมเกี่ยวกับดวงจันทร์ทุกชนชาติ ทุกอารยะธรรมและแน่นอนหากวันนี้ดวงจันทร์หายไป ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งโลกและตัวเราอย่างมากมายมหาศาล
"ฟลายมีทูเดอะมูน" (Fly Me to the Moon) หรืออีกชื่อคือ "อินอะเธอร์เวิร์ด" (In Other Words) เป็นเพลงสากลอมตะ ออกซิงเกิลครั้งแรกในปี ค.ศ. 1954 โดย เคย์ บัลลาร์ด หลังจากนั้นก็ถูกนำมาบันทึกเสียงโดยใส่ทำนองแนวแจ็สอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดก็กลายเป็นเพลงในวัฒนธรรมสมัยนิยม โดยฉบับที่นิยมที่สุดคือฉบับที่ร้องโดย แฟรงก์ ซินาตรา ในปี 1964Source : WIkipedia/https://musescore.com/user/11991881/scores/2582681
ในปี 1999 หอเกียรติยศนักแต่งเพลงสหรัฐอเมริหา ได้ยกให้เพลงฟลายมีทูเดอะมูน เป็น "เพลงค้างฟ้า" (Towering song) นอกจากนี้ เพลงฟลายมีทูเดอะมูน ยังถูกเปิดระหว่างปฏิบัติการอะพอลโล 10 ขององค์การนาซาในขณะที่กำลังโคจรรอบดวงจันทร์ ต่อมาในปฏิบัติการอะพอลโล 11 บัสซ์ อัลดริน นักบินอวกาศได้เปิดเพลงฟลายมีทูเดอะมูน ฉบับแฟรงก์ ซินาตรา จากเครื่องเล่นเพลงพกพาระหว่างที่เขาลงไปเหยียบผิวดวงจันทร์ นับเป็นบทเพลงแรกของมนุษยชาติที่ถูกได้ยินบนดวงจันทร์
เรียบเรียงนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นข้อๆสัก 10 ข้อก่อนนะครับและหากมีอะไรน่าสนใจเกี่ยวกับดวงจันทร์อีกก็จะมีตอนใหม่ๆตามมาครับ
ภาพจำลองการชนใหญ่ของทฤษฎีกำเนิดดวงจันทร์ Big Splash หรือ the Theia Impact : Source : Wikipedia
1.กำเนิดจากการชน
เป็นทฤษฎีที่ได้รับยอมรับกันส่วนใหญ่ ดวงจันทร์กำเนิดจากเนื้อของโลก เนื่องจากการชนของหินอวกาศขนาดใหญ่ที่เราตั้งชื่อว่า Theia ซึ่งมีขนาดเท่าดาวอังคาร (ศก.6,778 km) พุ่งชนโลกหลังระบบสุริยะก่อตัวได้ประมาณ 100-200 ล้านปี ปัจจุบันโลกมีอายุ 4.5 พันล้านปี การชนนี้เราเรียกว่า Big Splash หรือ the Theia Impact ผลคือเนื้อของโลกคือแม็กมา ได้กระจายเป็นชิ้นเล็กๆโคจรรอบๆโลกและรวมกันเข้าเป็นดวงจันทร์ด้วยแรงดึงดูดระหว่างมวลและแรงดึงดูดของโลกเป็นดวงจันทร์ในเวลาต่อมา
ภาพแสดงกระบวนการ Debris disk การกำเนิดดวงจันทร์ทั้งดวงจันทร์ของเราและดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อื่นๆ : Source : WIkipedia
หลักฐานสนับสนุน
-การหมุนของโลกและวงโคจรของดวงจันทร์มีทิศเหมือนกัน คือจากทิศตะวันตกไปตะวันออก
-ผิวของดวงจันทร์เกิดจากการหลอมเหลวเพียงครั้งเดียว
-แก่นหรือใจกลางของดวงจันทร์มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับโลก
-ดวงจันทร์มีความหนาแน่นต่ำกว่าโลก
-มีหลักฐานจากระบบดาวฤกษ์อื่นๆเกี่ยวกับการชนที่เรียกว่า Debris disk นี้ทำให้เกิดดวงจันทร์ขึ้น
-การชนใหญ่เช่นนี้นำไปสู่ทฤษฎีการก่อตัวของระบบสุริยะ
-อัตราส่วนของไอโซเทปที่เสถียรในหินของดวงจันทร์และโลกเหมือนกัน อนุมานได้ว่ามาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน
