21 ก.ย. 2019 เวลา 08:20 • ไลฟ์สไตล์
24 กันยายน ของทุกปีเป็นวันมหิดล
ใกล้จะถึงวันมหิดลแล้ว ก็อยากเขียนถึงเรื่องราวของต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยค่ะ นั่นคือ "กันภัยมหิดล" นั่นเอง 😊
แปลกไหมล่ะคะ? ปกติแล้วต้นไม้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมักจะเป็นไม้ยืนต้น แต่ไม่ใช่ที่มหิดลค่ะ เพราะกันภัยมหิดลเป็นไม้เลื้อยตระกูลถั่วนะคะ 😄
ผู้เขียนเคยคิดว่าต้นศรีตรังคือต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล แต่...คิดผิดค่ะ
จริงๆแล้วมหาวิทยาลัยมหิดลไม่มีต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยมาก่อนหน้าเลยค่ะ
จนกระทั่งในปี 2542 มีการเสนอชื่อต้นไม้ 3 ชนิดที่ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกคือ ต้นกันภัยมหิดล ต้นพญายา และต้นพญาสัตบรรณ (แอบคิดว่าดีนะที่ต้นกันภัยมหิดลได้รับคัดเลือก ถ้าเป็นต้นพญาสัตบรรณล่ะก็ ดมกลิ่นวนไปให้เวียนหัวกันเลยค่ะ 😅)
กลับมาต่อกันที่ต้นกันภัยมหิดลค่ะ... 😊
กันภัยมหิดลเป็นไม้หายาก มีเฉพาะในประเทศไทย มีมากในภูเขาหินปูนแถบจ.กาญจนบุรี แต่เดิมไม่มีใครรู้จักต้นนี้มาก่อน จนกระทั่งในปี 2510 (เมื่อ 52 ปีที่แล้วเองนะคะ) และหากย้อนไปที่เวลานั้น...
วันนั้นตรงกับวันที่ 14 กันยายน 2510 ข้าราชการกองพืชพรรณ กรมวิชาการเกษตร (นายเกษม จันทรประสงค์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไม้ประดับแห่งประเทศไทย) ได้เล่าว่าท่านนั่งรถไฟไปลงที่สถานีวังโพ ได้หยุดพักรับประทานอาหารกลางวันใต้ต้นไม้หลังภูเขาด้านหลังสถานี ท่านสังเกตเห็นดอกไม้คล้ายกับดอกถั่วแปบช้างหล่นอยู่ตามพื้น หากแต่กลีบดอกเป็นสีม่วงจึงเก็บลงมาเพื่อทำตัวอย่างแห้ง
ด้วยความสงสัยว่าต้นนี้เป็นต้นอะไรกันแน่ อีก 2 เดือนถัดมาจึงได้ชักชวนผศ.ดร. จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) เดินทางกลับไปที่เดิมเพื่อเก็บฝักแก่ และขุดต้นกลับมาปลูกที่กรมวิชาการเกษตร สำหรับระบุชนิดของต้นไม้ต่อไป
อีกร่วม 1 ปีถัดมา ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2511 ต้นไม้ที่นำมาปลูกก็ติดดอก ท่านจึงได้เก็บตัวอย่างต้นแบบ พร้อมทั้งทำคำบรรยายเป็นภาษาละตินและวาดภาพส่งไปให้ Mr. B. L. Burtt พิสูจน์ชื่อที่ สหราชอาณาจักร (UK)
นอกจากนี้ได้ขอพระราชทานชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับพระชนนีศรีสังวาลย์ (พระยศในขณะนั้น) โดยเสนอคำว่า ศรีสังวาลย์ หรือมหิดล
แต่ Mr. Burtt ได้แนะนำว่าให้ใช้มหิดล ซึ่งเขียน เป็นภาษาละตินว่า mahidolae
ผลการศึกษาเปรียบเทียบกับต้นถั่วแปบช้าง (Afgekia sericea Craib) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดหลายประการ เช่น สีของกลีบดอก จำนวนของใบประกอบ และลักษณะของขอบใบ ผศ.จิรายุพิน จึงแน่ใจว่าพืชต้นนี้เป็นพืชต่างชนิดแน่นอน
และเชื่อว่าพืชชนิดนี้จะเป็นพืชชนิดที่สองในสกุลนี้ แต่ในปัจจุบันได้ค้นพบไม้สกุลนี้เพิ่มอีกคือ
Afgekia filipes (Dunn) R.Geesink ซึ่งมีดอกสีเหลือง กระจายพันธุ์ทางตอนใต้ของจีนและทางเหนือของไทย
ผลงานการค้นพบและตั้งชื่อพืชชนิดนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของสวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอเรอ ชื่อ Notes from the Botanic Garden Edinburgh Vol.31 No.1 ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2514
โดยชื่อเป็นทางการตามกฏเกณฑ์ทางพฤกษศาสตร์ที่ได้รับคือ Afgekia mahidolae B. L. Burtt & Chermsir. วงศ์ FABACEAE (หรือ LEGUMINOSAE) วงศ์ย่อย Papilionoideae และเป็นต้นไม้พื้นถิ่นของไทย แต่ยังไม่มีชื่อไทย
ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์กรมป่าไม้ จึงได้เสนอว่าควรเรียกพืชต้นนี้ว่า กันภัย หรือกันภัยมหิดล โดยท่านได้ลงความเห็นว่าในเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่ย่าง กุมารทองนั้น ได้ใช้เถากันภัยมัดกุมารทองไว้ ตามท้องเรื่องที่เกิดในแถบจ.กาญจนบุรีและสุพรรณบุรี จึงมีความเป็นไปได้ว่าเถากันภัยที่ว่านั้น คือเถาของต้นกันภัยมหิดลที่เพิ่งค้นพบนี่เอง
ประโยชน์ทางด้านเภสัชวิทยายังไม่ทราบแน่ชัด แต่ดอกสวยจึงนิยมปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อยเพื่อให้ร่มเงาและประดับตกแต่งค่ะ
สวยแค่ไหนถามใจคุณดูนะคะ 😊😊😊
กันภัยมหิดล กลีบดอกสีม่วง ปลายใบมน
ถั่วแปบช้าง กลีบดอกสีชมพูอมม่วง ปลายใบแหลม เครดิตภาพวิกิพีเดีย
💚 และเนื่องในวันมหิดลที่จะถึงนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมบริจาคเงินกับศิริราชมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสด้วยนะคะ ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านล่วงหน้าด้วยค่ะ 💚
เครดิตภาพTwitter: Twipu
ช่องทางการบริจาคให้กับศิริราชมูลนิธิโดยตรงแนบให้ตามลิงค์นี้นะคะ 😊
โฆษณา