2.หันด้านเดียวเข้าสู่โลก
มีเพียงด้านเดียวของดวงจันทร์เท่านั้นที่หันเข้าหาโลก เราเรียกว่าด้านใกล้ ส่วนด้านตรงข้ามเรียกว่าด้านไกล การที่ดวงจันทร์ทั้งหมุนรอบแกนตัวเองและโคจรรอบโลกด้วยอัตราเดียวกันนั้นเราเรียกว่า การหมุนสมวาร Synchronous rotation หรือ Tidal locking แรงโน้มถ่วงโลกทำให้การหมุนรอบแกนหมุนของดวงจันทร์ช้าลง และการหมุนของดวงจันทร์ก็ช้าจนพอดีกับการโคจรรอบโลกและคงที่อยู่เช่นนั้น ซึ่งดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อื่นๆ ก็มีรูปแบบคล้ายๆ กัน
การที่ดวงจันทร์หมุนรอบแกนตัวเองและโคจรรอบโลกด้วยอัตราเดียวกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนะครับ ใช้เวลานับล้านๆปีเลยทีเดียว เรื่อง Tidal locking คงต้องตั้งเป็นอีกหัวข้อโพสนึงเลยทีเดียว
ใครใจร้อนให้ชมจากนี่เลย
https://youtu.be/OZIB_leg75Q Synchronous rotation/ Tidal locking
https://youtu.be/l37ofe9haMU Tidal force on earth
ด้านใกล้คือด้านที่ดวงจันทร์หันเข้าสู่โลกตลอดเวลา ด้านนี้ประกอบด้วยทะล Mare ที่ราบสูง ภูเขาสูงและหลุมอุตกาบาตขนาดใหญ่ : Source : Wikipedia
ด้านไกลของดวงจันทร์ประกอบด้วยหลุมอตกาบาตเกือบเต็มพื้นที่ ร่องรอยนี้บอกอดีตของดวงจันทร์ได้ชัดเจน เราเพิ่งมีโอกาสเห็นด้านไกลนี้เมื่อเริ่มโครงการสำรวจดวงจันทร์มาไม่นาน : Source : Wikipedia
ภาพด้านไกลภาพแรกของมนุษยชาติ โดยยานสำรวจลูนา 3 ของประเทศรัสเซีย ในเดือนตุลาคม 1959 Source : Wikipedia
ส่วนเฟสของดวงจันทร์คือการเปลี่ยนแปลงที่เราสังเกตเห็นความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนไปในแต่ละวัน เพราะขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก แสงอาทิตย์ก็ส่องมายังดวงจันทร์ในมุมที่แตกต่างกันไป ส่งผลให้ดวงจันทร์ปรากฏเปลี่ยนไปในช่วง 29.5 วันที่ดวงจันทร์โคจรครบรอบ ช่วงเวลาที่ดวงจันทร์จะกลับมามีเฟสเดิมจะยาวกว่าคาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเล็กน้อย (27 วัน) เนื่องจากระหว่างที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก โลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย
เฟสหรือการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์คือการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ขณะที่ดวงจันทร์เปลี่ยนตำแหน่งในรอบเดือน
3.Moon Tree ต้นดวงจันทร์
เมล็ดพืชกว่า 500 เมล็ด 5 ชนิดได้แก่ Loblolly pine, Sycamore, Ssweetgum, Redwood, and Douglas fir ที่เคยไปไกลถึงดวงจันทร์ก่อนในมาปลูกบนโลก เมื่อปี 1971 สจ็วต รูสา (Stuart Roosa) มนุษย์อวกาศประจำปฏิบัติการอพอลโล 14 (Apollo 14) ของ NASA ได้นำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ขึ้นไปด้วย ระหว่างที่สองนักบินอวกาศ อลัน เชพเพิร์ด (Alan Shepard) และ เอ็ดการ์ มิทเชลล์ (Edgar Mitchell) กำลังสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์นั้น รูสาก็ทำหน้าที่ทดลองให้เมล็ดพันธุ์อยู่ในวงโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อศึกษาว่าสภาพแรงโน้มถ่วงและการเดินทางมายังดวงจันทร์นั่นส่งผลอย่างไรต่อเมล็ดพืช
ต้นดวงจันทร์ที่ปลูก ณ รัฐอาร์คันซอร์ สหรัฐอเมริกา ต้นนี้เป็นพันธุ์ Loblolly Pine : Moon Tree in front of Sebastian County Courthouse, in Fort Smith, Arkansas : Source : Wikipedia
หลังจากกลับมายังโลกเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นก็ถูกปลูกไปทั่วสหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ บราซิล ถวายแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ์ฮิโรฮิโตและอีกหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีและถูกเรียกว่า “ต้นดวงจันทร์”
ป้ายจากสถานที่เดียวกัน Plaque at the base of the Fort Smith, Arkansas, Moon Tree. : Source : Wikipedia
ในเวลาต่อมา ยานสำรวจดวงจันทร์ฉงเอ๋อ 4 ของประเทศจีนได้ลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์ในเดือนมกราคม 2019 และทดลองปลูกต้นฝ้ายจากเมล็ดพันธุ์ ต้นฝ้ายนั้นงอกและเติบโตได้ในระยะเวลาสั้นก่อนจะตายเพราะสภาพอากาศ
ต้นฝ้ายที่ถูกนำมาทดลองระบบนิเวศน์ขนาดเล็กในยานสำรวจฉงเอ๋อ 4 ในเดือนมกราคม 2019 ตายหลังจากการทดลองเป็นเวลาสองร้อยชั่วโมง Cotton plants budding in the Chang’e 4 mini biosphere experiment on the mission’s lunar lander on January 7. Just a couple hundred hours later, these plants have died. (Credit: Chongqing University/CNS)
4.โลกอาจมีดวงจันทร์ 2 ดวง
ดวงจันทร์อาจไม่ใช่บริวารเพียงดวงเดียวของโลก โดยเมื่อปี 1986 นักวิทยาศาสตร์ได้พบดาวเคราะห์น้อย ขนาด 5 กิโลเมตร ที่ถูกจับไว้ด้วยแรงโน้มถ่วงโลก โดยมีระยะใกล้โลกที่สุดอยู่ที่ 12 ล้านกม.(ประมาณ0.08 AU) เมื่อเป็นเช่นนั้นดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวซึ่งถูกเรียกว่า “3753 ครูธเน” ( 3753Cruithne) จึงกลายเป็นบริวารเสมือนของโลกไปโดยปริยาย น้องสาวของดวงจันทร์ดวงนี้ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 1 ปีแต่ใช้เวลาโคจรรอบโลกถึง 770 ปี โดยวงจรเป็นเป็นรูปเกือกม้า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าดาวเคราะห์น้อยหรือบริวารเสมือนนี้จะอยู่ในอิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลกไปอย่างน้อย 5,000 ปี
ภาพจำลองดาวเคราะห์น้อย 3753 Cruithne ดวงจันทร์เสมือนของโลก Source : Jimmyblog
วงโคจรของ 3753 Cruithne ได้รับการคำนวนและยืนยันในปี 1997 ว่ามีวงโคจรเป็นรูปเกือกม้า วนไปรอบดวงอาทิตย์ แรงโน้มถ่วงของโลกมีผลทำให้มันโคจรมาเจอกับโลกเกือบจะในต่ำแหน่งเดียวกันทุกๆปี โดยที่ไม่ชนกันเพราะระนาบวงโคจรของมันเอียงทำมุมกันกับวงโคจรโลกค่อนข้างมาก แต่ก็ถือได้ว่า ด้วยขนาด 5 กิโลเมตรของมันหากชนเข้ากับโลกจริงคงเป็นเรื่องใหญ่น้องๆดวงที่ชนโลกสมัยไดโนเสาร์เลยทีเดียว
ภาพแสดงวงโคจรของ 3753 Cruithne และเส้นคอนทัวร์แรงโน้มถ่วง : Source : Wikipedia
เราจะได้เห็น 3753 Cruithne โคจรรอบดวงอาทิตย์ไปอีกราว 5,000 ปี จากนั้นจะย้ายเข้ามาโคจรรอบโลกต่อไปราว 3,000 ปี ในช่วง 3,000 ปีนี้ Cruithne จะถือเป็นบริวารแท้ หรือ Natural satellite ยกระดับเป็นดวงจันทร์ดวงที่ 2 ของโลก เมื่อหมดเวลา 3,000 ปี ก็จะถูกดีดออกไปโคจรรอบดวงอาทิตย์กลายเป็นดาวเคราะห์น้อยอีกครั้งหนึ่ง
ยังมีดาวเคราะห์น้อยที่เคลื่อนที่ในระบบสุริยะของเราและมีโอกาสเป็นดวงจันทร์เสมือนของโลกได้ ความเข้าใจดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมากในการคำนวณเส้นทางของดาวเคราะห์ต่างๆที่โคจรใกล้โลก สามารถลดความตื่นตระหนกหรือข่าวลือเรื่องวันสิ้นโลก อุตกาบาตชนโลกได้เป็นอย่างดี Source : Jimmyblog
5.ร่องรอยบนพื้นผิวดวงจันทร์ทุกอย่างแทบจะคงเดิม
มีหลุมอุกกาบาตลึกขนาดใหญ่บนดวงจันทร์ ซึ่งเป็นผลจากการถูกหินอุกกาบาตพุ่งชนอย่างรุนแรงเมื่อระหว่าง 4.1-3.8 พันล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคแรกของการก่อกำเนิดระบบสุริยะ ร่องรอยเหล่านี้คงสภาพเกือบเหมือนเดิมก็เพราะเหตุผลหลัก 2 ประการคือ ดวงจันทร์ไม่มีความเคลื่อนไหวทางธรณีวิทยามากเหมือนโลก ไม่ว่าภูเขาไฟหรือภูเขาก็ไม่ทำลายภูมิทัศน์เหมือนอย่างบนโลก และอีกเหตุผลคือดวงจันทร์แทบจะไม่มีชั้นบรรยากาศ ชั้นบรรยากาศของดวงจันทร์นั้นเป็นกาซเฉื่อยปริมาณน้อยและเบาบาง การสึกกร่อนจึงเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย รอยเท้าหรือร่องรอยการลงจอดของยานสำรวจต่างๆ รวมทั้งเครื่องมือที่นำไปติดตั้งบนดวงจันทร์อย่าง Seismometer ยังคงสภาพเดิม Retroreflector ก็ยังคงทำงานได้จนทุกวันนี้ แม้ว่าจันทร์จะว่างเว้นจากการลงจอดมานานกว่า 40 ปี
2
Buzz Aldrin on the moon 20 July 1969 : NASA
เครื่องสะท้อนลำแสงเลเซอร์ Retroreflector เป็น 1 ใน 3 ของเครื่องมือที่นำไปทดลอง ณ ดวงจันทร์ในโครงการอะพอลโล 11 ที่ทุกวันนี้ ยังคงทำงานได้ดี เราใช้เครื่องมือนี้วัดระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ และทราบว่าแรงไทดัลทำให้ดวงจันทร์ถูกเหวี่ยงออกจากโลกไปทุกปีๆละ 3.5 ซม. : NASA
6.ดวงจันทร์ไม่กลม
รูปร่างของดวงจันทร์คล้ายรูปร่างของส้มมากกว่า และศูนย์กลางมวลของดวงจันทร์ไม่ได้อยู่ตรงศูนย์กลางตามรูปทรงเรขาคณิต แต่อยู่ห่างจากศูนย์กลางรูปทรงเรขาคณิตดังกล่าวออกมา 2 กิโลเมตร นี่ก็เพราะแรงไทดัล Tidal Force ที่ส่งผลให้ดวงจันทร์มีสัญฐานรีและถูกเหวี่ยงออกไปจากโลกปีละประมาณ 3.5 ซม. ในขณะที่เวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองนั้นช้าลง
7.มีแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ Moon Quake
มนุษย์อวกาศในโครงการอพอลโลได้ใช้เครื่องมือวัดการสั่นสะเทือนบนดวงจันทร์ Seismometer และพบว่าดวงจันทร์เทาๆ นี้ยังไม่ได้ตายด้าน แต่ยังยังมีการสั่นสะเทือนเบาๆ ที่มีต้นกำเนิดแรงสั่นสะเทือนอยู่ลึกใต้พื้นผิวลงไปหลายกิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าการสั่นสะเทือนนั้นเป็นผลพวงจากแรงโน้มถ่วงโลก บางครั้งมีรอยแยกบนพื้นผิวและมีก๊าซเล็ดลอดออกมา
นักธรณีดาราศาสตร์เชื่อว่าบางทีดวงจันทร์อาจจะมีแกนกลางที่ร้อนจัดหรืออาจจะหลอมเหลวด้วยบางส่วน เหมือนแกนกลางของโลก แต่ข้อมูลจากยานอวกาศลูนาร์โพรสเปคเตอร์ (Lunar Prospector) ของนาซาได้เผยให้เห็นตั้งแต่ปี 1999 ว่า แกนกลางของดวงจันทร์นั้นเล็กมาก อาจมีมวลอยุ่เพียง 2-4% ของมวลทั้งหมด ซึ่งเล็กมากเมื่อเทียบกับโลกที่มีแกนเป็นเหล็กและมีมวลถึง 30% ของมวลทั้งหมด
ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของเปลือกดวงจันทร์ที่มีธรณีสันฐานเปลี่ยนไปเดิอเป็นหุบเขา หน้าผา รอยแยกและธรณีสันฐานต่างๆ The Taurus-Littrow valley is the location of the Apollo 17 landing site (asterisk). Cutting across the valley, just above the landing site, is the Lee-Lincoln fault scarp. Movement on the fault was the likely source of numerous moonquakes that triggered events in the valley. 1) Large landslides on of slopes of South Massif draped relatively bright rocks and dust (regolith) on and over the Lee-Lincoln scarp. 2) Boulders rolled down the slopes of North Massif leaving tracks or narrow troughs in the regolith on the slopes of North Massif. 3) Landslides on southeastern slopes of the Sculptured Hills. Credits: NASA/GSFC/Arizona State University/Smithsonian
8.ดวงจันทร์อาจเรียกได้ว่าดาวเคราะห์
หากนับที่ขนาดดวงจันทร์ของเรานั้นมีขนาดใหญ่กว่าพลูโต ดวงจันทร์มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,474.2 กม. ขณะที่พลูโตมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,376.6 กม. นักดาราศาสตร์บางส่วนเชื่อว่า ดวงจันทร์น่าจะเป็นดาวเคราะห์มากกว่า หากมีวงจรรอบดวงอาทิตย์ เช่นเดียวกับดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะคือแกนีมีดของดาวพฤหัสบดี(5,262 กม.) และอาจเรียกระบบโลกกับดวงจันทร์ว่า “ดาวเคราะห์คู่” (double planet) ได้หากโลกโคจรรอบดวงจันทร์ด้วยกันอย่างพลูโตและชารอน (Charon) ซึ่งเป็นดวงจันทร์ก็ถูกเรียกว่า “ระบบดาวเคราะห์คู่” จากนักดาราศาสตร์บางกลุ่มอีกด้วย
ภาพเปรียบเทียบเฉพาะขนาดของโลก พลูโต-ชารอนและดวงจันทร์ Source : Internet
ภาพแสดงการเปรียบเทียบขนาดของโลก ดาวเคราะห์อื่นๆและดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ Source : Slide.net
9.ด้านมืดด้านสว่างเป็นคำเรียกที่ผิด
ให้เรียกด้านที่หันเข้าสู่ว่า”ด้านใกล้”และด้านตรงข้ามว่า “ด้านไกล”
อาจเป็นเพราะชมสตาร์วอร์มาหลายภาค ทั้งสื่อและนักข่าวหลายสำนักยังเรียกชื่อด้านของดวงจันทร์ผิด ด้านทั้งสองของดวงจันทร์นั้นมีเฟส(การเปลี่ยนแปลง)ทั้งมืดและสว่าง กล่าวคือการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์นั้นทำให้ตำแหน่งของแสงตกกระทบบนดวงจันทร์เปลี่ยนไป เป็นเฟสที่เราเรียกว่า ข้างขึ้น Waxing Moon จันทร์เต็มดวง Full Moon ข้างแรม Waning Moon และจันทร์ดับ New Moon
เฟสของดวงจันทร์แสดงให้เห็นว่าดวงจันทร์หันด้านเดียวเข้าสู่โลก http://www.astronomy.ohio-state.edu/
ภาพด้านใกล้และการลงจอดของยานสำรวจดวงจันทร์ ชือของทะเล Mare และภาพด้านไกลของดวงจันทร์ : Source : Wikipedia
10.แสงจันทร์ส่งผลต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของมนุษย์และสัตว์มากมาย เช่นทำให้เราหลับได้ยากกว่าปกติถึง 20 นาที ขณะเดียวกันที่ช่วยให้ปะการังเจริญพันธุ์และเติบโต หากแมงป่องถูกรังสี UV ที่สะท้อนจากดวงจันทร์โปรตีนในตัวแมงป่องจะเรืองแสงเป็นสีฟ้าน่าดูชม แสงจันทร์เต็มดวงส่งผลต่อพฤติกรรมการล่าและหาอาหารของสัตว์ป่าเป็นต้น
รังสีอัลตราไวโอเล็ตที่สะท้อนจากดวงจันทร์ทำให้โปรแกรมบริเวณแมงป่องเรืองแสง(Image credit: LMP Photo | Shutterstock)
แสงจันทร์กระตุ้นให้ปะการังผสมพันธุ์ :Credit : https://www.hakaimagazine.com/features/lunar-sea/
ไม่เพียงแต่ปะการัง แสงจันทร์ยังส่งผลต่อแมงดาทะเล ณ อ่าวเดลาแวร์ รัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา Photo by Ingo Arndt/Minden Pictures : Credit : https://www.hakaimagazine.com/features/lunar-sea/
แสงจันทร์ทำให้แบคทีเรียในเนื้อเยื่อหมึกเรืองแสงด้วยเช่นกันPhoto by Jurgen Freund/Minden Pictures Credit :https://www.hakaimagazine.com/features/lunar-sea/
จะสังเกตได้ว่าการศึกษา ค้นคว้าและพิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์นำเราไปสู่นวัตกรรมและการพัฒนาที่ก้าวหน้า การศึกษาดวงจันทร์อย่างละเอียดทุกแง่มุมนำไปสู่กระบวนการศึกษาดาวเคราะห์อื่นๆ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะนำมนุษย์ไปตั้งรกราก อาณานิคมใหม่ในดาวเคราะห์ดวงอื่นๆทั้งในและนอกระบบสุริยะของเรา
ภาพดวงจันทร์กับแลนด์สเคป มีทั้งเรื่องราววิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์และสังคมมาในคราวเดียวกัน ภาพถ่ายเป็นภาพสะท้อนสิ่งแวดล้อม กระตุ้นจิตสำนึกให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ภาพโดย วิรติ กีรติกานต์ชัย
ส่วนตัวแล้วผมหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นของตนในบทความทางวิทยาศาสตร์และการศึกษา เพื่อแสดงข้อมูลและข้อเท็จให้ผู้สนใจได้อ่านตามจริงครับ
กดไลค์หรือแชร์หรือติดตามได้ตามอัธยาศัยครับ มีโอกาสจะเรียบเรียงมาฝากเป็นความรู้ เป็นไอเดียในการเรียนรู้พัฒนาตนเองและประเทศต่อไปนะครับ
โฆษณา